หากเอ่ยถึงกลุ่มธุรกิจพลังงานชั้นนำของเอเชีย บ้านปู (BANPU) ผู้บุกเบิกด้านพลังงานชั้นแนวหน้าของเอเชีย ดำเนินธุรกิจถ่านหิน ธุรกิจไฟฟ้า และพลังงานที่เกี่ยวเนื่องอย่างครบวงจร ทั้งในและต่างประเทศมากว่า 36 ปี
ทีมงาน thumbsup ได้รับเกียรติสัมภาษณ์ คุณเวโรจน์ ลิ้มจรูญ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร – ทรัพยากรมนุษย์ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) คุณเกษรา ตั้งวิโรจน์ธรรม ผู้จัดการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และคุณชัชวัสส์ วุฒิศิริศาสตร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ บริษัท บ้านปู อินฟิเนอร์จี จำกัด ที่ได้ข้อคิดน่าสนใจและตอกย้ำความเป็น BANPU Heart ได้อย่างน่าสนใจเลยทีเดียว
เส้นทางที่ยาวนานของธุรกิจ
ด้วยอายุการก่อตั้งธุรกิจของบ้านปูที่ยาวนานถึง 36 ปี แม้จะไม่ได้ยาวนานเทียบเท่ากับธุรกิจด้านพลังงานรายอื่นๆ แต่จุดเร่ิมต้นของธุรกิจก็มาจากความต้องการที่จะเป็นประชาชนในประเทศไทยมีพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีระดับโลก มาหมุนเวียนใช้งานกันภายในประเทศ
คุณเวโรจน์ : จุดเริ่มต้นของธุรกิจมาจากจังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นภาคเหนือของประเทศไทยที่ “บ้านปู” เจอโอกาส โดยเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2526 บริษัท เหมืองบ้านปู จำกัด ได้รับการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ด้วยทุนจดทะเบียน 25 ล้านบาท โดยบุคคลในตระกูลว่องกุศลกิจและเอื้ออภิญญกุล มีวัตถุประสงค์เพื่อเข้าทำสัญญาเช่าช่วงการทำเหมือง ถ่านหินที่เหมืองบ้านปู (BP-1) อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
จากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2532 บริษัทฯ ได้รับอนุมัติให้เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเมื่อ วันที่ 29 กรกฎาคม 2536 ได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)” (ที่มา : BANPU)
จากนั้น บ้านปูได้มีการลงทุนในเหมืองแร่ และขุดหน้าดินให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือกฟผ. ที่จังหวัดลำปาง และมองทิศทางของโอกาสข้างหน้าว่า หากประกอบธุรกิจนี้อยู่แต่ในประเทศไทย โอกาสที่จะขยับขยายได้คงยาก จึงมองหาโอกาสขยายไปในต่างประเทศ จึงเริ่มลงทุนในต่างประเทศ
ปี 1997 บ้านปูจึงเริ่มต้นลงทุนในหลายโครงการที่ต่างประเทศ แต่ไม่ได้ลงมือทำเองทั้งหมด แต่จะเป็นรูปแบบของการลงทุนในประเทศอินโดนีเซีย จากนั้นจึงมีการขยายการลงทุนมากขึ้น ทั้งการเตรียมเรื่องของพนักงาน และลงทุนไฟฟ้าในจีน
ขณะนี้ขยายไปแล้วกว่า 10 ประเทศ คือ ไทย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศมองโกเลีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา พนักงานรวมกว่า 6,000 คน แบ่งเป็น คนไทย 480 คน ที่เหลือคือประจำอยู่ในต่างประเทศ
BANPU Heart หัวใจสำคัญของการดูแลพนักงาน
ด้วยความที่บ้านปูมีพนักงานหลายเชื้อชาติและต่างวัฒนธรรม ทำให้บริษัทให้ความสำคัญเรื่องของวัฒนธรรมองค์กร ที่เรียกว่า BANPU Heart เพื่อให้ทุกคนในองค์กรทั้งไทยและต่างชาติ ได้รู้สึกว่าเราเป็นครอบครัวเดียวกัน รวมทั้งละลายความต่างของเชื้อชาติผ่าน 3 หลักการคือ Passionest, Be Innovative และ Be Committed เพื่อเป็นแกนของการสื่อสารและบอกให้ทุกคนรู้ว่าพวกเราคือครอบครัวเดียวกัน
คุณเวโรจน์ : บริษัทมีการปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์เมื่อ 2 ปีก่อน และอยากเป็นผู้นำด้านพลังงานแบบครบวงจร ทั้งด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมและธุรกิจแบบยั่งยืน ทำให้ทีมบริหารกลับมามองเรื่องวิสัยทัศน์เป็นสำคัญ เพราะแบรนด์ของเราคือการส่งสัญญาณออกไปด้านนอก ปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้มีความทันสมัย คล่องตัว กระฉับกระเฉง จากภาพเดิมของบริษัทที่มีความเหลี่ยม ตอนนี้เราได้ปรับให้มีความโค้งมน เพื่อความเป็นหนึ่งเดียว
นอกจากนี้ บ้านปูพยายามที่จะสื่อสารออกไปด้านนอก ให้มองภาพแบรนด์ของบ้านปู ที่มีความมุ่งมั่นเรื่องนวัตกรรม เทคโนโลยีที่ทันสมัยและยั่งยืน จึงมีการทบทวนเรื่องพฤติกรรมที่จะสะท้อนแบรนด์องค์กรให้ไปถึงวิสัยทัศน์และช่วยกันระดมความคิดจึงออกมาเป็น 3 หลักการ คือ innovation, passion และ commitment และยังมีแตกย่อยออกไป 10 พฤติกรรม เช่น ก้าวล้ำนำหน้า, คิดเร็วทำเร็ว, ปราดเปรียวและเปลี่ยนแปลง เป็นต้น
ทางทีมผู้บริหารจึงสื่อสารเรื่องเหล่านี้ให้พนักงานผ่านการเวิร์คช้อป และกิจกรรมต่างๆ เราเริ่มตั้งแต่รับสมัครคน โดยเริ่มตั้งแต่แบบทดสอบ ดูที่ความพร้อมก่อนตั้งแต่ต้นทาง จากนั้นประเมินผลงาน จาก 100 คะแนนให้งาน 70 คะแนน พฤติกรรม 30 คะแนนในระหว่างทางเราจะมีเรื่องเล่าจากผู้บริหารเรื่องต่างๆ เพื่อแชร์ประสบการณ์กันจะเริ่มเข้าใจร่วมกันและเห็นว่าเป็นจุดที่พนักงานต้องการปฏิบัติและมีกิจกรรมต่างๆการสื่อสารระหว่างปีและเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญปลายปีมีเซอร์เวย์เรื่องสุขภาพของวัฒนธรรมองค์กร
รอโลกเปลี่ยนไม่ได้ ต้องขยับตัวก่อน
ทางด้านของ คุณเกษรา ตั้งวิโรจน์ธรรม และคุณชัชวัสส์ วุฒิศิริศาสตร์ ได้เล่าถึงความรู้สึกของแนวคิดที่ชื่อ BANPU Heart ให้ฟังว่า วัฒนธรรมองค์กรที่วางแผนได้เหมาะสมกับคนทำงานจะช่วยสะท้อนถึงธุรกิจว่ามีความมั่นคงและสร้างความมั่นใจให้แก่พนักงานได้อย่างไร
คุณเกษรา : จากการทำงานที่นี่มากว่า 12 ปี เกษรู้สึกว่าวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทเป็นส่วนสำคัญในการสะท้อนภาพลักษณ์ของธุรกิจที่เราเดินไป ซึ่งที่ผ่านมาค่อนข้าง Dynamic มาก เรื่องของการ Innovate ไม่ใช่เฉพาะ Product อย่างเดียว แต่กลายเป็นหนึ่งในแผนระยะยาวของธุรกิจเลยก็ว่าได้
จากเดิมที่เราจำกัดอยู่ในธุรกิจถ่านหิน หากทำเพียงอย่างเดียวก็จะจำกัดการเติบโตและโอกาสใหม่ๆ ยิ่งโลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การมองหาโอกาสและขยายธุรกิจไปในกลุ่มต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็น เพราะการมองหาสิ่งใหม่ๆ ให้กับธุรกิจย่อมเป็นโอกาสใหม่ในระยะยาว ยิ่งเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็ว เรายิ่งต้องเปลี่ยนให้เร็วกว่า
ก่อนหน้านี้ มีการสำรวจความคิดเห็นของพนักงานว่า บ้านปูมีวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแรงและตรงกับสิ่งที่คาดหวังของพนักงานหรือไม่ เช่น Innovation, Passion และ Technology ยิ่งบริษัทเราเป็นบริษัทที่เน้นในเรื่องเหล่านี้ จึงต้องนำสิ่งเหล่านี้มาร้อยเรียงให้เข้ากับเรื่องแบรนด์ เราจึงต้องการที่จะหาคนรุ่นใหม่มาเสริมทีมเพิ่มอีก 50 คน เพื่อมาเติมเต็มอีก 3 กลุ่มธุรกิจคือ GAS, ถ่านหินและพลังงาน รวมทั้งมองหาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเสริมด้านเทคโนโลยีสำหรับพลังงาน
คุณชัชวัสส์ : สมัยก่อนธุรกิจพลังงานดูจะเป็นแง่มุมที่ห่างกับผู้คน ตอนนี้เราก็พยายามที่จะรับนักออกแบบรุ่นใหม่มาช่วยดูแล UX/UI ให้สวยงาม และคนเข้าใจง่ายขึ้น ซึ่งลักษณะการทำงานจะมี 2 กลุ่มคือ Operation และ Support ทุกหน่วยงาน เพื่อรองรับเรื่อง Digital Tranformation เป็นสิ่งที่เราเน้น เพราะอยากจะเป็นผู้นำในด้านนี้ เราจึงเริ่มทำการ transform วิธีการทำงานแบบดิจิทัลและรับพนักงานในสายงานที่หลากหลายมากขึ้น
รองรับความต้องการสำหรับคนรุ่นใหม่
“เพราะคนรุ่นใหม่อยากได้ความเปลี่ยนแปลง ความท้าทาย และอยากทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข เทรนด์การทำงานแบบ Work@Home หรือสภาพแวดล้อมตามที่คนกลุ่มนี้ต้องการเป็นอีกสิ่งที่บ้านปูพยายามจะทำ รวมทั้งการตกแต่งออฟฟิศและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย ช่วยให้คนรุ่นใหม่รู้สึกอยากผูกพันกับองค์กรไปนานๆ”
ถือว่าเป็นแนวคิดที่เอาใจคนที่อยากทำงานในองค์กรที่มั่นคง แต่ไลฟ์สไตล์ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก
คุณชัชวัสส์ : ด้วยความที่ผมจบด้านวิศวกรรมพลังงานมา และทำงานในด้านนี้มาตลอด ในขณะเดียวกัน ก็เป็นคนชอบทำโปรเจคหลากหลาย เพราะมีความท้าทายและน่าสนใจ ที่นี่ก็มีการขายโปรเจคใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ เพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานที่สนใจอยากหาประสบการณ์ได้ทำงานที่ท้าทายตามความสนใจ
ทั้งนี้ ยังมีเรื่องของความเป็นพี่เป็นน้อง ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูง หัวหน้าหรือหัวหน้าแผนก ก็ไม่ได้มีความเกี่ยงเรื่องชนชั้น และเปิดกว้างเรื่องความคิดเห็นมาก เรียกได้ว่าเป็นการเติมเต็มเรื่องความมีคุณค่าของคน ซึ่งโปรเจคต่างๆ มีความสนุกและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ตรงกับผู้บริหารระดับสูงเลย เป็นโอกาสในการแสดงออก ยิ่งคน Gen Y ชอบงานที่ท้าทาย และชอบคนที่รับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ทำงานร่วมกับพนักงานในอีกหลายประเทศ และหากเราอยากไปทำงานในหลายประเทศก็มอบโอกาสให้เราหมุนไปทำงานในอีกหลายประเทศ ช่วงแรกที่ไปทำงานต่างประเทศก็กังวลเช่นกันว่าจะทำงานร่วมกันคนที่มีภาษาและวัฒนธรรมต่างกันได้หรือไม่ แต่ด้วยแนวคิด BANPU Heart ทำให้มีสิ่งเชื่อมโยงวัฒนธรรมของเราให้ใกล้กันมากขึ้น เราได้เจอเพื่อนหลายประเทศ ทำให้อัตตาลดลงและจิตใจสูงขึ้นถือว่าเป็นการกล่อมเกลางานก็สนุก
คุณเกษรา : การทำงานทุกวันผ่านไปเร็วนะคะ อย่างเกษเองเริ่มต้นจากการทำเรื่องดาต้าเบส กฏหมาย การลงทุน แต่พอทำไปจะมีโครงการใหม่ๆ และมีมุมมองที่ต้องไปทำงานในหลายฟังก์ชั่น และให้เราทำงานกับหลายๆ หน่วยงาน มีวัฒนธรรมการโค้ชชิ่ง มีการทรานฟอร์มเปลี่ยนไปเรื่อยๆ และหลักในการพัฒนาคน และมีคอร์สเรียนให้ตรงไหน ต้องเติมเต็มส่วนไหน จนทุกวันนี้สามารถเทรนกันเองได้ เพื่อให้เห็นว่าน้องมีศักยภาพอย่างไรและไม่รู้สึกอึดอัด ไม่เหมือนผู้ใหญ่ตรวจสอบงาน เพราะที่นี่มีสิ่งใหม่ๆ มากมาย
จุดหนึ่งที่เราทำ Survey ภายในองค์กร พบว่า สิ่งที่พวกเขาต้องการคือการได้รับโอกาสในการไปทำงานต่างประเทศ รับผิดชอบงานที่มีความท้าทาย และรู้สึกมีคุณค่าในการทำงาน จึงตัดสินใจในการเข้ามาสมัครงานที่นี่ เมื่อรับเข้ามาแล้วเราก็อยากที่จะรักษาให้เค้าอยู่กับเรานานๆ
เรามีโครงการที่เอื้อให้เขาสะดวกสบาย เรียกว่า Flexible workplace โดยดูแลส่วนของเวลาเข้าออก (ยืดหยุ่นได้ทุกวัน) เราทำแค่ฟิงเกอร์สแกนมาช่วยเรื่องความปลอดภัยในการเข้า-ออกออฟฟิศ ส่วนเวลาปกติจะทำงานที่ไหนก็ได้ หรือ Work@home ก็ได้ เพราะเราไม่ได้ประเมินพนักงานด้วยเวลาเข้าออก แต่เราดูที่ผลงานและวางใจกัน เพราะไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน จะมีความจำเป็นที่ต่างกัน ซึ่งสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของแต่ละคนเลือกก็ต่างกัน
รายละเอียด Flexible Benefit : เป็นนโยบายที่ต้องใช้ให้คุ้มค่า และมีการแลกเปลี่ยนกันในชั้นนั้นๆ ว่าจะซื้ออะไร บริษัทมีลิสต์ให้เลือก 35 รายการ พนักงานหรือทีมสามารถเลือกได้ว่ามีความต้องการใช้งานด้านใด หรือแต่ละแผนกมีความต้องการสวัสดิการอะไร อยากจะนำงบไปใช้ในด้านใดอย่างเพิ่มโซนกาแฟ อาหารเครื่องดื่ม ของใช้ที่เหมาะกับการใช้งานร่วมกันทั้งองค์กร คนแนะนำจะได้รางวัลด้วย หรือเลือกสวัสดิการที่เหมาะกับแต่ละบุคคล เช่น ประกันสุขภาพสำหรับคนในครอบครัว คอร์สออกกำลังกาย ทริปพักผ่อนต่างประเทศ เป็นต้น
รายละเอียด Flexible Workplace : ยืดหยุ่นเรื่องสถานที่การทำงาน เช่น ทำงานนอกสถานที่ มีโซนเฉพาะให้นั่งคลายเครียดหรือโซนที่นั่งสำหรับบุคคลที่ต้องการความเป็นส่วนตัว
คุณเวโรจน์ : การที่เรามีแนวคิดแบบนี้ เป็นเรื่องที่บ่งบอกว่าเราเชื่อในศักยภาพของพนักงาน ไม่ว่าไปทำงานที่ไหนก็ได้ผลงานที่ดี และมั่นใจว่าเป็นองค์กรไทยแรกๆที่ทำเรื่องนี้แต่ส่วนใหญ่ชอบมาทำงานที่ออฟฟิศเหมือนบาลานซ์เรื่องของตัวเองมันต้องมีคนขี้เกียจทำงานบ้างแต่สุดท้ายผลงานก็เป็นผลสรุปทุกอย่างเพราะบางคนในช่วงเวลานั้นมันต้องมีเว้นว่างบ้างบางคนก็ต้องมีชีวิตในการทำงาน
เราพยายามเป็นต้นแบบให้ทำได้ 3 วันต่อเดือน เปลี่ยนเป็น virtual office เพราะเราต้องการเป็นผู้นำและทำให้พนักงานได้เห็น รวมทั้งบริษัทมีความมุ่งมั่นเรื่องเมกกะเทรนด์ คือ Green Energy, พลังงานเข้าถึงคนได้ด้วยราคาถูก เช่น ทำไมใช้ไฟจากพลังงานธรรมชาติไม่ได้ หากช่วยลดการใช้พลังงานและผลิตไฟขึ้นมาเองและขายคืนให้ EGAT เป็นการช่วยให้ประชาชนเข้าถึงพลังงานได้แบบประหยัด, Digital Connectivity เอาเทคโนโลยีและดิจิทัลเข้ามาเสริมการทำร่วมกันสามเรื่องนี้จะเห็นว่าองค์กรไปข้างหน้า
ทักษะที่พนักงานรุ่นใหม่พึงมี
แน่นอนว่า การเข้าทำงานในองค์กรขนาดใหญ่หรือบริษัทที่มีความโดดเด่น ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากจะเรียนจบจากมหาวิทยาลัยแล้ว คุณจะต้องมีศักยภาพ ตั้งใจและรักที่จะทำงานกับคนที่มีความหลากหลายในองค์กรนั้นๆ ด้วย ซึ่ง คุณเวโรจน์ แนะนำได้อย่างน่าสนใจเลยทีเดียวค่ะ
นอกจากเรื่องของการเรียนแล้ว สิ่งที่นักศึกษาจบใหม่ควรมีเพื่อให้ทำงานร่วมกันภายในองค์กรอย่างราบรื่น มีดังนี้
- Agility : เป็นความคล่องตัวและยืดหยุ่นในการทำงาน เพราะเราต้องทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานใน 10 ประเทศ และเพื่อสะท้อนวิถีการทำงานแบบ flash Organization ไม่ต้องมีระดับบริหารเยอะ มีเพียง 4 ระดับเท่านั้น ที่จำนวนผู้บริหารระดับสูงไม่เยอะก็เพื่อช่วยให้ทุกคนสามารถกระจายอำนาจได้เต็มที่ มีหลายโครงการที่ต้องทำงานข้ามสายกับที่เรียนมาและต้องทำงานข้ามประเทศได้ ความยืดหยุ่นและปรับตัวได้ไวจะช่วยในเรื่องการสื่อสารได้ง่ายขึ้น
- ความเข้าใจคนอื่น หรือ People Management Skill ถ้าร่วมงานกับคนอื่นไม่ได้ก็เสียโอกาส เพราะต่อไปคน Gen Y กับ Gen Z จะอยู่กับเทคโนโลยีมากกว่า ดังนั้น เราจึงแก้ปัญหาด้วยการจัดอบรมพนักงาน โดยแบ่งสิ่งที่เขาเก่งมากๆ และเกี่ยวข้องกับคนมาร่วมกันพัฒนาแนวคิด เพื่อเป็นหลักสูตรพื้นฐาน ส่วนคนที่ทำงานกับทีมไม่ได้เลย เราก็เน้นเรื่อง Soft side ให้เยอะขึ้น และสร้างมูลค่าด้านธุรกิจ
- Critical Thinking เพราะเราอยู่ในภาวะที่ไม่มีความแน่นอน จึงต้องทำให้เขาต้องเป็นคนที่เห็นภาพรวมที่สำคัญและใช้ในการตัดสินใจ ระบบวิธีคิดและประมวลการตัดสินใจ เพื่อวางแผนได้อย่างเป็นระบบและขั้นตอน
- Language แม้ว่าเราเปิดกว้างเรื่องภาษาให้หลากหลาย และมีหลักสูตรฝึกฝนภาษาที่สาม แต่สำหรับขั้นตอนการรับคนที่ทำงานที่นี่ต้องผ่าน Toeic ตามระดับความรับผิดชอบ เพราะด้วยเนื้องานต้องใช้เกณฑ์การสอบมาคัดเลือกในขั้นเริ่มต้น อีกทั้งการทำงานที่นี่ เราไม่สามารถรู้เลยว่า ต้องไปประจำอยู่ในประเทศใด ทำงานร่วมกับใคร ก็จะต้องมีสอนภาษาท้องถิ่นโดยเฉพาะ จะดูเรื่องทักษะที่ประเทศนั้นๆ ต้องการ
คุณเวโรจน์ : การทำอย่างนี้ ก็เพื่อให้พนักงานได้หมุนเวียนและมีโอกาสเปลี่ยนไปได้ทุกเรื่อง โลกที่หมุนอย่างรวดเร็วทำให้ต้องพัฒนาคนใหม่เรื่อยๆเพื่อให้เติบโต เพราะเรายังไม่รู้ว่าจะขยายไปอีกแค่ไหน ก็ต้องการคนรุ่นใหม่มาเพิ่มเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่ข้ามสายงานในประเทศ หากต้องการไปต่างประเทศก็สามารถทำได้เช่นกัน อย่างที่ไทยก็เคยมีคนจากมองโกลเลีย มาช่วยทำด้านดิจิทัล หรือคนออสเตรเลียมาช่วยงานในบางแผนก เพราะเรายึดมั่นเรื่องของพัฒนาคนเพราะการให้โอกาสก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
นอกจากนี้ หากหน่วยงานไหนต้องการพนักงานแบบไหน เราจะเปิดโอกาสให้พนักงานภายในสมัครก่อนและดูว่าอยากทำงานในตำแหน่งอะไร จากนั้นค่อยหาคนใหม่ๆ มาเสริมด้วย เพื่อให้การทำงานในทีมไม่สะดุด และเรามีเงื่อนไขชัดเจนกับหัวหน้าทีมว่า หากพนักงานในทีมของคุณต้องการย้ายสายงาน จะต้องส่งเสริมเขา ไม่ปิดกั้นโอกาส รวมทั้งหัวหน้าต้องปั้นคนใหม่ให้สามารถทำงานได้ด้วย
ทั้งนี้ เป้าหมายที่เราพัฒนาตามยุคใหม่ เพราะต้องการเติบโตอย่างยั่งยืน เน้นเรื่องนวัตกรรมและสร้างคนผ่านวัฒนธรรมองค์กรและทำงานอย่างมีความสุข เป็นเป้าที่เราอยากจะเดินไป สำหรับอายุงานของคนที่อยู่ที่นี่มากสุดคือ 30 ปี เรียกได้ว่าเป็นทีมงานรุ่นแรกๆ ที่เข้ามาทำงาน กลุ่ม Boomer 12% กลุ่ม Gen X 48% Gen Y 40% โดยตอนนี้กลุ่ม Gen Y เพิ่มขึ้นมาเยอะ ปีที่แล้วเราได้คนกลุ่มนี้มา 70 คนช่วยสร้างทีมให้แข็งแกร่ง ซึ่งเขาสนุก รู้สึกมีคุณค่า ตั้งแต่วิสัยทัศน์ไปจนถึงวัฒนธรรมขององค์กร
คุณเกษรา เล่าเสริมว่า เครื่องมือใหม่ที่เรามีซึ่งที่อื่นยังไม่มี ชื่อว่า HR Global App เป็นฐานข้อมูลของพนักงานทั้งหมดทุกประเทศ เพราะก่อนหน้านี้ เรามี Pain Point เรื่องข้อมูลและดึงความสามารถของคนในองค์กรมาช่วยเรื่องการทำงานได้ไม่เต็มที่ เช่น บางคนอาจจะมีความสามารถหรือความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย แต่อยู่กันคนละประเทศ การมีแอปนี้ ทำให้เราทราบว่าพนักงานของเรา มีความสามารถพิเศษด้านไหน เราจะไปดึงให้เขามาช่วยโครงการไหนของเราได้บ้าง เมื่องานสำเร็จก็จะเป็นหนึ่งในโพรไฟล์ของเขาว่าเคยมีส่วนร่วมอะไรในองค์กร เป็นการเก็บ KPI ได้อีกรูปแบบหนึ่ง แม้จะเป็น Project เล็กๆ แต่เป็นการวัดความมีส่วนร่วมของวัฒนธรรมองค์กรร่วมกัน และทำให้เขารู้สึกมีคุณค่า
BANPU Heart หัวใจหลักที่เลียนแบบกันไม่ได้
สิ่งที่เราคิดว่า BANPU Heart เป็นสิ่งสำคัญที่ลอกเลียนแบบกันไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่ต้องสั่งสมกันมานาน ไม่ได้ทำสำเร็จได้ในเวลาสั้นๆ แต่ต้องมีความร่วมมือร่วมใจกันมาเป็นระยะเวลานาน เพราะสิ่งที่เราสร้างคือหัวหน้างานต้องทำให้พนักงานผูกพันกับทีม ซึ่งการที่หัวหน้างานจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับทีมงาน ฝ่ายบริหารของเราก็ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับหัวหน้างานก่อน
ดังนั้น ทุกครึ่งปีจะมีการถามคนในบริษัทว่ากำลังมีปัญหาอะไรที่อยากปรับเปลี่ยน หรืออึดอัดใจส่วนไหน อยากย้ายไปทำงานส่วนไหนก็ให้มาคุยกัน เพราะบางทีหากเขาอยู่ไม่ถูกที่ถูกทาง ก็อาจจะไม่มีความสุขในการทำงาน เราจึงมีหลักสูตรที่ชื่อ Engaging leader เพื่อดูแลและแก้ปัญหา ก่อนอื่นใดก้ต้องหาปัญหาให้เจอ เพราะเรามีว่า “คน” เป็นกำลังสำคัญที่สุด
หรือเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการแต่งตัว ที่นี่ไม่ได้ซีเรียสว่าจะต้องใส่สูทหรือแต่งตัวเรียบร้อยมาทำงาน ขอแค่แต่งตัวเหมาะสมก็ทำงานได้แล้ว เพราะเรื่องเล็กๆ แบบนี้สามารถสร้างความไว้วางใจและรู้สึกเป็นพี่เป็นน้องได้ง่าย บางครั้งบริษัทก็ต้องใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ ที่อาจสะสมเป็นเรื่องใหญ่ได้
เพราะมีน้องที่เคยฝึกงานที่นี่หลายคน รู้สึกชอบในวัฒนธรรมองค์กรของเราและกลับมาสมัครงานที่นี่อีก เพราะเขาชอบและคุ้นเคยกับสิ่งที่ทำ จึงเป็นสิ่งที่ทำให้เรามั่นใจว่า BANPU Heart จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันองค์กรให้เป็นบริษัทในฝันของคนรุ่นใหม่ในอนาคตได้
หลายบริษัทในประเทศไทย พยายามที่จะปรับตัวและภาพลักษณ์เพื่อให้คนในรุ่นใหม่สนใจ และอยากเข้ามาทำงานร่วมกันมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะกลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้ อยากที่จะเป็นนายตัวเอง และไม่ต้องการที่จะทำงานภายใต้คำสั่งของใครแบบในสมัยก่อน ดังนั้น หากฝ่าย HR ขององค์กรใหญ่ที่เป็นด่านแรกขององค์กร เข้าถึงหัวใจของพนักงานก็น่าจะสร้างองค์กรที่แข็งแรงได้ไม่ยาก