จากความไวรัลของคลิป แชร์…เพื่อช่วยชีวิต #ShareToSaveALife ที่ได้นำเสนอบน thumbsup ไป ครั้งนี้เราขอนำเสนอเบื้องหลังของคลิป โดยได้รับคำตอบจากแพทย์ผู้อยู่เบื้องหลังการคิดการโปรโมทแอปพลิเคชัน STROKE KKU นี้ นั่นคือ รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า นายกสมาคมประสาทวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
สิ่งที่ทางผมได้ถามคุณหมอไปก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวคลิปโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรถึงได้ใช้แนวคิดนี้ในการทำ รวมถึงภาพรวมในการเลือกคุณฟักกลิ้งฮีโร่ มาเป็นคนเล่าเรื่อง
“เหตุที่ทำแบบนี้ เพราะเรามีงบประมาณจำกัดในการประชาสัมพันธ์ ทั้งเนื้อหาและตัวแอปพลิเคชันจึงผนวกรวมกันเล่าอยู่ในเรื่องเดียว โดยปัญหาหลักตอนนี้คือคนไทยไม่รู้เรื่องโรค STROKE และชอบใช้สมาร์ทโฟนในการเล่นเกม แชร์เรื่องที่ไม่ค่อยมีสาระ ยิ่งคลิป viral หรือมีคนชมมากเท่าไหร่ยิ่งแชร์ออกไปมากเท่านั้น และเราได้จัดทำแอปพลิเคชันเพื่อที่จะให้คนเข้าถึงได้ง่ายในด้านความรู้และการติดต่อโรงพยาบาล เป็นสาเหตุให้เราวางหลักการในการทำงานแบบนี้ครับ”
“ส่วนการเลือกคนทำ ความถนัดก็ต้องยกให้ทีมที่เขาเชี่ยวชาญ โดยเราจัดจ้างบริษัทมืออาชีพทำคลิปเลยครับ”
“สำหรับการเลือก Presenter เรามีหลักคือ คนที่พูดต้องมีการพูดที่ต้องเร้าใจ เนื่องจากเวลาเราสั้น การถ่ายทำต้องเร็ว จึงต้องเน้นการพูด อารมณ์ในการสื่อสารออกมาทำให้เข้าใจได้ง่ายที่สุด และกระตุ้นให้คนจดจำ”
และส่วนสุดท้ายที่ผมถามไปคือ ทำไมถึงเลือกแนวการประชาสัมพันธ์แอปแนวนี้ แบบไม่ให้เห็นหน้าจอว่าเป็นอย่างไรในคลิป
“ถ้าเราประชาสัมพันธ์แอปพลิเคชันแบบตรงๆ ก็ไม่น่าสนใจ ดูเป็นการเป็นงานมากไป ดังนั้นจึงอธิบายแค่โรค เน้นการแชร์ และจบแบบนี้ (จบแบบขึ้นว่าแอปชื่ออะไร) ให้คนแชร์สนใจว่ามันคือแอปพลิเคชันชื่อว่าอะไร อยากรู้ต้องตามเข้าไปดู การอธิบายละเอียดจะทำให้คนไม่สนใจ จะเห็นว่าเราไม่เขียนอธิบายใครทำ เนื่องในงานอะไรครับ”
นั่นคือสิ่งที่ รศ.นพ.สมศักดิ์ ให้คำตอบกับทาง thumbsup มา ซึ่งถ้ามองให้ดีมันก็คือ Insight ของเราอีกแง่นึงที่ถ้าเรารู้ว่ามันคืออะไร เราจะไม่สนใจ ต้องติดตามต่อให้จบถึงจะรู้ว่ามันคืออะไร ถึง ณ เวลานั้นแล้วก็จะติดตาและจำได้ไปเองอย่างอัตโนมัติ
ขอบคุณทาง Digix Technology ที่ช่วยประสานงานในสัมภาษณ์ในครั้งนี้ครับ