Site icon Thumbsup

สรุปการเสวนาหัวข้อ “เบื้องหลัง Online Content” จากงาน #CreativeTalk6

Session นี้เป็นหัวข้อเสวนาแรก ถือเป็นน้ำจิ้มเรียกน้ำย่อยสร้างเสียงหัวเราะได้ไม่ยาก โดยเจ้าของโพสต์ “จดหมายถึงจิ๋ม” ที่แชร์กันเต็มไทม์ไลน์ อย่าง ‘หมอแล็บแพนด้า’ และเจ้าของคลิปวิดีโอที่ออกมาตั้งคำถามกับความเชื่อผิดๆ ของสังคม อย่าง ‘Toolmorrow’

ภาพเรียงจากซ้ายไปขวา
คุณสุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ : เจ้าของเพจ Toolmorrow
คุณภาคภูมิ เดชหัสดิน  : เจ้าของเพจ หมอแล็บแพนด้า
ด้านขวาอีกสองท่านคือ คุณเก่ง และ คุณโจ้ รับหน้าที่เป็นพิธีกรให้กับงานนี้

เรียกได้ว่าเป็นสองเพจที่มีคอนเทนต์แตกต่างกัน แต่ประสบความสำเร็จไม่ต่างกัน ถ้าเข้าไปดูยอดไลค์ของ Toolmorrow ตอนนี้ก็เกินหลักแสนแล้ว ส่วนหมอแล็บแพนด้านี่ไม่ต้องพูดถึงตอนนี้เกิน 4 แสนไลค์ไปเป็นที่เรียบร้อย ยังไม่นับยอด engagement ของแต่ละโพสต์ที่มีคนแชร์และคอมเมนต์เป็นจำนวนมาก

ถามคุณเสกก่อน ทำไมต้องชื่อ Toolmorrow ?

คุณเสก : Toolmorrow เริ่มจากการอยากเปลี่ยนแปลงทัศนคติไม่ถูกต้องของเยาวชน จึงอยากทำเครื่องมือมาให้เขาคิดได้ โดยเป็นรูปแบบของรายการทีวีออนไลน์ที่นำทัศนคติที่ส่งผลเสียกับชีวิตของเขา มาทดลองอะไรบางอย่าง เพื่อให้เขารับรู้และไปลองพิสูจน์ดู

ดูเหมือนไม่ได้ขายของอะไรเลย แบบนี้เรียกว่า Social Enterprise รึเปล่า ?

คุณเสก : จริงๆ Social Enterprise เป็นอะไรก็ได้ที่เป็นธุรกิจ และมีเป้าหมายทางสังคม จริงๆ มันก็มีขายของ มีสปอนเซอร์มาสนับสนุน อย่าง Toolmorrow ก็มี ไม่งั้นก็อยู่ไม่ได้

ทำไมโฟกัสที่ปัญหาวัยรุ่น ?

คุณเสก : เพราะตอนจะเริ่มต้นทำธุรกิจเพื่อสังคม เราเริ่มดูจากตัวเองก่อนว่า เรามีจุดแข็งและ insight อะไร หลายครั้งที่ธุรกิจเพื่อสังคมทำไปโดยไม่มี insight แล้วมันล้มเหลว

อย่างพวกความเชื่อผิดๆ มันเป็นหลุมดำที่ดูดวัยรุ่นหลายคนวนเวียนตกอยู่ในนั้น ถ้าเกิดว่าคุณขึ้นกลับได้ก็ถือว่าโชคดี ถ้ากลับมาไม่ได้คุณก็อาจจะพิการ สมองฝ่อ คุณก็โชคร้ายไป ผมอยากจะทำอะไรบางอย่างกับความเชื่อเหล่านี้

คือคุณเสกบอกว่ามี insight จากตัวเอง ช่วยลองเล่าเหตุการณ์ให้ฟังหน่อย?

คุณเสก : ใช่ ผมเป็นเด็กมัธยมที่ไม่ค่อยอบอุ่นเท่าไหร่ ต้องยอมรับว่าเด็กที่มีพฤติกรรมเสี่ยง มักจะเกิดจากบ้านไม่ค่อยดี พอเรารู้สึกว่าบ้านไม่น่าอยู่ เราก็คบเพื่อนไม่ถูกต้อง ซึ่งก็จะแนะนำแบบผิดๆ เริ่มไม่ไปเรียน เข้าเรียน 9 โมง 10 โมงก็ออกแล้ว แต่สุดท้ายเราก็กลับมาได้ เลยรู้สึกว่าเราน่าจะทำอะไรสักอย่างกับความเชื่อผิดๆ ที่มีอยู่เต็มไปหมด จึงเป็นที่มาของ Toolmorrow เรากำลังโฟกัสในสิ่งที่เรามี insight

แล้วอย่างหมอแล็บ เป็นหมอจริงๆ ใช่ไหม ?

หมอแล็บ : จริงๆ เป็นนักเทคนิคการแพทย์ แต่ว่าชื่อมันยาว นักเทคนิคการแพทย์ ทำหน้าที่ตรวจเลือด อุจจาระ ปัสสาวะ ซึ่งไม่มีใครทราบว่าคนในห้องแล็บเขาทำอะไรกัน คนทั่วไปรู้อีกทีก็รับผลการตรวจแล้ว จึงมองข้ามขั้นตอนนี้ไป ผมอยากสร้างการรับรู้ให้นักเทคนิคการแพทย์มีตัวตนขึ้นมา

เวลาเจอคำถามบ่อยๆ ว่าเทคนิคการแพทย์ทำอะไร พอขี้เกียจตอบเลยทำเพจขึ้นมา นั่นคือจุดเริ่มต้น

โดยการถ่ายห้องแล็บบ่อยๆ ถ่ายการทำงาน เพื่อให้คนอื่นได้เห็น ซึ่งตอนแรกจะดูเป็นวิชาการ คนไม่เข้าใจอยู่ดี คนที่มาไลก์จะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ด้วยกัน เป็นคนกันเอง ซึ่งไม่ใช่จุดประสงค์ของเพจ เราต้องการให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าใจในวิชาชีพเรา แต่วิธีการมันไม่ถูก

เลยทาตาดำเลยรึเปล่า ?

หมอแล็บ : ยัง (หัวเราะ) มันมีจุดเปลี่ยนหลายครั้ง จริงๆ แล้วตอนที่เรียนอยู่ สมัยนั้นการแนะแนวยังไม่ค่อยดี อาจารย์แนะแนวบอกว่า เทคนิคการแพทย์ คือช่างซ่อมเครื่องมือแพทย์ ผมชอบซ่อม ชอบสร้าง ใฝ่ฝันทำหุ่นยนต์ แต่กลายมาตรวจขี้ซะงั้น

แล้วจุดเปลี่ยนจริงๆ ที่ทำให้เพจเปลี่ยนไปคือตอนไหน ?

หมอแล็บ : เริ่มจากตอนที่มีละครเรื่องนึง นอนให้เลือดกันต่อสายตรง ปื๊ด มีม่านมาบังนิดนึง ซึ่งความจริงมันไม่ใช่ มันต้องมีกระบวนการตรวจก่อนเยอะแยะมากกว่านั้น และเวลาให้เลือดกัน จะมีการใส่ถุงเลือด แล้วค่อยปล่อยเลือดลงไปในตัวผู้ป่วย ไปนอนให้เลือดกันแบบนั้นมันไม่มีในโลกนี้ พอเราโพสต์ไปคนแชร์เยอะมาก เพจใหญ่ๆ แชร์กันหมด เราจึงมานั่งวิเคราะห์

พอมานั่งคิดว่าทำไมคนแชร์เยอะ ก็พบว่าเพราะมันน่าจะใกล้ตัวเค้า จากนั้นจึงไม่เอาละเรื่องยากๆ แม้เราจะหาข้อมูลจากงานวิจัย ก็ต้องเอามาย่อยให้คนเข้าใจง่าย เข้าถึงง่าย อ่านแล้วรู้เรื่อง จึงเป็นจุดเปลี่ยนให้คนทั่วไปเข้าถึงมากขึ้น

แล้วตอนนั้นตาดำรึยัง ?

หมอแล็บ : ยัง ! พอดีผมอยู่เวร บุคลากรทางการแพทย์เขาจะมีเวรมีกรรมเป็นของตัวเอง และส่วนใหญ่จะหน้าโทรมๆ หันไปเห็นหน้ากัน ก็ตกใจกันเอง ซึ่งปกติเวลาโพสต์อะไรจะชอบโพสต์หน้าตัวเอง อยู่แล้ว มันก็มีตาคล้ำตาดำ พอวันนึงเรานอนเพียงพอ หน้าใส ลูกเพจก็เริ่มสงสัยว่าตัวปลอมรึเปล่า เราจึงต้องทำเป็นคาแรกเตอร์ขึ้นมา โดยใช้โปรแกรมโฟโต้ชอป

แสดงว่าหมอทำโฟโต้ชอปเป็นด้วย ? แล้วแบบนี้มีคนช่วยทำกี่คน ?

หมอแล็บ : ทำคนเดียว นี่อาจจะเป็นคุณลักษณะนึงของคนทำเพจ ส่วนใหญ่เขาจะเก่งหลายด้าน คือเราจะไม่อยู่นิ่ง เช่นเวลาเล่นไลน์ ส่งสติกเกอร์ เราจะคิดว่าเขาทำสติกเกอร์กันยังไง พอเราสงสัย และเรียนรู้ เราก็จะสะสมวัตถุดิบไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องสนหรอกว่าเราจะเอาไปใช้วันไหน

และอีกอย่างคืออย่าไปคิดในกรอบ นอกกรอบก็ยังไม่พอ ต้องคิดแบบไร้กรอบ เพราะนอกกรอบก็อาจจะยังมีเส้นมากรอบเราอีกที ต้องคิดให้ทะลุทุกกรอบออกไปเลย

แต่คุณเสกทำคนเดียวไม่น่าจะได้ ?

คุณเสก : ไม่ได้ครับ ทำกันประมาณ 3-4 คน เนื่องจากเป็นกองแอบถ่าย จึงใช้คนเยอะไม่ได้ ต้องเนียนไปกับเหตุการณ์ได้ ซึ่งเวลาจะเล่นอะไร นอกจากตัวน้องที่เป็นคนเดินเรื่องจะรู้กับเราแล้ว เราต้องขออนุญาตผู้ใหญ่คนนึงไว้ก่อน อย่างเช่น ถ้าจะแอบถ่ายคุณพ่อ จะไปขออนุญาตคุณแม่ไว้ เผื่อเกิดอะไรขึ้น จะได้มาช่วยกันได้ เพราะการออกกองมีค่าใช้จ่าย มีการลงทุน

ส่วนเด็กที่มาเล่นกับเราจะเป็นอาสาสมัครจากแฟนเพจ เราก็จะให้คนในนั้นส่งคลิปเข้ามาสมัคร โดยกำหนดคาแรกเตอร์เอาไว้ การคัดเลือกก็จะพูดคุยกับน้องดูว่าเขาเหมาะไหม ซึ่งในทางจิตวิทยายังทำให้เราคาดการณ์ได้ด้วยว่า พ่อแม่ของน้องจะเป็นอย่างไร

เราพยายามดึงลูกเพจมามีส่วนร่วม เพราะเราอยากให้เขารู้สึกว่าเขาก็มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมด้วยกันได้

เคยมีปัญหาคนไม่พอใจไหม ?

คุณเสก : มี เนื่องจากทางกองจะมีการเฉลยทุกครั้ง บางครั้งพอเฉลยก็จะมีบางคนโมโหบ้าง อย่างคลิปที่ทำเกี่ยวกับเด็กช่างไปตบหัวเข็มโรงเรียนอื่นมา ไปสัมภาษณ์งานแล้วเอาหัวเข็มมาวางเรียงกัน แล้วบอกว่าถ้ารับเขา เขาจะรักร้านอาหารนั้นมาก ไม่ให้ใครมาทำร้าย พอปล่อยคลิปไป ก็มีรุ่นพี่สถาบันนึงทักอินบอกซ์มาขอหัวเข็มคืน ก็ต้องพูดคุยทำความเข้าใจกันยาว

กลับมาถามหมอแล็บ พูดถึง “จดหมายถึงจิ๋ม” ที่เป็นกระแสอยู่ตอนนี้หน่อย ?

หมอแล็บ : เนื่องจากทุกวันนี้มีสินค้าพวกนี้มาก และมีคนเสียชีวิตจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เราจึงเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญ น่าจะเอามาตีแผ่เพื่อให้คนรับรู้ ซึ่งเวลาลงแฉสินค้า ก็จะมีทั้งโดนด่า โดนขู่ฆ่าบ้าง แต่เราก็ไม่ใช่คนกลัวใคร แต่ก่อนแม่ก็มีเตือน ตอนนี้แม่เริ่มทำใจ บอกว่าอะไรทำเพื่อสังคม ตายก็ไม่เป็นไรลูก เราก็พยายามคุยกับเขาดีๆ ซึ่งก็มีบ้างที่ยอมเลิกขาย (แต่เป็นส่วนน้อยมาก)

ขอเคล็ดลับที่ทำให้มีคนแชร์ของทั้งสองท่านหน่อย?

หมอแล็บ : ผมก็ไม่รู้ว่าเคล็ดลับคืออะไร แต่ผมก็หวังลึกๆ ให้มีคนแชร์ อย่างตัวผมเองถ้านึกอะไรได้จะรีบจดไว้ในมือถือ เดี๋ยวมันหาย พวกมุขอะไรต่างๆ สะสมวัตถุดิบเอาไว้

ความคิดสร้างสรรค์ในความหมายของผม ผมว่ามันคือความเชื่อมโยง การนำสิ่งที่ไม่น่าจะเชื่อมโยงกันได้เอามาเชื่อมโยงกัน เอาคำกลอนมาเชื่อมโยงกับความรู้ เชื่อมกับความฮา ถ้าโยงกันได้ คือคุณมีความคิดสร้างสรรค์แล้ว

อย่างตัวผมเอง แชร์ความรู้ ก็ต้องเอาความรู้ ความฮา และกระแสสังคมมาเชื่อมโยงกันให้ได้ นี่เป็นความยาก แต่ถ้าคิดได้ เรารู้เลยว่าคนต้องแชร์แน่นอน พอมีคนแชร์ก็จะกลายเป็นความฟิน

คุณเสก : ความโชคดีคือผมเคยทำ product มา จึงมีกฎง่ายๆ 3 ข้อว่า เรียบง่าย เข้าใจง่าย และคาดไม่ถึง แต่พอเป็นเรื่องของคอนเทนต์จะต้องมีเรื่องของความมีประโยชน์เข้ามา เพราะพอเราอ่านแล้วรู้สึกว่ามีประโยชน์ขึ้นมา เราจะอยากแชร์ให้คนอื่นเห็น เป็นสิ่งที่ทุกคนเจอมาเหมือนๆ กัน และถ้าเรามี solution ที่มันได้ผล และมันใช่ เดี๋ยวคอนเทนต์มันจะแชร์ได้ด้วยตัวมันเอง

ยอดไลก์ แชร์ ถือเป็นตัววัดความสำเร็จหรือไม่ ?

คุณเสก : ไม่ อย่างแรกที่ผมวัดคือคอมเมนต์ ซึ่งก็ต้องดูที่เป็นคอมเมนต์คุณภาพอีก คือคอมเมนต์ประเภทระบายความในใจ และมีความอิน แต่ถ้ามีแค่หัวเราะ 555 ก็ยังไม่นับว่าเป็นคอมเมนต์คุณภาพ รองลงมาที่ดูคือการแชร์ เพราะการแชร์เราไปบังคับลูกเพจไม่ได้ ส่วนไลก์ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดเลย เพราะเราสามารถบูสต์โพสต์ ซื้อไลก์ได้ บางคนกดไลก์โดยที่อาจจะไม่ได้ดูคลิปด้วยซ้ำ

โดยที่ทางเพจเองก็มีการเรียนรู้จากสิ่งที่เราทำ เช่นมีการมาดูว่าคลิปนี้เราแป้กเพราะอะไร

หมอแล็บ : ผมก็แป้กมาเยอะ แต่ตอนนี้กำลังสะสมวัตถุดิบใหม่อยู่คือ เรียนร้องเพลง ล่าสุดมีการร้องแรพ แต่คิดว่าคนฟังเร็วๆ อาจจะไม่ทัน เลยกำลังฝึกร้องเพลงลูกทุ่งอยู่ (แบบนี้เรียกว่าเป็นคอนเทนต์ที่เหนือความคาดหมายมาก)

นอกจากนี้ผมยังมีกลุ่มปิด เป็นกลุ่มที่มีเพจยอดไลก์เกินแสน กับกลุ่มปิดที่เป็นเฉพาะกลุ่มทางการแพทย์ ไว้แลกเปลี่ยนความคิดและความรู้ กันเงิบ เช่น มีข่าวน้ำตบ DNA ในกรุ๊ปก็จะเอางานวิจัยมาคุยกันว่ามันจริงหรือไม่ พอได้ข้อสรุป ก็แล้วแต่ว่าแต่ละเพจจะเอาไปเล่นยังไง นำเสนอเป็นสไตล์ของตัวเอง ซึ่งจะเห็นว่า เรื่องของ connection ก็สำคัญ

มีอะไรจะฝากถึงแฟนๆ ?

คุณเสก : ถึงพ่อแม่ไม่มีเวลา แต่ห้ามเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง พ่อแม่ควรเป็นแหล่งข้อมูลอันดับ 1 ของลูก

หมอแล็บ : อยากให้ทุกคนทำเป็นหลายๆ อย่าง อย่าหยุดนิ่ง อย่าคิดว่าเราทำไม่ได้ และให้คิดเป็นวิทยาศาสตร์ให้มาก ทุกวันนี้โลกเรามีการแชร์ข่าวกันเยอะมาก เวลาอ่านควรตั้งคำถามก่อนว่ามันจริงไหม ให้ฝึก “คิด วิเคราะห์ แยกแยะ” ให้เป็น

​​​——-​​​——-​​​——-​​​——-​​​——-​​​——-​​​——-​​​——-​​​——-​​​——-​​​——-​​​——-​​​——-​​​——-

สรุปสิ่งที่ได้จากเสวนาหัวข้อ “เบื้องหลัง Online Content”

  1. การสร้างคอนเทนต์ให้ประสบความสำเร็จต้องเริ่มจาก insight
  2. อย่าคิดแต่จะเล่าเรื่อง แต่ต้องทำให้เข้าใจง่าย เป็นสถานการณ์ที่ใครๆ ก็เจอ  เพื่อให้คนอ่านอินตามได้ และถ้ามีวิธีแก้ปัญหาให้ ก็จะทำให้คนแชร์ได้มากขึ้น
  3. การแชร์ข้อมูล หรือการพูดคุยกับลูกเพจแต่ละครั้งมันมีผลต่อชีวิต ดังนั้นถ้าไม่มั่นใจไม่ควรแชร์
  4. อย่าลืมที่จะสะสมวัตถุดิบอยู่เสมอ เพื่อให้เรามีเครื่องมือสำหรับต่อยอดผลงาน