หลายๆ ธุรกิจเริ่มปรับตัวด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้อำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค ไม่เว้นแม้แต่หน่วยงานภาครัฐอย่างสถานีตำรวจ โรงพยาบาลเอกชน หรือแม้แต่ธุรกิจท้องถิ่นที่ต่างก็นำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการปรับตัวทั้งสิ้น ซึ่งทางทีมงาน thumbsup พบเคสตัวอย่างที่น่าสนใจจากการไปร่วมงาน AIS BUSINESS ที่ผ่านมา
กองบังคับการตำรวจนครบาล 1
เริ่มจากการล้างภาพจำแบบเดิมๆ ของตำรวจไทย ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 เพื่อช่วยสร้างความปลอดภัยให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น จากการติดตั้งอุปกรณ์ NB-IoT Tracking สำหรับตรวจสอบติดตามรถยนต์ หรือจักรยานยนต์
ระบบนี้ช่วยตรวจสอบรถจักรยานยนต์ของตำรวจสายตรวจ ว่าแต่ละคันอยู่ตรงที่จุดใดผ่านระบบ GPS ในแบบเรียลไทม์ เป็นการบริหารจัดการระบบสายตรวจให้ทั่วถึง ช่วยในการลดปัญหาอาชญากรรม ผ่านการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ว่าจุดไหนเกิดอาชญากรรมบ่อยๆ และบริหารจัดการด้วยการส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจตราเพิ่มเติม
สามารถตรวจสอบความเร็ว พร้อมป้องกันการขโมยด้วยการกำหนด Geo-Fencing ใช้งานผ่าน Mobile Application โดยปัจจุบันมี 9 สถานีตำรวจในที่ใช้ระบบแบบนี้ในระยะเวลาประมาณ 1 เดือนแล้ว
โรงพยาบาลสมิติเวช
ความต้องการดูแลสุขภาพแบบไม่ต้องรอป่วย คือจุดเริ่มต้นของแอปพลิเคชั่น “Smitivej Plus” ของ”โรงพยาบาลสมิติเวช” ที่ออกมาแบบบริการมาเพื่อดูแลคนไม่ป่วย
เพราะหากลองดู Pain Point จะพบว่ามนุษย์นั้นไม่อยากป่วย ดังนั้นนอกจากจะดูแลคนป่วยที่ทำกันเป็นปกติ ทางโรงพยาบาลก็ขอพลิกมุมมาดูแลคนไม่ป่วยด้วย ให้การมาดูแลสุขภาพผ่านการตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาล กลายเป็นเรื่องไม่ยุ่งยากเสียเวลาจนไม่อยากมาโรงพยาบาล
ซึ่งผู้มาใช้บริการสามารถเลือกคุณหมอและนัดหมายผ่านออนไลน์ เข้าถึงประวัติการรักษา ใบสั่งยา ผลแล็บ และภาพเอกซเรย์ ชำระค่ารักษาพยาบาลผ่านแอปฯ ได้แบบไม่ต้องรอคิว รวมทั้งบอกคิวกับขั้นตอนบริการแบบเรียลไทม์ และยังบอกรายละเอียดพร้อมรูปภาพของยาที่ใช้ในการรักษา เพื่อแก้ปัญหาการใช้ยาผิดด้วย
นอกจากแอปพลิเคชั่นโรงพยาบาลสมิติเวชยังมี Beacon เทคโนโลยีที่เชื่อมโยงกับ LINE ผ่านระบบบลูทูธ เมื่อเดินไปที่เคาเตอร์ของแผนกที่นัดหมายไว้ Beacon จะแจ้งให้พยาบาลในแผนกและคุณหมอได้ทราบว่าคนไข้มาถึงแล้ว แจ้งรายละเอียดการรักษา รวมทั้งการแสดงข้อมูลที่น่าสนใจแบบ Personalized สำหรับคนไข้แต่ละราย เมื่อเดินผ่านตามจุดต่างๆ รวมถึงโปรโมชั่น สิทธิพิเศษ
การนำเทคโนโลยีทั้งหมดมาใช้นั้นมีเป้าหมายเพื่อลดเวลาในการใช้บริการของผู้ป่วย และสร้างการรักษาที่ช่วยให้กลับบ้านเร็วที่สุด ซึ่งในสมัยก่อนการนำเทคโนโลยีมาดูแลนั้นทำได้ยาก แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีสามารถนำมาทำ Personalize ได้ง่ายขึ้น เพื่อสร้างให้สุขภาพของคนโดยรวมดียิ่งขึ้น
E-hongMD (อีฮงมดแดง)
เคสสุดท้ายเป็นเรื่องของรถจักรยานยนต์ loT ของธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์บริษัท E-hongMD (อีฮงมดแดง) ที่ดำเนินงานในภาคอีสาน โดยมอเตอร์ไซค์คือสินค้าที่เป็นธุรกิจที่เข้าถึงได้อย่างกว้างขวาง แต่ในทางกลับกันค่าใช้จ่ายของธุรกิจลีสซิ่งมักมาจากการสูญเสียจากการที่ไม่สามารถเก็บเงินสินเชื่อได้ครบ
ดังนั้นสิ่งที่ธุรกิจนี้ต้องการคือการใช้ระบบติดตามลูกค้าที่นำรถไปใช้ได้ เพราะหนี้เสียที่เกิดในธุรกิจมักเกิดจากการที่ลูกค้านำรถออกไปขายทอดตลาดในต่างประเทศ โดยเป็นการทำแบบเป็นขบวนการ
โดยนำการแก้ปัญหาด้วยการติด GPS ให้แจ้งเตือนเมื่อรถจักรยานยนต์วิ่งเกินจากเขตชายแดน และมีโอกาสออกนอกประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เปรียบเสมือนการสร้างรั้วดิจิทัลในแนวชายแดนระหว่างประเทศ
ในตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการทดสอบ แต่ทางบริษัทก็หวังว่าจะลดจำนวนหนี้เสีย 3 เปอร์เซ็นของบริษัท ที่คิดเป็นเงินกว่าปีละ 30 ล้านบาทให้ลดลงได้ โดยสิ่งที่จะเข้ามาเปลี่ยนชีวิตของผู้ใช้ให้ดีขึ้นได้ คือกรณีที่รถของลูกค้าถูกขโมยไปขายก็จะสามารถแจ้งเพื่อการติดตามได้ด้วย
ทั้ง 3 เคสบนเวทีของงาน AIS BUSINESS เป็นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงการทำงานขององค์กร ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องน่าสนใจเพราะเป็นการพยายามขยับตัวจากแบบเดิมๆ ให้การทำงานนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทั้งภาครัฐ เอกชน และธุรกิจขนาดเล็ก