Text Message Marketing เป็นเครื่องมือหนึ่งที่นักการตลาดหยิบเอามาใช้กันบ่อยๆ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคในยุคที่ใครๆ ก็มีโทรศัพท์มือถือ จะเห็นได้ว่าผู้บริโภคแบบเราๆ มักจะได้รับข้อความจากแบรนด์ต่างๆ ส่งเข้ามาในโทรศัพท์มือถืออยู่บ่อยๆ บางครั้งก่อให้เกิดความรำคาญมากกว่าจะเป็นผลดี เพราะหลายๆ แบรนด์ละเลยสิ่งสำคัญที่สุดคือไม่ขออนุญาตจากผู้บริโภคเสียก่อน บทความจาก Inc.com สรุป 8 วิธีในการใช้ Text Message Marketing เพื่อให้ผู้บริโภคไม่เกิดความรู้สึกติดลบ เป็นอินโฟกราฟิกแบบดูง่ายๆ เรามาดูกันดีกว่าค่ะ ว่าจะมีอะไรบ้าง
บอกวัตถุประสงค์ชัดเจน
เพื่อให้ลูกค้ารู้ว่าตัวเองจะคาดหวังอะไรได้บ้างจากข้อความของแบรนด์ หรือหากเป็นข้อความตอบกลับจากการ subscribe ก็ควรบอกไว้ตั้งแต่บรรทัดแรก
ขออนุญาตก่อน
ในหลายประเทศ ที่กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคค่อนข้างซีเรียส การขออนุญาตผู้บริโภคก่อนที่จะส่งข้อความไปหาพวกเขาคือสิ่งที่จำเป็นที่สุด คำถามต่อมาคือแล้วจะขออนุญาตได้ยังไงล่ะ ในอินโฟกราฟิกนี้ให้ทางเลือกมา 2 แบบ คือ การขอให้กลุ่มเป้าหมายส่งข้อความเพื่อแสดงความประสงค์จะรับข่าวสารจากแบรนด์ หรือการส่งข้อความเป็นลายลักษณ์อักษรไปแจ้งผู้บริโภค ในกรณีที่คุณเป็นคนใส่รายชื่อ subscriber แต่ละคนลงไป
อย่าส่งข้อความถี่เกินไป
ความถี่ที่เหมาะสมควรจะอยู่ระหว่าง 2-4 ข้อความต่อเดือน ถ้าจะให้ดีก็ควรบอกไว้ตั้งแต่ข้อความแรกเลยว่าปริมาณข้อความต่อเดือนที่จะส่งให้ลูกค้านั้นเป็นเท่าไร เช่น “การ Subscribe นี้จะทำให้คุณได้รับข้อความไม่เกิน 4 ครั้งต่อเดือน” เป็นต้น
ระบุ Disclaimer หรือการระบุเงื่อนไขที่ผู้บริโภคต้องรู้
ไม่ว่าอะไรก็ตามที่จะทำให้ผู้บริโภคมีค่าใช้จ่ายเพิ่มหรือเสียสิทธิ์อะไรบางอย่าง ก็ควรจะแจ้งให้ทราบไว้ในข้อความตอบรับครั้งแรก เช่น การเสีย data เมื่อเปิดข้อความรูปภาพ เป็นต้น
บอกวิธียกเลิก
ให้ทางเลือกในการเลิกรับข้อความจากแบรนด์ ด้วยการระบุวิธียกเลิก โดยในอินโฟกราฟิกได้ยกตัวอย่างมาว่า “พิมพ์คำว่า STOP ตอบกลับข้อความนี้” สังเกตว่าในไทยจะไม่มีการให้สิทธิ์แบบนี้กับผู้บริโภคเท่าไรนะ
ส่งข้อความในช่วงเวลาปกติ
แน่นอนว่าตัวคุณเองคงไม่อยากถูกปลุกขึ้นมากลางดึกด้วยเสียงข้อความที่นำเสนอโปรโมชั่นจากแบรนด์ ผู้บริโภคก็เช่นกัน ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือระหว่างวัน หรือ business hours
อย่าใช้ภาษาสแลง
ในที่นี้รวมถึงคำย่อต่างๆ ที่คุณมักจะใช้เมื่อแชทในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเพื่อประหยัดเวลาในการพิมพ์หรือประหยัดพื้นที่ที่มีอยู่จำกัด แต่ถ้าเป็นการส่งข้อความจากแบรนด์แล้วละก็ มันจะทำให้ดูไม่มีความเป็นมืออาชีพมากกว่า
ส่งมอบคุณค่าให้กับผู้บริโภค
ทุกๆ ครั้งที่ผู้บริโภคเปิดดูข้อความจากแบรนด์ เขาควรจะได้อะไรบ้าง เพราะเขาได้ให้สิทธิ์กับแบรนด์ในการส่งข้อความถึงเขาโดยตรง แบรนด์ก็ควรตอบแทนผู้บริโภคเหล่านี้ด้วยเช่นกัน เพราะการ subscribe จะมีค่าต่อผู้บริโภคก็ต่อเมื่อพวกเขาได้อะไรกลับคืนมา เช่น การแสดงข้อความเพื่อรับส่วนลดจากแบรนด์ หรือของขวัญเล็กๆ น้อยๆ เมื่อแสดงข้อความนี้ที่สาขาใกล้บ้าน เป็นต้น
อ่านกันดูแล้วก็จะพบว่าบางข้อเป็นเรื่อง common sense ที่ทุกคนพอจะรู้กันบ้าง ลองเอาไปประยุกต์ใช้ดูนะคะ เผื่อว่าจะเป็นแนวทางที่ทำให้ Mobile Marketing ตอบโจทย์แบรนด์มากขึ้นและไม่เป็นมิตรกับผู้บริโภคโดยที่คนทำแบรนด์ไม่รู้ตัว