ก็ผ่านพ้นกันไปแล้ว และเราก็ได้ทราบว่าในช่องรายการแต่ละกลุ่มนั้น มีใครที่ชนะการประมูลและจะได้รับสิทธิ์ในการทำรายการในช่องนั้นๆ กันบ้างแล้วนะครับ สำหรับวันนี้ผมจะขออนุญาตมาสรุปภาพรวมของการประมูลช่องทีวีดิจิทัล และมุมมองภายหลังทราบถึงผลการประมูล โดยแยกการวิเคราะห์ออกเป็น 4 กลุ่มหลักๆ ตามช่องที่มีการประมูลคือ ช่องทั่วไป HD, ช่องทั่วไป SD, ช่องข่าว และช่องเด็ก เชิญติดตามครับ…
ภายหลังการประมูลเสร็จสิ้นลง คาดกันว่าในช่วงต้นปีหน้า อาจจะเดือนกุมภาพันธ์ หรือมีนาคม เราคนไทยก็จะมีโอกาสได้รับชมรายการฟรีทีวี (อาจจะมีต้นทุนค่ากล่อง Set Top Box ขึ้นอยู่กับรุ่นของโทรทัศน์) เพิ่มขึ้นมาอีก 24 ช่องรายการ แน่นอนครับว่าการประมูลนั้นได้รับความสนใจจากหลายๆ กลุ่ม แม้แต่กลุ่มที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสื่อเลยก็ตาม แล้วอะไรคือสิ่งที่ทำให้พวกเขาเหล่านั้นกระโดดมาร่วมวงการประมูลกันล่ะครับ?
ไปดูกันที่กลุ่มแรก ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่าคนกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่ง ซึ่งเสพติดภาพความละเอียดระดับสูง น่าจะให้ความสนใจไม่น้อยกับ “ช่องทั่วไป HD” ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด 7 ช่องด้วยกัน โดยเป็นไปตามที่คาดการณ์ในด้านของราคาการประมูลว่าช่องในกลุ่มนี้ จะมีราคาสูงที่สุด ซึ่งราคาสูงที่สุดที่ถูกประมูลไปนั้นก็คือ 3,530 ล้านบาท โดยบริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย หรือที่เราเข้าใจกันก็คือสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 นั่นเอง
ส่วนรายอื่นๆ ก็ประมูลกันในระดับราคาที่เกินจาก 3.3 พันล้านบาทขึ้นไปทั้งสิ้น ได้แก่:-
- บ.บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด – 3,460 ล้านบาท
- บ.กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด หรือสถานีโทรทัศน์ ช่อง 7 – 3,370 ล้านบาท
- บ.ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด โดยกลุ่มของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ – 3,360 ล้านบาท
- บ.อสมท จำกัด (มหาชน) – 3,340 ล้านบาท
- บ.อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด – 3,320 ล้านบาท
- และ บ.จีเอ็มเอ็ม เอชดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด หรือว่าเครือแกรมมี่ – 3,320 ล้านบาท
จะสังเกตได้ว่ากลุ่มที่เข้าประมูลล้วนมีพื้นฐานในด้านของสื่อและงานโทรทัศน์แล้วทั้งสิ้น ซึ่งนั่นหมายความว่าพวกเขาค่อนข้างมีความพร้อมในการสานต่อและดำเนินการในการนำช่องรายการดิจิทัลที่ได้รับ ไปดำเนินการต่อได้ทันที โดยเฉพาะช่อง 3, 7 และช่อง 9 ที่น่าจะง่ายต่อการปรับตัว โดยพวกเขามีรายการอยู่ในมือค่อนข้างจะพร้อม เพียงแค่การปรับการถ่ายทำรายการ และปล่อยระดับสัญญาณที่ดีขึ้น ซึ่งท้ายสุดพวกเขาก็น่าจะย้ายผังรายการปกติไปอยู่บนช่องดิจิทัล
ที่ดูจะแปลกตาไปเสียหน่อยคงเป็นบริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด ซึ่งกลุ่มนี้ดูจะเป็นหน้าใหม่ในวงการสื่อ ต่างจากบริษัทอื่นๆ ก็น่าสนใจว่าพวกเขามีแนวทางหรือกลยุทธ์อย่างไรจึงกล้าทุ่มทุนมหาศาลขนาดนี้ เพื่อแลกกับสิทธิ์ในการทำช่องโทรทัศน์ดิจิทัล
หันมาดูในฝั่งของ “ช่อง SD หรือช่องความคมชัดระดับมาตรฐาน” ซึ่งผู้ชนะประมูลทั้ง 7 รายก็ล้วนแล้วแต่เป็นหน้าเดิมๆ ในวงการโทรทัศน์อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นฟรีทีวีอย่างช่อง 3 หรือสื่อที่อยู่บนเคเบิ้ลทีวีหรือจานดาวเทียม โดยทั้งเจ็ดรายได้แก่:-
- บ.ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด หรือที่เรารู้จักกันในนามของ Workpoint – 2,355 ล้านบาท
- บ.ทรู ดีทีที จำกัด หรือกลุ่ม True – 2,315 ล้านบาท
- บ.จีเอ็มเอ็ม เอสดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด – 2,290 ล้านบาท
- บ.บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด – 2,275 ล้านบาท
- บ.อาร์.เอส.เทเลวิชั่น จำกัด – 2,265 ล้านบาท
- บ.โมโน บรอดคาซท์ จำกัด หรือกลุ่มบริษัท Mono (บางท่านอาจจะรู้จัก MThai) – 2,250 ล้านบาท
- บ.แบงคอก บิสสิเนส บรอดแคสติ้ง บริษัทในเครือ Nation – จำกัด 2,200 ล้านบาท
ในเรื่องของราคา แม้จะไม่ได้สูงเท่ากับช่อง HD…แต่เมื่อเทียบกับราคาเปิดประมูลนั้นถือว่า “สูงมาก” ครับ ทั้งที่ราคาเปิดนั้นอยู่เพียง 380 ล้านบาท แต่บริษัทลำดับสุดท้ายที่เข้าป้ายไป ก็ต้องควักเม็ดเงินกว่า 2.2 พันล้านบาทกันเลยทีเดียว สาเหตุหนึ่งเพราะต้นทุนการผลิตค่อนข้างต่ำสำหรับรูปแบบของ SD จึงทำให้มีบริษัทมาเข้าร่วมประมูลมากถึง 16 ราย
ในมุมมองของบริษัทที่เข้าร่วมประมูล รายที่ทุ่มมากสุดก็คือ Workpoint ซึ่งช่วงเช้าที่มีการประมูลช่อง HD พวกเขาพลาดหวังไป สาเหตุคาดว่าน่าจะมาจากงบที่สูงเกินไป ดังนั้นพวกเขาพลาดไม่ได้ที่จะต้องคว้าช่อง SD มาให้ได้ ในขณะที่กลุ่ม True ตัดสินใจไม่เข้าร่วมประมูลช่อง HD ผมเชื่อว่าพวกเขาไม่ได้ต้องการช่อง HD อยู่แล้ว เพราะในมือของพวกเขามี True Visions ซึ่งมีคอนเทนต์ที่เป็น HD อยู่มากมายเพียงพอ และคงต้องการจะเก็บเงิน แทนที่จะเป็นโมเดลแบบฟรีทีวีเสียมากกว่า
หลังผลการประมูลทั้งช่อง HD และ SD ออกมาเป็นที่เรียบร้อย จะเห็นว่า ช่อง 3 และกลุ่มแกรมมี่ คือสองรายที่คว้ามาทั้งสองช่อง สำหรับแกรมมี่นั้น ปัจจุบันพวกเขามีกล่องเคเบิลทีวีอย่าง “Z” อยู่แล้ว และก็มีคอนเทนต์อยู่มากพอสมควร ทำให้เราอาจจะได้เห็นแกรมมี่แบ่งสันปันส่วนรายการทั้งหมดของพวกเขา ลงทั้งสองช่องนี้ค่อนข้างแน่ (อย่างน้อยก็ในช่วงแรก)
สำหรับช่อง 3 แม้ปัจจุบันจะมีผังรายการที่นำเสนออยู่ในฟรีทีวีปัจจุบัน แต่แท้จริงแล้ว เชื่อว่าพวกเขายังสามารถผลิตคอนเทนต์ออกมาได้อีกมาก ดังนั้นในแง่ของเนื้อหาจึงไม่น่าเป็นห่วงนักสำหรับทางช่อง 3 ในขณะที่รายอื่นๆ ก็ถือเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์อยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่ได้มีอะไรน่าแปลกใจนัก (นอกจากราคาที่สูงกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์)
แล้วบริษัทที่พลาดหวังล่ะ? เชื่อว่าหลายท่านที่อาจจะไม่ได้ติดตามการประมูลนี้ อาจจะตั้งคำถามนี้ ทาง กสทช. โดย พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. และประธาน กสท. ได้กล่าวถึง ผู้ที่พลาดโอกาสชนะการประมูลทีวีดิจิทัลในครั้งนี้ ว่ายังสามารถเข้ามาเช่าช่วงเวลาเพื่อออกอากาศกับผู้ชนะการประมูลที่ได้รับใบอนุญาตเพื่อผลิตคอนเทนต์ได้ โดย กสทช. มีการตั้งหลักเกณฑ์การแบ่งเวลาให้ผู้อื่นดำเนินรายการ ที่ระบุเอาไว้ว่าผู้ได้รับใบอนุญาตจากการประมูลทีวีดิจิทัลต้องปล่อยให้มีการเช่าช่วงเวลา 10%-40% ของช่วงเวลาออกอากาศด้วย
นี่คือการสรุปผลและวิเคราะห์ถึงผลการประมูลที่เกิดขึ้นในวันแรก ส่วนของการประมูลในวันที่สอง ติดตามอ่านได้ในวันพรุ่งนี้ สำหรับเพื่อนๆ ผู้อ่านและ thumbsup’er ทุกท่านคิดเห็นกันอย่างไรบ้าง บอกให้เราได้รู้บ้างนะครับ
“Get ready for the new era with Digital TV” วันนี้คุณพร้อมแล้วหรือยังครับ ที่จะก้าวไปสู่ยุคของสื่อยุคใหม่กับ Digital TV