กลายเป็นกระแสที่วิเคราะห์กันยกใหญ่กรณี Amazon ประกาศ block โฆษณาสินค้าที่ขาดทุนบนระบบฝากสินค้าแบบขายส่งกับ Amazon การประกาศนี้แปลว่า Amazon ไม่แคร์รายได้จากการโฆษณา แล้วให้ความสนใจแต่เรื่องกำไรขาดทุนมากกว่า โดยเจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซระบุว่าการ block จะถูกยกเลิกก็ต่อเมื่อเวนเดอร์สามารถลดต้นทุนจนทำให้ Amazon ไม่ได้รับผลกระทบขาดทุนจากสินค้านั้น
หากไม่นับเรื่องแฟร์หรือไม่แฟร์ นักวิเคราะห์มองว่าสิ่งที่อีคอมเมิร์ซรายใหญ่อย่าง Amazon กำลังทำคือการปัดกวาดตัวเลขกำไรขาดทุนด้วยการเดินมาตรการเพื่อลดส่วนที่เป็นภาระของ Amazon เพียงแต่ว่าการทำเช่นนี้กำลังทำให้ผู้ค้ารู้สึกถึงแรงกดดัน ซึ่งแสดงถึงความไม่แคร์ใครเลยของ Amazon
รายงานระบุว่าในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา Amazon ประกาศบอกเวนเดอร์และเจ้าของแบรนด์หลายรายที่จำหน่ายสินค้าส่ง ว่าหาก Amazon ไม่มีกำไรในการจำหน่ายสินค้านั้น บริษัทจะไม่อนุญาตให้เจ้าของแบรนด์ซื้อโฆษณาเพื่อโปรโมทบน Amazon ยกตัวอย่างเช่น การจำหน่ายน้ำดื่มขวดละ 5 เหรียญสหรัฐ ทำให้ Amazon มีต้นทุนการจัดเก็บสินค้า การบรรจุหีบห่อ และการจัดส่ง การขาดทุนนี้ทำให้ Amazon ไม่อนุญาตให้เวนเดอร์น้ำดื่มซื้อโฆษณาบน Amazon เพื่อโปรโมทน้ำดื่มนั้น
ต้องลดราคาให้ Amazon
เงื่อนไขที่ Amazon เรียกร้อง คือเวนเดอร์ผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ Amazon ขาดทุน จะต้องไปลดต้นทุนการผลิตลง เพื่อให้อยู่ในระดับที่ Amazon จะไม่ขาดทุนจากค่าจัดเก็บสินค้าและค่าธรรมเนียมการจัดส่ง ซึ่งหากทำได้ Amazon จึงจะยอมยุติการ block ไป
ความเคลื่อนไหวนี้มองได้ 3 ด้านในมุมของ Amazon ด้านแรกคือ Amazon ต้องการเพิ่มศักยภาพการทำกำไรอย่างเต็มที่ โดยในอีเมลที่ Amazon ส่งถึงผู้ขายรายหนึ่ง ระบุตรงไปตรงมาว่า “ผลิตภัณฑ์ของคุณ” อย่างน้อย 1 รายการไม่มีคุณสมบัติในการโฆษณาเพราะการขายผลิตภัณฑ์นี้ใน Amazon.com ส่งผลให้ Amazon ต้องขาดทุน
ด้านที่ 2 คือการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาธุรกิจอีคอมเมิร์ซ Amazon ชะลอตัว จุดนี้นักวิเคราะห์บางรายประเมินว่าปีนี้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซของ Amazon จะไม่ขยายตัวเท่าที่ควร โดยในปี 2019 นี้ คาดว่า Amazon จะสร้างยอดขายอีคอมเมิร์ซค้าปลีกทั่วโลกประมาณ 440,830 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 19.8% ซึ่งเป็นการเติบโตที่ชะลอตัวจากที่เคยเพิ่มขึ้น 22.4% ในปี 2018
ด้านที่ 3 คือ Amazon กำลังเปลี่ยนแปลงเพื่อขยายตลาดการขายสินค้าของ third-party ที่ผ่านมาการขายสินค้าโดยตรงสร้างกำไรให้กับ Amazon ต่ำกว่าการขายผ่านบุคคลที่ 3 ซึ่งเวนเดอร์บุคคลที่ 3 ล้วนไม่ได้รับผลกระทบครั้งนี้ของ Amazon
คิดเหมือนผู้ค้าปลีกค่ายอื่น
ไม่ว่าจะแฟร์หรือไม่แฟร์ Amazon ตอบสื่อมวลชนถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่านโยบายของ Amazon ไม่ต่างกับผู้ค้าปลีกทั่วไป เพราะ Amazon ตัดสินใจเลือกสินค้าที่จะทำการตลาดและโปรโมตในร้านค้าของบริษัทตามปัจจัยหลายประการ ซึ่งนอกจากศักยภาพในการทำกำไร Amazon ยังพิจารณาเรื่องความพร้อม และปัจจัยอื่นร่วมด้วย
คาดว่านโยบายนี้จะเกิดขึ้นต่อเนื่องในระยะยาว เพราะ Wall Street Journal ก็เคยรายงานในเดือนธันวาคมว่า Amazon กำลังเร่งกำจัดผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถทำกำไรจากรายการสินค้า ซึ่งการปฏิเสธที่จะโฆษณาสินค้าที่ขายขาดทุนนี้คาดว่าน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ลดการขายสินค้าโดยตรงของ Amazon ซึ่งสร้างกำไรได้น้อยกว่า
อย่างไรก็ตาม Amazon ถูกมองว่าจะต้องระมัดระวังกับการใช้กลยุทธ์จำกัดการโฆษณา เนื่องจาก Amazon ใช้โฆษณาเป็นตัวผลักดันการขายในเว็บไซต์ของตัวเอง การให้สิทธิพิเศษกับบางผลิตภัณฑ์แบบเหนือกว่าผลิตภัณฑ์อื่น อาจทำให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์หรือ conflict of interest ซึ่งจะเป็นภัยต่อ Amazon ในภายหลัง
ที่มา: : FastCompany