วันนี้แวะไปอ่าน ReadWriteWeb มา เจอบล็อกตอนหนึ่งที่สัมภาษณ์ Jason Calacanis ผู้ประกอบการด้านอินเทอร์เน็ตชาวอเมริกันชื่อดัง เจ้าของเว็บไซต์ที่ชื่อว่า Mahalo.com ที่เป็นแพลตฟอร์มสำหรับคนในการแชร์ความชำนิชำนาญส่วนตัวด้วยวิดีโอ วันนี้เขาขึ้นเวทีของ ReadWriteWeb และให้ความเห็นเกี่ยวกับการเขียน Blog และ Journalism (แบบเอียงๆ เข้าข้างตัวเองเล็กน้อย) แต่เห็นน่าสนใจดีเลยเอาบางส่วนที่เขาพูดมาแชร์ใน thumbsup
Calacanis คอมเมนต์แรงดีเหมือนกันครับ เขาคอมเมนต์ออกมาหลายประโยค แต่ผมขอรวบไว้ในประโยคเดียวละกันนะครับ
“Blog น่ะเหรอ มันตายไปตั้งนานแล้วล่ะ…. ในโลกนี้มีคนโง่เยอะแยะ และคนโง่ก็ไม่ควรมาเขียน Blog …ดังนั้นมันควรจะมีระบบอะไรที่ดีกว่านี้ในการที่จะกันพวกคนโง่ๆ ออกไป และเปิดทางให้คนฉลาดๆ เข้ามาเขียน Blog”
Jason พูดเรื่องนี้ในงาน ReadWriteWeb 2WAY Summit เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า การที่คุณจะเป็น Blogger ได้คุณจะต้องเป็นคนที่มีความเข้าใจในเรื่องที่ตัวเองเขียนมากๆ ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนั้นๆ อย่างแท้จริง เพราะในยุคใหม่ที่เรียกกันว่า Web 3.0 มันจะเป็นยุคของผู้เชี่ยวชาญ หรือ “Age of Expertise” เพราะอินเทอร์เน็ตทำให้ต้นทุนในการ publish เนื้อหาต่างๆ มันลดลงมาก พอคนทุกคนเขียน Blog ทำรายการทีวีบนอินเทอร์เน็ตได้ การที่เราจะสนใจใส่ใจเนื้อหาอะไรบนอินเทอร์เน็ตก็แสดงว่าเนื้อหามันจะต้องดีมากๆ? เราคงไม่เสียเวลาอ่านอะไรที่ไร้ประโยชน์และไม่คมจริง
Calacanis ยกตัวอย่างว่า ที่อเมริกามีเว็บไซต์แนว Local news อยู่ตัวหนึ่งชื่อว่า Patch.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของทาง AOL ที่เปิดให้คนมาเป็นนักข่าว เขียนและรายงานข่าวในพื้นที่ที่ตัวเองอยู่อาศัยและเปิดให้นักข่าวหารายได้จากสปอนเซอร์ในพื้นที่ของตัวเอง ซึ่ง Calacanis บอกชัดว่าโมเดลนี้ไม่เวิร์คและตายแล้ว เพราะมันไม่ลึกพอ อย่างเช่น มีร้านแมคโดนัีลด์มาเปิดในเมืองที่เราอยู่อาศัย การบอกว่ามีร้านมาเปิดมันไม่พอ แต่ิสิ่งที่คนต้องการก็คือราคาค่าแฟรนไชส์มันเท่าไหร่ล่ะ ทำแล้วจะเวิร์คไหม แล้วมันจะดีกับเศรษฐกิจในชุมชนนี้อย่างไร คนต้องการข้อมูลลึกๆ เหล่านี้
หรือพูดง่ายๆ ถ้าจะเขียน Blog ต้องรู้จริง ไม่รู้จริงจะอยู่ยาก และผลกระทบอีกทางหนึ่งก็คือพวก Blogger นี่แหละที่จะทำให้สื่อมวลชนในปัจจุบันทำงานยากขึ้นถ้าสื่อไม่ปรับตัวให้ดี ก็เขียนแพ้ Blogger ถึงแม้สื่อเดิมจะบอกว่าไม่จริงหรอกมีคนสนใจสื่อกระแสหลักมากกว่า Blogger เพราะสื่อเดิม Distribution ดีกว่า Blogger คนเดียว แต่ในยุคที่ Social Media สามารถแพร่กระจายความคิดของคนๆ หนึ่งให้กลายเป็นข่าวได้ทั่วโลก หัวใจของมันก็คือ “เนื้อหาใครดีกว่ากัน” ไม่ใช่ “ช่องทาง Distribution ใหญ่กว่า”
เท่าที่อ่านดู Calacanis เขาก็บอกว่า Blog และ Journalism แบบเดิมๆ มันไม่ได้ตายไปเสียทีเดียว แต่การจะทำให้คนมาสนใจเนื้อหาที่คุณเขียนได้คุณต้องเป็น Expert รู้ลึกรู้จริงในเรื่องนั้น เขาเลยสร้างชุมชนของคนที่ต้องการแสดงความชำนิชำนาญส่วนตัวขึ้นมา นั่นก็คือ Mahalo.com ลองเข้าไปดูกันได้นะครับ
ท้ายสุด ประเด็นที่ผมว่าน่าสนใจมองคล้ายและมองต่างไปจาก Calcanis มี 2 ข้อ
– การเขียน Blog? เป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวเรื่องผู้สื่อข่าวพลเมือง ดังนั้นการเขียน Blog หรือการรายงานข่าวแบบเดิมๆ ถ้านำเสนอข่าวพื้นๆ แบบ What, When, Where แต่ไม่มี How และข้อมูลที่สมบูรณ์เพียบพร้อมจะอยู่ลำบาก เพราะคุณค่าของนักข่าวที่ดีก็คือสืบเสาะทำข่าวเจาะ นักข่าวยุคใหม่ต้องมีวิธีการสืบเสาะทำข่าวเชิงลึกได้ดีกว่านักข่าวพลเมือง (แต่ถ้าคุณเขียนให้เพื่อนอ่านกลุ่มเล็กๆ นั่นก็อีกเรื่อง)
– Personal branding ของคนจะทวีความสำคัญมากขึ้น คนเราจะมีช่องทางในการแสดงความสามารถและความชำนาญส่วนตัวทางอินเทอร์เน็ตมากยิ่งขึ้น ผู้เสพสื่อเองก็มีความต้องการเข้าถึงข้อมูลในแบบที่ง่ายและเป็นกันเองมากยิ่งขึ้นด้วย