ท่านผู้อ่านรู้จักโครงการ Blogger’s Bootcamp by CP All ไหมคะ แต่หากใครไม่รู้จักก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหรอกค่ะ เพราะเพิ่งจัดมาเป็นปีที่ 2 เอง และทาง thumbsup ได้รวบรวมสิ่งที่น่าสนใจจากงานแถลงข่าวโครงการนี้ให้ฟังกันค่ะ
ทางผู้เขียนได้เข้าร่วมฟังที่มาที่ไปของการจัดงาน Blogger’s Bootcamp by CP All ครั้งที่ 2 นี้ รู้สึกเลยว่าเป็นโครงการที่น่าสนใจสำหรับ Blogger, Storyteller ที่ต้องทำเพจ/บล็อก ผู้สื่อข่าวออนไลน์ นักข่าวหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารที่ต้องส่งข่าวออนไลน์ด้วย นักการตลาดที่ต้องดูแลเว็บไซต์ให้กับแบรนด์ และอีกหลายเหตุผลที่ต้องเขียนคอนเทนต์เพื่อเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์หรือเพจก็ตามแต่ สามารถนำความรู้ไปใช้ต่อยอดและสร้างสรรค์ผลงานให้เกิดประโยชน์ในอนาคตได้ ซึ่ง thumbsup ได้รวบรวมเหตุผลที่คุณควรร่วมเข้าโครงการครั้งนี้มาให้ได้อ่านกันค่ะ
1. การร่วมมือครั้งนี้ มาจาก 3 หน่วยงาน คือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) และ สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย มีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อเป็นตัวกลางในการเชิญชวนคน
2. สิ่งที่ผู้จัดงานอยากส่งเสริมวงการนักเขียนออนไลน์คือ อยากให้มีจรรยาบรรณและมาตรฐานในการสื่อสารที่ดี รวมทั้งตระหนักถึงการรับผิดชอบต่อสังคม เพราะโลกออนไลน์ทุกวันนี้มาไว ไปไว blogger และ Influencer กลายเป็นบุคคลที่ต้องรับผิดชอบต่อคนอ่านและผู้ติดตามด้วย เพราะแฟนๆ เขาเชื่อถือคุณ และอาจจะนำคุณไปเป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิต หากเป็นตัวอย่างที่ชี้นำในทางที่ดีก็ถือว่าดีไป แต่ถ้าชี้นำแล้วผิดเกิดผลเสียตามมาก็ต้องร่วมรับผิดชอบ อย่างเช่น กรณีขายอาหารเสริม หรือผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก ขายตรง ที่ตอนนี้เกิดผลเสียมากมายในสังคมวงกว้าง
3. การเป็นบล็อกเกอร์ที่ดี เรื่องของเนื้อหาสำคัญมาก ต้องครบถ้วนและตรงประเด็น เพราะทุกคนมีข้อมูล และสร้างข้อมูลจากสิ่งที่รู้ได้ แต่ครบถ้วนและมากพอจะเล่าให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อ่านหรือไม่ ในแง่ของการศึกษาควรถ่ายทอดอย่างไร เล่าอย่างให้ให้เกิดประโยชน์ ไม่ว่าคุณเป็นคนทำคอนเทนต์ให้แบรนด์หรือเพจส่วนตัว ก็ต้องทราบก่อนว่าจะเล่าอย่างไรให้น่าสนใจ โดนใจกลุ่มเป้าหมาย คนฟังรู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว เนื้อหาเข้าใจง่าย อ่านแล้วอยากติดตามต่อ
4. ไม่ใช่แค่บล็อกเกอร์ที่ต้องเล่าให้ดีและมีจรรยาบรรณ นักสื่อสารมวลชนเองก็เช่นกัน ต้องเล่าให้ทันยุคสมัย เกาะกระแสแต่ขณะเดียวกันก็ไม่ควรหลงลืมจรรยาบรรณของอาชีพตนเองด้วย
5. การเปลี่ยนแปลงของโลกเป็นไปอย่างรวดเร็ว หรือแพลตฟอร์มเองก็เปลี่ยน environment ก็เปลี่ยน การมีศูนย์กลางอย่างสมาคมผู้ดูแลเว็บมาช่วยในการอัพเดทคนทำงานออนไลน์ และเป็นตัวกลางในการเปิดกว้างให้คนทำความรู้จักกันระหว่างคนทำคอนเทนต์ยุคเก่าและยุคใหม่เป็นสิ่งที่ดี เพื่ออนาคตจะได้เป็นการสร้างพลังให้คนออนไลน์ในการสื่อสารได้ดีขึ้น และจัดมาตรฐานการทำงานบนโลกออนไลน์อยู่บนพื้นฐานเดียวกัน
6. สำหรับเงื่อนไขของผู้สมัครเข้าร่วมโครงการได้จะต้องเป็นคนที่ต้องมีเพจ/บล็อก บนแพลตฟอร์มไหนก็ได้ ซึ่งทำขึ้นมานาน 6 เดือน ขณะนี้มีเพจชื่อดังหลายรายมาร่วมอบรมแล้ว เช่น Grappik (www.grappik.com), Gettalks Podcast (www.facebook.com/GetTalks, www.soundcloud.com/gettalks) PLOY STORY’s (http://ppploysmile.blogspot.com, https://ploystorys.blogspot.com) 6 August Journey (web.facebook.com/6AugustJourney/) just-ride-it (www.just-ride-it.com , www.facebook.com/justrideitteam/) และ TRIP’LE (www.facebook.com/tripleXanywhere) เป็นต้น
7. ด้านวิทยากรที่จะมาร่วมบรรยายพิเศษล้วนแล้วแต่เป็นมือฉมังของวงการออนไลน์ คือ ท้อฟฟี่-ชญาน์ทัต วงศ์มณี นักเขียนและนักสัมภาษณ์ จากเพจท้อฟฟี่ แบรดชอว์ และ The Standard, เอ็ม-ขจร เจียระนัยพาณิช บรรณาธิการบริหาร จาก MangoZero, เอม-นภพัฒน์ จักษ์อัตตนนท์ Digital Journalist จาก Workpoint, เนม-ธีรนัย สิทธิจำลอง Content Manager จาก Wongnai.com, อร-อรวี สมิทธิผล Co-founder & Writer จาก Content Shifu, นกแก้ว-นเรศ ติยะวัฒน์วิทยา บรรณาธิการบริหาร จาก Rainmaker.in.th, และ แอ๊ม-ศรัณย์ แบ่งกุศลจิต กรรมการสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย
8. การอบรมจะมาพร้อมเวิร์คช็อปลงมือปฏิบัติงาน
9. กำหนดการรับสมัคร 10 พฤษภาคมเป็นต้นไป ปิดรับสมัคร 5 มิถุนายน และประกาศรายชื่อวันที่ 12 มิถุนายน ทางเว็บไซต์และ Facebook Blogger’s Bootcamp by CP All
10. เข้าไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://blogger.cpall.co.th/th/ ค่ะ