ช่วงนี้หากติดตามบริษัทด้านเทคโนโลยีที่มีการเคลื่อนไหวเด่นชัด คงมีชื่อ บลูบิค กรุ๊ป ติดอยู่ด้วย เพราะเพิ่งดึงตัวใหญ่ของวงการบริหารหลายคนไปเสริมทัพ ไม่ว่าจะเป็น ธนา เธียรอัจฉริยะ จาก SCB ชลากรณ์ ปัญญาโฉม จากเวิร์คพ้อยท์ ครรชิต บุนะจินดา จากเซ็นทรัล รีเทล ไปนั่งเป็นบอร์ดบริหาร เพื่อเตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ระดมทุนในการนำไปลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่ออนาคต
บลูบิค กรุ๊ป เริ่มต้นธุรกิจเมื่อ 12 ก.ย.2556 ด้วยเงินทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท
“บริษัทไม่ได้มีการระดมทุนจากนักลงทุนต่างชาติเลย”
พชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เล่าย้อนถึงเรื่องราวเกี่ยวกับบริษัท แต่การเติบโตของบลูบิคนั้นน่าสนใจเพราะช่วงต้นปี 2562 มีการเพิ่มเงินลงทุน 5,000,000 บาท ก่อนที่ช่วงกลางปี จะเพิ่มขึ้นเป็น 20,000,000 บาท และเพิ่มอีกครั้งใน มี.ค. 2563 เป็น 20,408,000 บาท
นอกจากนี้ รายได้ของบลูบิคในปี 2562 ก็ทำได้ถึง 172,850,635 บาท คิดเป็นส่วนของกำไร 32,411,873 บาท เพิ่มขึ้น 68.67% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
ด้วยประสบการณ์ของผู้บริหารอย่าง พชร เคยทำงานร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกเช่น PwC และ BCG และเรียนจบด้านวิศวะกับบริหารธุรกิจมาก่อน การตั้งบลูบิคขึ้นมาไม่ได้มุ่งแค่ทำงานด้านพัฒนาเทคโนโลยีอย่างเดียวหรือเป็นบริษัทที่ให้คำปรึกษา (Consult) อย่างเดียว แต่เราต้องการผสมผสานระหว่างการเข้าไปเป็นที่ปรึกษาในการวางระบบเทคโนโลยีขององค์กรตั้งแต่เริ่มต้นเลย
ตอนนี้บริษัทมีพนักงาน 130 คนและยังอยากจะเพิ่มขึ้นอีกแต่จะเพิ่มขึ้นอีกเท่าหนึ่งเลยหรือไม่นั้น คงต้องดูก่อนว่าจะมีคนไทยในบริษัทระดับโลกสนใจจะเข้ามาทำงานกับเรามากน้อยแค่ไหน
ธุรกิจยุคนี้ใช้การแข่งขันแบบติดสปีด
ด้วยความเป็นธุรกิจแบบดิจิทัลมันจะเติบโตแค่เท่าตัวไม่ได้ แต่ต้องเป็นสิบเท่าร้อยเท่าเลย รวมทั้งต้องช่วยให้ธุรกิจไทยเพิ่มการแข่งขันด้านอินโนเวชั่นกับต่างประเทศได้
ดังนั้น บลูบิคจึงเข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้แก่บริษัทชั้นนำของไทยมากมาย ไม่ว่าจะเป็น TQM, SCB, BAM และยังธุรกิจค้าปลีก FMCG อสังหาริมทรัพย์ โทรคมนาคมและกลุ่มพลังงาน ผ่าน 5 บริการหลัก ได้แก่
- Management Consulting วางแผนด้านกลยุทธ์ เน้นเรื่องของ Digital Transformaiton การสร้าง Business Model ใหม่ เพื่อสร้างให้ธุรกิจเติบโต
- Design Consulting วางแผนออกแบบ Product&Service พัฒนา UXUI ให้เป็นสิ่งที่จับต้องได้และประสบความสำเร็จในทางธุรกิจ
- Enterprise งานด้าน Security การวาง Infrastructure สำหรับองค์กร
- Strategic PMO หรือ Project Management บริหารโครงการขนาดใหญ่ให้เป็นไปตามงบประมาณและเวลาที่กำหนดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- Deep Tech การวิเคราะห์ Big Data, AI, Machine Learning ต่างๆ
การเตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ
พชร เล่าว่า การที่เราดึงที่ปรึกษามือหนึ่งของไทยหลายคนเข้ามา ก็เพื่อเอาเงินทุนมาเพิ่มในการพัฒนาเทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มของตัวเอง แม้เราจะมีพาร์ทเนอร์ระดับโลกมากมาย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไปพึ่งพาคนอื่นได้ตลอด
แม้สัดส่วนรายได้ของเราในปีนี้ ยังคงเป็นเซอร์วิสด้านดิจิทัลถึง 40% และด้านอื่นๆ 60% แต่ก็เชื่อว่าในอนาคตสัดส่วนของการใช้แพลตฟอร์มของบลูบิคจะมากขึ้น เพราะเราอยากให้การจ่ายค่าบริการของลูกค้าได้ Value (คุณค่า) มากกว่าแค่การใช้เทคโนโลยีแบบทั่วไป
คุณธนา เธียรอัจฉริยะ ในฐานะประธานคณะกรรมการ กล่าวเสริมว่า ตอนที่เราตัดสินใจมานั่งตำแหน่งนี้ ก็เพราะเราอยากทำอะไรที่มันเพิ่มความรู้มากขึ้นครับ คือผมอ่ะ เสพติดคำขอบคุณ เวลาผมเข้าไปช่วยให้คำปรึกษาหรืออะไรสำเร็จสักอย่างแล้วพวกเขาขอบคุณผมและไปเลี้ยงกินข้าวกันแค่นั้นผมก็รู้สึกดีแล้ว อีกอย่างคือผมอยากสร้างบริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสัญชาติไทย ให้คนไทยอยากเข้ามาทำงานไม่แพ้บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลกเลยครับ
ทั้งนี้ บลูบิคอยู่ในขั้นตอนการเตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ในช่วงปลายปี แต่หลายขั้นตอนก็เตรียมเสร็จไปเยอะแล้ว แม้แต่ที่ปรึกษาที่ดึงเข้ามา ไม่ว่าจะเป็น ครรชิต บุนะจินดา ในตำแหน่งประธานคณะกรรมการนโยบายความเสี่ยงและกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน ชลากรณ์ ปัญญาโฉม ตำแหน่งประธานกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนและกรรมการตรวจสอบ วศิษฐ์ กาญจนหัตถกิจ ในตแหน่งคณะกรรมการตรวจสอบ กรรมการนโยบายความเสี่ยง และกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน เป็นต้น ก็ถือว่าเป็นมือหนึ่งในการสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนได้แล้ว
งานนี้ต้องจับตาดูว่าการเดินหน้าของบลูบิคในมือของพี่โจ้ ธนา และคุณพชร จะสามารถปั้นให้เป็นหนึ่งในบริษัทไทยที่ทัดเทียมระดับโลกตามที่คาดหวังได้หรือไม่