ทุกอุตสาหกรรมต้องเผชิญหน้ากับคลื่น “ดิจิทัล ดิสรัปชัน” ที่ไม่มีวันจบ เทคโนโลยีทั้งเก่าและใหม่ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว การปรับตัวของธุรกิจให้เท่าทันหรือรวดเร็วกว่า เป็นหนทางที่จะสามารถโต้คลื่น “ดิจิทัล ดิสรัปชัน” นำธุรกิจให้อยู่รอดในยุคเศรษฐกิจชะลอตัว
โดยปัจจุบันทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับหลายปัจจัยที่เข้ามาส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ ทั้งสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ปัจจัยความเสี่ยงทางการเมืองที่เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมทั้งทางตรงและทางอ้อม และอาจนำไปสู่การหยุดชะงักทางระบบดิจิทัลอย่างต่อเนื่องแบบเลี่ยงไม่ได้
ฉะนั้น นวัตกรรมจึงเป็นกุญแจสำคัญของการแข่งขัน บริษัทยักษ์ใหญ่เร่งปรับตัวโดยนำนวัตกรรมเข้าไปใช้ ในขณะที่ บริษัทที่ยังไม่พร้อมปรับตัว หรือปรับตัวไม่ได้อาจจะถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง และล้มไปในที่สุด ฉะนั้นการปรับตัวให้เข้ากับยุคดิจิทัลต้องทำอย่างไร? ยังเป็นโจทย์ที่หลายธุรกิจยังหาคำตอบ
“ขณะที่องค์กรนวัตกรรม หรือ Innovative company กำลังเติบโตแบบก้าวกระโดดจนก้าวขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจยุคปัจจุบัน ด้านกลุ่มธุรกิจดั้งเดิมกลับกำลังประสบปัญหาการปรับตัว และก้าวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของยุคดิจิทัลทั้งในแง่พฤติกรรมของลูกค้าและคู่แข่ง องค์กรใหญ่เหล่านั้นจึงพยายามนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้เพื่อส่งเสริมกระบวนการทำงานจนก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ซึ่งเป็นกุญแจความสำเร็จระยะยาวของธุรกิจ”
อย่างไรก็ตาม การคิด Innovation ไม่ใช่เรื่องง่าย และการลงมือสร้าง Innovation นั้นกลับเป็นสิ่งที่ยากกว่า Innovation หรือ นวัตกรรม คือการสร้างมูลค่าให้ลูกค้าด้วยการเสนอสิ่งใหม่ ๆ ช่วยแก้ไขปัญหาและข้อจำกัด (Pain Point) ให้คนกลุ่มใหญ่ได้ ที่ผ่านมาการสร้าง Innovation ประสบผลสำเร็จอย่างมากในกลุ่มสตาร์ทอัพ
เนื่องด้วยกระบวนการทำงานและโครงสร้างองค์กรที่ไม่ซับซ้อน มีกระบวนการตัดสินใจที่รวดเร็วในการทำงาน ประกอบกับทีมงานเป็นคนรุ่นใหม่มีทัศนคติกล้าคิด กล้าทำ กล้าทดลองสิ่งใหม่ ซึ่งเป็นต้นแบบการทำงานแบบ Agile ที่ธุรกิจดั้งเดิมพยายามนำมาปรับเพื่อพาธุรกิจก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลง
แต่กว่า 60% กลับต้องล้มเหลว เนื่องจากธุรกิจมีโครงสร้างองค์กรที่ขนาดใหญ่ มีรูปแบบการทำงานแบบขั้นบันได (Hierarchy) ไม่เอื้อต่อการสื่อสารและการทำงานที่รวดเร็ว อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ศูนย์กลาง ประกอบด้วยพนักงานหลากหลายเจเนอร์เรชั่น พนักงานมีงานประจำอยู่แล้ว หรือทีมยังยึดติดกับการทำงานแบบเก่า วัฒนธรรมองค์กรแบบเก่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ หรือเปลี่ยนได้ช้า และพนักงานไม่เข้าใจหลักการทำงานแบบ Agile จะทำได้อย่างไร ทั้งยังมองว่าไกลตัวเกินไป
Virtual Agile ทางลัดสู่การสร้าง Innovation ได้สำเร็จ
ปัจจุบัน Virtual Agile เข้ามาตอบโจทย์กลุ่มธุรกิจได้เป็นอย่างดี เนื่องจากองค์กรไม่ต้อง “ศูนย์เสียเวลา” ซึ่งเป็น “ต้นทุนมหาศาล” ของการทำธุรกิจในยุค “ดิจิทัล” ไม่ต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้าง วัฒนธรรมองค์กร โดยพนักงานประจำและองค์กรยังคงโฟกัสในหน้าที่ของแต่ละคนอย่างเต็มที่ Virtual Agile มาจากคำว่า Virtual ที่หมายถึงการจำลองเสมือนจริง
ฉะนั้นคำว่า Agile จึงหมายความว่า ทีมทำงานที่ประกอบไปด้วยบุคลากรจากหลายสายงาน เน้นการสื่อสารระหว่างบุคคลเพื่อความเข้าใจกันให้มากยิ่งขึ้น กระจายอำนาจการตัดสินใจ และเปลี่ยนวิธีการทำงาน จากการกำหนดเป้าหมายระยะยาวแบบมุ่งไปครั้งเดียว เป็นแบบระยะสั้นๆ หรือที่เรียกว่า สปรินท์ (Sprint) เพื่อให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจ ซึ่งเกิดขึ้นได้ทุกวัน และแก้ไขปัญหาข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
Virtual Agile เป็นการทำงานโดยไม่จำเป็นต้องสร้างระบบการทำงานขึ้นมาใหม่ สามารถทำงานควบคู่ไปกับการทำงานแบบดั้งเดิม ซึ่งในปัจจุบันธุรกิจดั้งเดิมเริ่มหันมา Virtual Agile มากขึ้น เนื่องจากจะลดการเสียดสีในการทำงานแบบเดิม ทั้งยังช่วยเติมเต็มความรู้ความสามารถในวิธีการทำงานแบบใหม่ ทำให้ภาพรวมองค์กรได้รับประสิทธิผลเดียวกันกับการทำงานแบบ Agile ซึ่ง Virtual Agile ช่วยแก้ไขข้อจำกัดของการนำ Agile มาใช้ในธุรกิจดั้งเดิมได้ทั้งหมด
Virtual Agile ถือเป็นทางลัดช่วยให้องค์กรขนาดใหญ่สามารถยืนหยัดอยู่รอดได้แม้ในยุค“ดิจิทัล ดิสรัปชัน” ด้วยจุดเด่นในเรื่องความคล่องตัวในการทำงาน แต่ส่งผลบวกในด้านอื่น ๆ ด้วย เหนือไปกว่านั้น Virtual Agile ยังช่วยยกระดับประสิทธิภาพของงานหรือสินค้าและบริการให้สูงขึ้น สามารถตอบโจทย์ความต้องการในตลาดได้ดีกว่า
อีกทั้งยังสามารถสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในตลาด ในด้านการทำงานของทีม Virtual Agile เป็นการทำงานแบบไร้กำแพงระหว่างฝ่าย ก่อให้เกิดการคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ จากการระดมสมองอย่างไม่มีขีดจำกัด ส่งผลให้สินค้าและบริการได้รับการพิจารณาและปรับปรุงจากทุกฝ่ายพร้อมๆ กัน มีระบบความคิดที่รอบคอบ สามารถดึงจุดแข็งของธุรกิจดั้งเดิมออกมาตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค แบบไร้ข้อผิดพลาดหรือมีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด
ที่สำคัญที่สุดคือ การร่วมงานอย่างใกล้ชิดและการสื่อสารที่ชัดเจน ทำให้ความสัมพันธ์ของผู้ร่วมงานใน ทีมดีขึ้นอย่างชัดเจน Virtual Agile นับเป็นทางลัดที่จะช่วยให้องค์กรสามารถสร้างจุดแข็งเดิมของธุรกิจเดิมให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้าง Innovation เพื่อโต้คลื่น “ดิจิทัล ดิสรัปชัน” และมรสุมเศรษฐกิจลูกแล้วลูกเล่าไปได้