ภาพประกอบจาก A World Gone Social
ในวันที่โซเชียลมีเดียกลายเป็นสิ่งที่เข้าถึงคนในวงกว้างได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นส่วนสำคัญที่มีผลต่อการบริโภคข้อมูลและตัดสินใจเลือกสินค้าและบริการ เราคงจะไม่สามารถมองข้ามมันได้อีกต่อไป และแน่นอนว่ายุคโซเชียล หรือ Social Age ได้มาถึงแล้วอย่างเป็นทางการ แล้วธุรกิจของคุณล่ะครับ พร้อมที่จะรับมือกับยุคใหม่นี้แค่ไหน? ลองมาเริ่มเตรียมตัวกันด้วยคู่มือง่ายๆ คุณภาพดีเล่มนี้กันดีกว่าครับ
A World Gone Social: How Companies Must Adapt To Survive นับเป็นหนังสือที่สามารถจับประเด็นการเปลี่ยนแปลงต่างๆ บนโลกเราหลังจากที่เข้าสู่ยุค Social Age ได้อย่างเห็นภาพ ผู้เขียน Ted Coiné ที่นิตยสาร Forbes จัดให้เป็น 1 ใน 10 ผู้ที่ทรงอิทธิพลที่สุดบนโลก social media และ Mark Babbitt ผู้ก่อตั้งและ CEO ของเว็บ YouTern ที่เว็บดังอย่าง Mashable จัดให้เป็น 1 ใน 5 ของสังคมออนไลน์สำหรับผู้เริ่มทำงานที่ดีที่สุด ได้กลั่นกรองประเด็นต่างๆ ออกมาได้อย่างตรงไปตรงมาพร้อมตัวอย่างที่เข้าใจง่าย ซึ่งหลักๆ แล้วหนังสือแบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ส่วนหลักๆ ดังนี้
- Section 1 จะเริ่มจากการเกริ่นที่มาที่ไปของคำว่า Social Age และเปรียบเทียบว่ายุคโซเชียลที่ว่านี้มันแตกต่างจากยุคอุตสาหกรรม (Industrial Age) อย่างไรบ้าง ตัวอย่างง่ายๆ เลยก็คือเรื่องของผู้บริโภคที่ผู้เขียนได้อธิบายว่า ผู้บริโภคไม่ได้ฟังข้อมูลจากแผนกการตลาดหรือโฆษณาของแบรนด์สินค้าเป็นหลักอีกต่อไป แต่พวกเขาเลือกที่จะพูดคุยกับผู้บริโภคด้วยกันเองเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและประสบการณ์ด้วย ซึ่งเปรียบได้กับว่าผู้บริโภคกลายเป็นผู้ที่ถือไพ่เหนือกว่า โดยใน Section 1 นี้มีตัวอย่างที่น่าสนใจหลายตัวอย่าง รวมถึง Bank of America หรือธนาคารแห่งสหรัฐอเมริกาที่ต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องการปรับตัว นอกจากนั้นใน section นี้ยังพูดรวมไปถึงพนักงานของบริษัทในยุค Social Age นี้ด้วย ซึ่งพนักงานในยุคใหม่นี้จะมีพฤติกรรมและมุมมองที่ถูกเห็นและถูกได้ยินชัดเจนขึ้นจากทั้งภายในและภายนอกองค์กร ตัวอย่างของ Target ซึ่งเป็นห้างยักษ์ใหญ่ก็ถูกหยิบยกมาแสดงให้เห็นถึง”เสียง”ที่ดังขึ้นของพนักงานเหล่านี้ สำหรับครึ่งหลังของ section แรกนี้จะอธิบายเพิ่มเติมไปถึงการรับสมัครพนักงาน การมีส่วนร่วม (engagement) รวมไปถึงเรื่องของชุมชน (community) ที่ต่างก็มีตัวอย่างยกขึ้นมาให้เห็นแทรกอยู่เป็นระยะๆ
- Section 2 จะขยับเข้ามาสู่เนื้อหาที่เข้มข้นขึ้น เริ่มจากการพูดถึงความท้าทายที่มีต่อองค์กรขนาดใหญ่ที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง อาจจะถึงกับล้มหายตายจากไปจากตลาดกันเลยทีเดียว ใน section นี้ยังมีการพูดถึงเรื่องของ Nano ที่เป็นลักษณะการทำงานของหน่วยงานเล็กๆ ที่รวมตัวทำงานให้เสร็จแล้วแยกย้ายกันไปทำงานอื่นต่อไป พร้อมกับตัวอย่างของ Hollywood ที่มีลักษณะการทำงานแบบ Nano ที่น่าสนใจ และผู้เขียนก็ได้ตั้งคำถามว่าแล้วองค์กรใหญ่ๆ จะปรับตัวให้เป็นแบบ Nano ได้หรือไม่ ส่วนที่น่าสนใจอีกเรื่องก็คือการบริหารจัดการองค์กรแบบราบ (flat) ซึ่งบทที่ 8 จะเจาะมุมมองต่างๆ อย่างครอบคลุม ถือว่าเปิดโลกทัศน์ได้ดีทีเดียว ก่อนที่จะจบ section ด้วยเรื่องของ OPEN หรือ Ordinary People, Extraordinary Network ซึ่งเป็นหัวข้อที่พูดถึงการที่คนธรรมดาสามารถที่จะรวมตัวกันให้กลายเป็นเครือข่ายที่ทรงพลังได้อย่างเหนือความคาดหมาย
นับเป็นหนังสืออีกเล่มที่มีคำชมจากคนที่มีชื่อเสียงและผู้บริหารชั้นนำเยอะมากๆ
- Section 3 ข้ามมาสู่ฝั่งของคนที่เป็นผู้นำในยุค Social Age บ้าง ซึ่งใน section นี้มีหลากหลายคำถามเพื่อกระตุ้นให้ผู้นำองค์กรได้คิดตาม ไม่ว่าจะเป็น “CEO ของคุณมีความเป็นโซเชียลสักแค่ไหน?” รวมไปถึงชี้ให้เห็นว่าพลังของผู้นำที่มีความเป็นโซเชียลนั้นน่าจับตามองขนาดไหน โดยผู้เขียนได้มีข้อแนะนำที่สามารถเริ่มได้ง่ายๆ ตัวอย่างเช่น ให้เริ่มสร้างความน่าเชื่อถือจากการเริ่มเขียนบล็อก หรือร่วมสนทนาบน Twitter ในหัวข้อที่ตัวเองถนัดเพื่อสร้างชื่อเสียงในสายตาของคนโซเชียล เป็นต้น และแน่นอนว่าในฐานะผู้นำ สิ่งที่สำคัญอย่างมากก็คือการสร้างทีมคุณภาพเยี่ยมในยุค Social Age ซึ่งบทบาทหนึ่งที่จะขาดไม่ได้เลยก็คือ Community Manager นั่นเอง และจุดมุ่งหมายสำคัญของการให้บริการในยุคนี้ก็คือ ประสบการณ์ที่ดีของลูกค้าต้องมาก่อนเสมอ และกลไกสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การเข้าถึงความเป็นส่วนตัวของลูกค้าให้มีชั้นเชิงขึ้นไปอีกระดับ
- Section 4 จะปิดด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับการลงทุนในโลกของโซเชียล ซึ่งแน่นอนว่าหลายๆ คนย่อมมีคำถามว่า แล้วผลตอบแทนหรือ ROI จากการลงทุนนี้จะเป็นอย่างไร และผู้เขียนยังพูดรวมไปถึงหัวข้อที่กำลังอยู่ในกระแสความสนใจนั่นก็คือเรื่องของ Cloud และ Big Data ด้วย ก่อนที่จะคาดการณ์ไปถึงเรื่องของอนาคตของธุรกิจเมื่อโลกของเราเข้าสู่ยุคโซเชียลอย่างเต็มตัวที่มีโอกาสอีกมากมายรออยู่ แต่แน่นอนว่าความโกลาหลก็จะมีให้เห็นอยู่ไม่น้อยเช่นเดียวกัน แล้วเราควรจะเตรียมตัวรับมือกับอนาคตเหล่านี้อย่างไร
จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่การขมวดเรื่องราวต่างๆ ให้เป็นกลุ่มก้อนอย่างชัดเจน แล้วแทรกด้วยตัวอย่างที่น่าสนใจที่เราอาจจะไม่ได้เห็นหรือได้ยินมาก่อน ลักษณะการเล่าเรื่องจะเสมือนการถามตอบและพูดคุยที่ไม่ได้ฟังดูเป็นหนังสือวิชาการ แต่กลับมีเนื้อหาที่ถูกวางเป็นขั้นเป็นตอนอย่างเข้าใจง่าย และถ้าตั้งใจอ่านดีๆ จะพบว่าเราสามารถที่จะย่อยเนื้อหาออกมาเป็นคู่มือง่ายๆ ที่สามารถเอาไปประยุกต์ใช้กับการทำงานในองค์กรได้ทันที ตัวอย่างเช่น เราจะทำให้องค์กรมีความราบ (flat) ลงได้อย่างไร? เป็นต้น
A World Gone Social: How Companies Must Adapt To Survive เหมาะกับผู้อ่านที่อยู่ในวัยทำงาน และอาจจะอยู่ในสายงานที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนเรื่องกลยุทธ์ การตลาด หรือแม้กระทั่งแผนกทรัพยากรบุคคลและการโฆษณา ที่สำคัญคือเหมาะกับผู้อ่านระดับบริหารที่กำลังเผชิญกับการถาโถมของยุคโซเชียลและกำลังมองหาทางรับมือกับการเปลี่ยนแปลงขององค์กร ซึ่งเนื้อหาที่เริ่มตั้งแต่ง่ายไปจนถึงการคาดการณ์อนาคตนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับการปรับตัวให้ทันท่วงที
คุณผู้อ่านที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมและหาซื้อ A World Gone Social: How Companies Must Adapt to Survive ได้แล้วที่ Asia Books ทุกสาขา หรือเข้าไปสั่งซื้อออนไลน์ได้ง่ายๆ ที่เว็บไซต์ www.asiabooks.com ครับ
ขอขอบคุณ Asia Books สำหรับหนังสือดีๆ ที่ให้ทางกองบรรณาธิการ thumbsup ได้รีวิวครับ