หากจะทำความรู้จักกับบริษัทหรือองค์กรใดสักแห่ง คงจะมีอยู่ไม่กี่วิธีที่จะได้ข้อมูลที่ลึกและละเอียด และหนึ่งในนั้นก็คือการที่ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรเป็นคนเล่าเอง How Google Works ก็เช่นกัน หนังสือที่ถ่ายทอดโดยผู้บริหารระดับสูงของ Google ที่ให้อะไรมากกว่าแค่รู้จักบริษัทอันดับต้นๆ ของโลกแห่งนี้
How Google Works เขียนโดย Eric Schmidt อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือ CEO ของ Google ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Chairman ของบริษัท และ Jonathan Rosenberg อดีต Senior Vice President ผู้ดูแลฝั่งผลิตภัณฑ์ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Chief Operating Officer ของ Motorola Mobility และเป็นที่ปรึกษาให้กับ Larry Page ผู้ดำรงตำแหน่ง CEO ของ Google คนปัจจุบัน
Eric Schmidt และ Jonathan Rosenberg
หนังสือเล่มนี้ถูกแบ่งออกเป็นส่วนๆ ที่ชัดเจน ประกอบไปด้วยส่วนของ Introduction ที่พูดถึงประสบการณ์ที่ทั้ง 2 คนได้เรียนรู้ตั้งแต่เข้ามาบริหารองค์กรนี้ ไม่ว่าจะเป็นการต่อกรกับ Microsoft, การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว รวมไปถึงมุมมองที่ทั้ง 2 คนมีต่อเหล่าพนักงานที่ถูกเรียกว่า smart creative หรือกลุ่มคนฉลาดที่มีความคิดสร้างสรรค์อยู่ในตัว ซึ่งสำหรับ Google แล้ว บุคคลประเภท smart creative เหล่านี้แตกต่างและมีบุคลิกที่ชัดเจน แถมได้รับการเปิดกว้างจากผู้บริหารให้สามารถแสดงความคิดเห็นและมีอิสระในการทำงานได้อย่างเต็มที่
ส่วนที่ 2 จะเริ่มขยับมาเจาะที่เรื่องของวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งในส่วน Culture นี้มีเนื้อหาหลายอย่างที่น่าสนใจและแตกต่างจากองค์กรทั่วๆ ไปที่เราคุ้นเคยกันอยู่อย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนให้โต๊ะพนักงานยุ่งเหยิง การผลักดันให้สภาพแวดล้อมของบริษัทดูแน่นขนัด รวมไปถึงเรื่องของการแต่งตัวที่เปิดกว้างเป็นอย่างมาก ซึ่งในส่วนนี้เราจะได้เห็นว่าด้วยเหตุผลอะไร ข้อบังคับหรือแนวคิดต่างๆ จึงดูตรงกันข้ามกับบริษัททั่วๆ ไปอย่างสิ้นเชิง และหลายๆ อย่างทำให้เรากลับมาคิดว่า สิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันขององค์กรเราเองมันดีอยู่หรือควรจะปรับปรุงกันแน่
ส่วนที่ 3 เน้นไปที่เรื่องของ Strategy หรือกลยุทธ์สำคัญๆ ของ Google ที่ผ่านมา ซึ่งในส่วนนี้ทั้ง 2 คนเล่าไว้ค่อนข้างชัดเจนถึงกระบวนการคิดในการพัฒนาบริการหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ว่าควรจะเริ่มจาก technical insights มากกว่ารายงานการวิจัยตลาดที่บริษัททั่วๆ ไปนิยมกัน นอกจากนั้น Google เองยังส่งเสริมอย่างชัดเจนในเรื่องของการเปิดกว้าง ซึ่งเป็นวิธีคิดที่เป็นรากฐานของทุกๆ บริการที่ Google ได้พัฒนามาจนถึงปัจจุบัน
ส่วนที่ 4 เป็นเรื่องของบุคคลากรหรือ Talent เป็นหลัก และโดยส่วนตัวแล้วผมว่าส่วนนี้ให้ข้อคิดมากที่สุดในการเอามาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน โดยทั้ง 2 คนเล่าถึงสิ่งที่ Google มองหาในตัวบุคคล การบริหารคนเก่งจำนวนมาก ความสำคัญของการสัมภาษณ์พนักงานใหม่ รวมไปถึงข้อแนะนำเล็กๆ น้อยๆ ที่เราอาจจะไม่ได้ใส่ใจ เช่น การประชุมไม่ควรใช้เวลาเกิน 30 นาทีเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด เป็นต้น
ส่วนที่ 5 เป็นเรื่องของการตัดสินใจ หรือ Decision ที่เราจะได้อ่านตัวอย่างจริงจากประสบการณ์ของทั้ง 2 คนและของ Google ในเหตุการณ์สำคัญๆ เช่น การเข้าไปทำธุรกิจในจีน การจัดการเรื่องกฎหมาย รวมไปถึงวิธีการรับมือกับปัญหาใหญ่ๆ ที่ผู้บริหาร Google เลือกใช้
สำหรับในส่วนที่เหลืออย่าง Communications, Innovations จะเป็นการเล่าถึงเทคนิคในการสื่อสารและการออกแบบองค์กรให้ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม ซึ่งทั้ง 2 ส่วนก็ยังคงแน่นไปด้วยตัวอย่างจริงของบริษัท รวมไปถึงวิธีการตัดสินใจของคนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเราจะได้เห็นเหมือนที่ผ่านมาว่า Google มีวิธีการของตัวเองที่เป็นเอกลักษณ์และไม่สามารถเอาวิธีการเดิมๆ จากบริษัทที่มีอายุมายาวนานมาใช้ได้เลย
ในส่วนสุดท้าย Conclusion ทั้ง 2 คนทิ้งท้ายด้วยการมองไปข้างหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง และความท้าทายขององค์กรจะมีอะไรบ้าง ซึ่งถือเป็นการฝากคำถามให้คนอ่านได้คิดตาม พร้อมกับความเห็นของทั้ง 2 คนว่าโอกาสนั้นมีอีกมากมายในอนาคตและเทคโนโลยีจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้
หนังสือเล่มนี้ใช้สไตล์การเล่าที่พาคนอ่านเข้าไปอยู่ในสถานการณ์นั้นๆ เราจะพบว่าตลอดทั้งเล่ม เราจะถูกดึงเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ต่างๆ ที่ท้าทาย และถูกตั้งคำถามให้คิดตามก่อนที่จะพบกับเฉลยว่าผู้เขียนนั้นผ่านสถานการณ์ต่างๆ มาได้อย่างไร ซึ่งภาษาที่ใช้แม้จะเป็นภาษาง่ายๆ แต่ก็มีสำนวน, แสลง, การอ้างอิงถึงเหตุการณ์หรือคำพูดของบุคคลดังอื่นๆ แทรกอยู่ตลอดเวลา (หลายๆ ครั้งต้องไป Google ตามว่าเขาพูดถึงอะไรอยู่) แต่โดยรวมแล้วถือว่าอ่านเพลินและได้ข้อคิดที่หลากหลาย และที่สำคัญ เราจะย้อนกลับมามองตัวเราเองตลอดเวลาที่อ่านว่า แล้วเราเป็นพนักงานที่ดีพอแล้วหรือยัง?
อย่างที่เกริ่นไปตอนต้นว่า ถึงหนังสือเล่มนี้จะเจาะไปที่เรื่องของการบริหารองค์กร Google แต่ข้อคิดที่ได้กลับมาถือว่ามีเยอะมากและมีหลากหลายข้อที่เราสามารถเอากลับมาปรับปรุงมุมมองและวิธีการทำงานหรือการตัดสินใจของเราเองได้ จึงอยากแนะนำให้ชาว thumbsupers ได้ลองหามาอ่านกันดูครับ และถึงแม้คุณจะไม่ได้เป็นแฟน Google คุณก็จะได้มุมมองดีๆ จากหนังสือเล่มนี้แน่นอนครับ
ภาพประกอบจาก Amazon และ Wikipedia