เคยแนะนำหนังสือไว้เล่มหนึ่งครับ ชื่อว่า ?ปัญญาญี่ปุ่น? โดยนักเขียนชื่อดัง ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา หนังสือเล่มนี้ออกมาพักใหญ่ๆ แล้วครับ แต่ ณ ตอนที่ผมอ่านตอนนั้นอ่านแล้วแทบวางไม่ลงเลยทีเดียว วันนี้เลยอยากเอามาบอกคนในกลุ่มที่กว้างขึ้นใน thumbsup ครับ
ปัญญาญี่ปุ่น เป็นการเล่าเรื่องว่าเมื่อประเทศญี่ปุ่นแพ้สงคราม สังคมแตกแยก เศรษฐกิจล่มสลาย กษัตริย์ถูกท้าทาย ญี่ปุ่นพลิกฟื้นจากหายนะได้อย่างไร โดยคุณภิญโญได้เล่าประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นผ่านวิกฤตอุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่น ที่แรกเริ่มเดิมทีเกิดจากการผลิตรถเพื่อเป็นยานพาหนะสำหรับทหารญี่ปุ่นในการสงคราม และเมื่อสงครามเลิกแล้วบริษัทอย่างโตโยต้า ฮอนด้าเดินทางต่อไปอย่างไร ท่ามกลางสภาพความขัดสนทางสังคม
ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับหนังสือเล่มนี้อยู่ตรงที่ จุดเปลี่ยนหรือจุดผลิกผันของญี่ปุ่นนั้นเกิดขึ้นจากจังหวะและโอกาส บวกกับความกล้าคิดกล้าทำ จนเกิดนวัตกรรม อย่างเช่น ตอนที่ญี่ปุ่นพบกับแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ทำให้เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ โซอิจิโร่ ฮอนด้า ผู้ก่อตั้งฮอนด้า ณ ขณะนั้นทำงานอยู่ในอู่รถยนต์แห่งหนึ่ง อู่นั้นได้รับความเสียหายมาก ช่างเก่งๆ ลาออกกันมาก ไม่ก็แยกย้ายกลับบ้านไป จากเดิมที่ไม่ค่อยมีโอกาสในการทำงาน ทำให้โซอิจิโร่มีโอกาสในการฝึกฝนทักษะ และแสดงฝีมือ
จากจุดนั้นเองโซอิจิโร่เริ่มเห็นว่าซี่ล้อรถยนต์ที่ทำด้วยไม้นั้น ถ้าหากประเทศญี่ปุ่นมีไฟไหม้ขึ้นมาอีกก็จะเสียหายได้ง่าย เขาจึงริเริ่มสร้างซี่ล้อจากอะลูมิเนียม ที่มีความแข็งแกร่งทานทนมากขึ้น จากนั้นเขาก็ร่ำรวย และหันมาจับตลาดอะไหล่รถยนต์ทำดีขึ้นเรื่อยๆ จนโตโยต้าขอถือหุ้นบริษัทเขาถึง 40%
จากนั้นในปี 1946 โซอิจิโร่ก็คิดถึงผลิตรถจักรยานยนต์ จากการที่เคยเห็นเครื่องยนต์ที่กองทัพญี่ปุ่นเคยใช้กับวิทยุสื่อสาร เขาเลยคิดว่าจำเครื่องยนต์ที่ว่านี้มาใช้กับจักรยาน อันเป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตจักรยานติดเครื่องยนต์ (หลายคนอาจคุ้นเคยกับมอเตอร์ไซค์ฮอนด้า ดรีม) ทำยอดขายสูงถึง 100 ล้านคันทั่วโลก และท้ายที่สุดฮอนด้าก็ก้าวเข้าไปเป็นผู้ผลิตรถยนต์ผู้ตีตลาดโลกอีกคำรบหนึ่ง
ใน ?ปัญญาญี่ปุ่น? ไม่ได้เล่าเพียงที่มาที่ไปของธุรกิจเท่านั้นนะครับ แต่หากยังเล่าถึงสภาพความรู้สึกของคนในญี่ปุ่นในช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก ความมุมานะ ความพยายาม ตลอดจนแรงใจไฟฝันที่จะพลิกฟื้นประเทศ อาจจะด้วยทัศนคติแบบ Never-say-die นั่นแหละที่ทำให้ญี่ปุ่นสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองและกลับมาเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งทุกครั้งที่เขาล้มลง
อ่านเรื่องของญี่ปุ่นในหนังสือเล่มนี้แล้วก็อดทึ่งในความพยายามของเขาไม่ได้ครับ แล้วคนไทยล่ะจะสร้างนวัตกรรมแบบเขาบ้างได้ไหม คำถามนี้น่าคิดครับ