หนึ่งในปัญหาที่คนทำงานไม่อยากเจอมากที่สุด คงไม่พ้นเรื่องของ “หัวหน้างาน” เพราะเป็นผู้ที่มีตำแหน่งสูง มีอำนาจในการตัดสินใจ และมีโอกาสที่จะอยู่ใกล้ชิดกับระดับ “บอส”
ซึ่งหากใครมีหัวหน้าหรือเจ้านายที่ดี คงถือว่าเป็นโชคดีอย่างหนึ่งในชีวิตการทำงาน แต่ถ้าใครเจอหัวหน้าแย่ ที่ชอบผลักภาระก็คงเป็นหนึ่งในโชคร้ายที่ทำให้คนทำงานอย่างเรา อยากที่จะหนีออกไป
ที่เราเกริ่นมาแบบนี้ เพราะเกิดจากดราม่าในรายการ มาสเตอร์เชฟ ไทยแลนด์ ซีซั่น 5 อีพี 12 ที่ชมสดหรือย้อนหลังได้แล้ว
ต้องยอมรับว่าตั้งแต่มีรายการมาสเตอร์เชฟเกิดขึ้นมาตั้งแต่มิถุนายน 2560 ก็ต้องยอมรับว่าเป็นรายการที่มีกลุ่มแฟนคลับเหนียวแน่นมาโดยตลอด ด้วยรูปแบบรายการที่เป็นการแข่งขันความสามารถของคนรักในการทำอาหาร
รูปแบบรายการที่มีความบีบหัวใจด้วยการใช้เวลามาเป็นตัวกำหนดความเร็วในการสร้างสรรค์เมนูอาหารใหม่ๆ ออกมา รวมทั้งเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในรายการก็เป็นส่วนหนึ่งที่ดึงดูดใจผู้ชมอย่างต่อเนื่อง
สิ่งหนึ่งที่ thumbsup จะพูดถึงในวันนี้ ก็คือ “ภาวะการเป็นผู้นำ” ของหัวหน้าทีมที่ต้องแข่งขันกันสร้างสรรค์เมนูอาหารให้แก่ทีมกู้ภัยและทีมอาสาช่วยเหลือ โดยเนื้อหาทั้งหมดเราจะไม่กล่าวถึง เราแค่จะพูดถึง หัวหน้าทีมคนหนึ่งในการแข่งขันครั้งนี้
สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนในการเป็นหัวหน้าทีม ที่มีลูกทีมกล่าวชัดเจนก่อนได้รับหน้าที่คือมีความน่าเป็นห่วงในเรื่องของการควบคุมอารมณ์ เพราะการแสดงออกหลายต่อหลายครั้ง ค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นคนใจร้อนและชอบเถึยงแบบไม่รับฟังเหตุผลของคนอื่น
ทั้งนี้ ขณะที่มีการคิดเมนูอาหารร่วมกับทีม การรับฟังเสียงของลูกทีม หรือแม้แต่การรับฟังข้อคิดเห็นของกรรมการ หัวหน้าทีมคนนี้ก็ชัดเจนว่า มีการแสดงออกว่าต่อต้านและเถียงคำพูดว่ากรรมการที่ถือว่าเป็นระดับ “บอส” อย่างชัดเจน
แม้จะมีการกล่าวแก้ตัวภายหลังว่า หากเกิดอะไรขึ้นจะรับผิดชอบเอง และยืนยันในความคิดของตนเอง
และยังคงมีกรณีความผิดพลาดของตนเองต่อเนื่องคือไม่มีการวางแผนเรื่องวัตถุดิบให้พร้อม และยังเป็นการโทษความผิดไปที่ฝ่ายงานอื่นๆ เมื่อตนเองผิดกลับไม่ยอมรับ แต่กลับแก้ตัวว่าคนอื่นผิด ตนเองไม่ได้ผิด ทั้งยังแสดงกิริยาอาการที่ไม่เหมาะสมในเรื่องของการพูดคุยกับระดับบอส
จนเมื่อถึงขั้นตอนประเมินงาน จากที่เคยกล่าวไว้แต่ต้นว่า จะเป็นผู้รับผิดชอบเอง แต่เมื่อกรรมการถามหาตัวแทนการรับผิดชอบเมื่อทำผิดกลับไม่กล้าก้าวออกมาและยอมรับความผิดนั้น แต่ให้ลูกทีมเป็นคนออกไปรับหน้าแทน
ในกรณีเหล่านี้ เรามักพบเห็นกันอย่างมากในการทำงานชีวิตจริง ไม่ว่าจะเป็น การทำผิดและไม่ยอมรับผลของการกระทำ การโยนความผิดให้คนอื่น และการเอาหน้าเมื่อตัวเองได้รับรางวัล
ซึ่งเป็นเรื่องปกติในชีวิตการทำงาน ที่หลายคนมักจะต้องเจอเรื่องความขัดแย้ง การเป็นหัวหน้าที่ดีคือต้องแสดงความเป็นผู้นำ แต่กลับนิ่งเฉยและเลือกที่จะไม่แสดงตัวยอมรับความผิดนั้น เพื่อปล่อยให้ความผิดนั้นผ่านไปในแต่ละวัน
ดังนั้น 10 วิธีการเป็นหัวหน้าที่ลูกน้องรัก คือ
- มีความเป็นผู้นำ
- มีความยุติธรรม
- มีความรับผิดชอบต่องานที่ปฏิบัติ
- ทำงานเป็นระบบ
- เป็นนักแก้ไขปัญหา
- เปิดใจและรับฟังความคิดเห็น
- มีความคิดสร้างสรรค์
- ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือ
- เป็นผู้พัฒนาสมาชิกในทีม
- ไม่ถือตัวและให้เกียรติ
ส่วนการเป็นลูกน้องที่ดี คือ
- รับผิดชอบต่องาน
- สร้างทัศนคติเชิงบวก
- แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้
- หมั่นหาความรู้เพิ่มเติม
- ให้เกียรติหัวหน้างาน เชื่อมั่นในการตัดสินใจ และเคารพในการทำงานซึ่งกันและกัน
- นำเสนอความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานและสร้างผลงาน
- ทำงานที่ได้รับมอบหมายจากเจ้านายได้เต็มประสิทธิภาพ
- บริหารเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพ
- รายงานความคืบหน้าเพื่อให้เห็นถึงความสำเร็จของชิ้นงาน
- เชื่อมั่นในตัวเจ้านาย
แล้วทีมที่คุณทำงานอยู่ด้วยในตอนนี้เป็นอย่างไร ลองแชร์กันได้นะคะ