นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ภาวะปกติหรือเท่ากับก่อนวิกฤตโควิด-19 ในไตรมาส 3 ปี 2565
คาดจีดีพีปีนี้ติดลบ 7.8-8% และมองว่าเศรษฐกิจจะติดลบจนถึงไตรมาส 1 ปี 2564 พร้อมเปิดแนวโน้ม 3 ด้านที่เปลี่ยนไปและ 6 โจทย์ใหญ่ที่ธปท. ต้องทำ
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในโอกาสพบสื่อมวลชนเป็นครั้งแรกว่า แนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทย คาดว่าจะติดลบต่อเนื่องถึงไตรมาส 1 ปี 2564 ก่อนที่จะพลิกกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในไตรมาส 2/64 และคาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ภาวะปกติก่อนที่จะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วง ไตรมาส 3/65
ส่วนแนวโน้มจีดีพีไทยในปีนี้ คาดว่าจะติดลบ 7.8-8% โดยยอมรับว่า วิกฤติโควิด-19 เป็นวิกฤติสาธารณสุขที่ลุกลามและส่งผลกระทบเชื่อมโยงทั่วโลก ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักพร้อมกันในหลายประเทศ รวมทั้งไทยที่ต้องล็อกดาวน์จนมีผลกระทบถึงผู้ประกอบการและประชาชนจำนวนมาก
สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยในปีนี้คาดว่าจะเหลือ 6.7 ล้านคน จากเดิมที่มีนักท่องเที่ยวเกือบ 40 ล้านคน หรือคิดเป็นรายรับที่หายไปถึง 10% ของจีดีพี ด้านการส่งออกสินค้าไทยในไตรมาส 2/63 หดตัวหนักที่สุดในรอบ 11 ปี เปรียบเสมือนอาการของผู้ป่วยหนักที่รักษาตัวอยู่ในห้องไอซียู
ปัจจัย 3 ด้านที่เปลี่ยนไป
1.การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจแตกต่างกันมาก ทั้งในมิติของสาขาเศรษฐกิจ มิติเชิงพื้นที่ และขนาดของธุรกิจ
2.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคาดว่าจะใช้เวลานานไม่น้อยกว่า 2 ปี ในการกลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 ส่วนหนึ่งเพราะโครงสร้างของสินค้าและตลาดส่งออกของไทยกระจุกอยู่ในกลุ่มสินค้าและตลาดที่ฟื้นตัวช้า
3.ยังมีความไม่แน่นอนว่าวัคซีนจะสำเร็จเมื่อไหร่ ภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ระดับไหน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นครั้งนี้สามารถแก้ไขได้ แต่ต้องอาศัยเวลาและการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดอย่างคุ้มค่า
โจทย์ใหญ่ของ ธปท.
1.แก้วิกฤติหนี้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเอสเอ็มอี รายย่อย เพื่อให้ผ่านพ้นจากวิกฤติ โดยการดูแลสภาพคล่อง การดูแลปรับโครงสร้างหนี้
2.รักษาเสถียรภาพระบบการเงินให้เข้มแข็ง มีทุนสำรองเพียงพอ เพื่อให้มั่นใจว่าสถาบันการเงินจะสามารถทำหน้าที่ในการหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้
3.รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค คือ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อรองรับหลังวิกฤติโควิด-19 และรองรับกับความผันผวนที่จะเกิดขึ้นกับภาคการเงินด้วย
4.ความเชื่อมั่นของสาธารณชน การสื่อสารกับประชาชน
5.ประสิทธิการดำเนินงาน และสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทย
พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า ธปท. เชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งพอที่จะก้าวพ้นวิกฤตในครั้งนี้ เพราะสามารถคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดได้ดี เสถียรภาพการเงินอยู่ในเกณฑ์ดี เสถียรภาพต่างประเทศเข้มแข็ง หนี้สาธารณะยังอยู่ต่ำกว่าเพดานหนี้สาธารณะและยังสามารถบริหารจัดการหนี้ได้
ที่มา efinancethai