Site icon Thumbsup

เปิดเหตุผลทำไมธปท. ต้องสั่งแบงค์ “งดจ่ายเงินปันผล” และ “งดซื้อหุ้นคืน”

เมื่อวันที่ (19 มิ.ย) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่าย “เงินปันผลระหว่างกาล” และ “งดซื้อหุ้นคืน” โดยระบุคำชี้แจงว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนและได้รับผลกระทบอย่างมาก การให้ธนาคารพาณิชย์รักษาระดับเงินกองทุนให้เข้มแข็งและรองรับการดำเนินธุรกิจจะเป็นภูมิคุ้มกันในการรองรับผลกระทบ รวมถึงสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นฟูอย่างเต็มที่

“งดจ่ายเงินปันผล” และ “งดซื้อหุ้นคืน”

ในภาวะปกติ ธนาคารพาณิชย์บางแห่งจะจ่าย “เงินปันผลระหว่างกาล” ให้แก่ผู้ถือหุ้นในช่วงเดือนสิงหาคม ส่วนการ “ซื้อหุ้นคืน” นั้น ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์บางแห่งที่คิดว่ามีเงินกองทุนในระดับสูงเกินความจำเป็น หรือเห็นว่าราคาหุ้นในตลาดลงไปอยู่ในระดับต่ำเกินควร ได้มีแผน “ซื้อหุ้นคืน” จากผู้ถือหุ้นทั่วไปเพื่อนำไปลงทุนในอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้ระดับเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ลดลง

ทำไมต้องรักษาระดับเงินกองทุน

ระดับเงินกองทุนถือเป็นภูมิคุ้มกันสำหรับเศรษฐกิจ การรักษาระดับกองทุนจะช่วยรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นรวมถึงสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นฟูได้อย่างเต็มที่ โดยธนาคารพาณิชย์จะสามารถปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการได้มากขึ้น ทำให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

การออกนโยบายดังกล่าวเกิดขึ้นทั่วโลก เช่น อังกฤษขอให้งดซื้อหุ้นคืนและขอให้งดการจ่ายเงินปันผลประจำปีจากผลประกอบการของปีที่แล้ว ส่วนสหภาพยุโรป และนิวซีแลนด์ขอให้งดซื้อหุ้นคืนและงดการจ่ายเงินปันผลไประยะเวลาหนึ่ง รวมทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ​ (IMF) ได้ออกมาสนับสนุนให้ธนาคารกลางและผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินทั่วโลกมีนโยบายระงับการจ่ายเงินปันผลและการซื้อหุ้นคืนของธนาคารพาณิชย์ด้วย

ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้มองผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวไว้ ดังนี้

1.ส่งผลกดดันตลาดหุ้นไทยในภาพรวม ส่วนหนึ่งเพราะการส่งสัญญาณของ ธปท. สะท้อนมุมมองเชิงลบต่อธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ

2.เงินปันผลจะหายไปราวรวมทั้งหมด 1.43 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนเงินปันผลปี 2563 สำหรับ SET Banking ลดลง 1.15% และสำหรับ SET ลดลงประมาณ 0.1%

3.อาจเกิดการเปลี่ยนเซกเตอร์สู่หุ้นขนาดใหญ่ปันผลสูงกลุ่มอื่นแทนดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคารปัจจุบัน