เวลาพูดถึงวงการ startup ที่มีความเกี่ยวข้องกับ Digital Marketing ในเมืองไทยผมจะนึกถึง Computerlogy ของ Vachara Aemavat แต่ถ้าพูดถึงเมืองนอกผมจะนึกถึง “Bottlenose” บริษัท startup ที่สร้างเครื่องมือในการตรวจสอบเทรนด์บนโลกออนไลน์ วันนี้พวกเขาทำเกินไปกว่าการตรวจสอบเทรนด์ธรรมดา แต่ขยายไปถึงการทำ Broadcast Analytics ที่เปิดให้ลูกค้าเข้ามาดู data ของรายการโทรทัศน์และวิทยุได้แบบ real-time น่าสนใจอย่างไร? มาดูกัน
ล่าสุด Bottlenose ได้เป็นพันธมิตรกับบริษัท media monitoring ที่ชื่อว่า Critical Mention โดยทางบริษัทได้เผยว่า Critical Mention เป็นบริษัทที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูลวิดีโอและไฟล์เสียงจากรายการโทรทัศน์และรายการวิทยุที่ออกอากาศอยู่ทุกๆ นาทีแล้วจะนำมาแปลงเป็น text ส่งเข้าระบบของ Bottlenose ซึ่งมันจะนำเอา data ของ Critical Mention มาวิเคราะห์
แล้วมันมีประโยชน์อย่างไร? ประโยชน์นั้นชัดเจนมากครับ กล่าวคือ หากมีบริษัทลูกค้าต้องการใช้ data นี้ในการตรวจสอบว่ามีคนพูดกล่าวถึงชื่อบริษัทผ่านรายการโทรทัศน์และวิทยุบ่อยแค่ไหน มี Brand mention กี่ครั้ง ก็จะสามารถจับได้ว่ากี่ครั้งในหัวข้ออะไร เกี่ยวข้องกันอย่างไร แถมตามดูได้ด้วยว่าพูดในเชิงบวกและเชิงลบมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ซึ่งจะพาไปสู่การวิเคราะห์ในการซื้อโฆษณาในที่สุด
ปกติแล้ว Bottlenose จะเป็นบริษัทที่มีความสามารถในการวิเคราะห์ social media แต่ไม่เคยมี broadcast data แต่คราวนี้ Bottlenose จะมี real-time data อยู่ในตัวผลิตภัณฑ์ของบริษัท โดยทางบริษัทยังออกมาบอกอีกว่า บริษัทแนวเดียวกันทำได้เต็มที่ก็คือมี realtime data แล้วก็เอามาวิเคราะห์ แต่ Bottlenose จะมีระบบที่วิเคราะห์ data ในขณะที่กำลังเก็บข้อมูลในเวลาเดียวกัน และด้วยผลของการสร้างนวัตกรรมเหล่านี้ออกมา ล่าสุด Bottlenose ก็เพิ่มทุนอีกราว 6 ล้านเหรียญ
เมืองไทยเรียนรู้อะไร? (ขอเอากลับมาซะทีนะครับ ฮ่าๆ)
ในเมืองไทยตอนนี้เท่าที่ผมเจอ จะเป็นบริษัทที่ทำ Social Monitoring, Social Network Management บางบริษัทก็เน้นไปในทางวิเคราะห์ข้อมูลขายลูกค้า บางบริษัทก็เน้นพัฒนาเครื่องมือ แล้วหันไปทำระบบโฆษณาบน Social Network แต่ผมยังไม่เห็นใครอาจหาญทำแบบ Bottlenose คือวิเคราะห์ข้อมูลการออกอากาศของสื่อดั้งเดิมมาผสมกับ Social Media แล้วมาดูว่ามันเกี่ยวข้องกันอย่างไร อ่านข่าวนี้แล้วก็รู้สึกทึ่งไม่น้อย
แบบว่าอิจฉาครับ อยากเห็น startup ไทยกล้าๆ ทำอะไรแนวนี้บ้าง
ที่มา: TechCrunch