การเป็น Publisher ในยุคโซเชียลมีเดียมีทั้งด้านที่ได้ประโยชน์และด้านที่สร้างความกดดัน เพราะเมื่อมองมาจากฝั่ง Publisher ก็อาจจะสงสัยว่า ถ้าพาดหัวทำให้คนสนใจได้ แล้วความสนใจนั้นจะเผื่อแผ่มายังตัว Publisher ด้วยหรือไม่
งานวิจัยนี้จัดทำโดย Digital Content Next ทีมวิจัยพบว่าผู้อ่านจำนวน 57% จะรู้ว่าตัวเองกำลังคลิกเข้าไปอ่านเนื้อหาของ Publisher เจ้าไหน ซึ่งก็แปลว่าที่เหลือ หรืออีก 43% ไม่ได้ใส่ใจแหล่งที่มาของมัน
แต่ข้อมูลจากงานวิจัยนี้ก็ไม่ได้รายละเอียดของแต่ละแพลตฟอร์มมาให้ (Facebook, Twitter หรืออื่นๆ)
ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่า Publisher ที่เป็นที่รู้จักจะได้ประโยชน์ไปเต็มๆ จากการใช้โซเชียลมีเดีย โดย Jason Kint ซีอีโอของบริษัทที่ทำวิจัยนี้บอกว่ามันเป็นข่าวดีของคนทำคอนเทนต์
“อย่างน้อยๆ ผู้อ่านมากกว่าครึ่งก็มองหาข่าวจากสำนักที่พวกเขาไว้ใจ และความไว้วางใจก็เป็นเรื่องสำคัญมาก ต่อให้เขาจะคลิกหรือไม่คลิกเข้าไปอ่านก็เถอะ”
ส่วนสำนักข่าวใหม่ๆ ที่เพิ่งสร้างตัวขึ้นมาก็จะได้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดียเช่นกัน เพราะสามารถสร้างความไว้วางใจในยุคนี้ได้ง่ายกว่าเดิม เพียงแค่มอบประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับผู้อ่าน (ฟังดูง่าย แต่ต้องใช้ความพิถีพิถัน)
แต่ก็ใช่ว่าทุกสำนักจะได้ประโยชน์เหมือนๆ กัน เพราะซีอีโอรายนี้ให้ความเห็นว่า Publisher รายเล็กๆ มีทรัพยากรไม่มากพอที่จะดึงดูดความสนใจได้บน Facebook อย่างที่เรารู้กันว่าในตอนนี้มันเป็นเรื่องสำคัญมาก อย่างเช่น วิดีโอ การถ่ายทอดสด ที่จะมีแต่สำนักใหญ่ๆ ที่มีเครื่องไม้เครื่องมือในการผลิตให้มันออกมาดูดี
เมื่อลงลึกไปในรายละเอียด ผลวิจัยนี้บอกว่า Publisher แต่ละประเภทจะได้รับ Brand awareness ที่ต่างกันออกไป เช่น ข่าวและกีฬา จะมีการรับรู้ในแบรนด์สูงมาก โดยกลุ่มตัวอย่าง 61% ยืนยันเช่นนั้น
สำหรับ Publisher ของคอนเทนต์ประเภทไลฟ์สไตล์ จะมี Brand awareness น้อยที่สุด คือ 52% ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะว่าไลฟ์สไตล์เป็นเรื่องของกระแสซะส่วนใหญ่
นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่าง 40% บอกว่า พวกเขาจะคลิกเข้าไปอ่านคอนเทนต์จากเว็บที่ไม่คุ้นเคย ถ้าได้รับการแนะนำจากโซเชียลมีเดีย ที่น่าสนใจก็คือ ผู้อ่านในช่วงอายุ 12-19 มีเพียงแค่ 19% เท่านั้นที่จะคลิกลิงก์จากเว็บแปลกหน้า
ถือเป็นข้อค้นพบที่ต่างจากงานวิจัยชิ้นอื่นๆ ที่บอกว่ากลุ่มวัยรุ่นไม่มีความจงรักภักดีกับแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับคนวัยผู้ใหญ่
อีกประเด็นที่ Publisher มีความกังวลก็คือ ถ้าผู้อ่านสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ที่สนใจผ่านโซเชียลมีเดียได้ แล้วที่เว็บไซต์ล่ะ จะมีใครเข้าไปอ่านเนื้อหาในนั้นอย่างตั้งใจหรือไม่ เพราะมันคือที่ที่สำนักข่าวสามารถควบคุม User experience ได้ และสำนักข่าวจะได้เงินค่าโฆษณาจากตรงนั้น
ข้อมูลจากงานวิจัยนี้บอกว่า จริงๆ แล้วผู้อ่านก็เข้าถึงเนื้อหาจากทุกช่องทางเท่าๆ กัน โดยตัวเลขก็คือ เข้าไปอ่านโดยตรงในเว็บหรือแอปของสำนักข่าว 35% ค้นหาผ่าน Search engine 31% และโซเชียลมีเดีย 34%
ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่าง 69% ระบุว่า โซเชียลมีเดียช่วยให้พวกเขาค้นพบเรื่องน่าสนใจก็จริง แต่ประสบการณ์ดีๆ ที่จะทำให้เข้าไปชมที่เว็บไซต์อีกก็มาจากตัวเว็บและเนื้อหาในนั้น
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้อาจจะสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้อ่านชาวไทยก็ได้ ดังนั้น ถ้าจะมีองค์ไหน หรือใคร ที่ลุกขึ้นมาทำงานวิจัยแบบนี้ก็จะเป็นประโยชน์กับวงการดิจิทัลคอนเทนต์เป็นอย่างมาก
ที่มา : Digiday