ทวิตเตอร์ (Twitter) ประกาศ 10 อันดับแบรนด์ชั้นนำในไทยภายใต้รายงานที่ชื่อว่า #BrandsOnTwitter เป็นครั้งแรก โดยวัดจากการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้บริโภคในช่วงไตรมาสแรกปี 2562 (ระหว่าง 1 มกราคม – 31 มีนาคม 2562) แบรนด์ที่ติดอันดับนั้นมีทั้งกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค โทรคมนาคม และธนาคาร
10 อันดับแบรนด์ชั้นนำบนทวิตเตอร์ไทย (ไตรมาสแรก ปี 2562) มีดังนี้
- AIS (@AIS_Thailand)
- Oishi Drink Station (@OishiDrinkTH)
- Watsons Thailand (@WatsonsThailand)
- Samsung Mobile Thailand (@SamsungMobileTH)
- MK Restaurants (@MK_Restaurants)
- KBank (@KBank_Live)
- 7-Eleven Thailand (@7ElevenThailand)
- L’Oreal Paris TH (@LOrealParisTH)
- Wall’s Thailand (@Walls_Thailand)
- Lays Thailand (@laysthailand)
4 วิธีที่แบรนด์โปรโมทตัวเองบนทวิตเตอร์
Twitter ระบุว่า จากการวิเคราะห์ความสำเร็จของ 10 แบรนด์ข้างต้น พบว่ามี 4 วิธีหลักๆ ที่ท็อปแบรนด์เลือกใช้ทวิตเตอร์เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคและผู้ใช้ทวิตเตอร์ในประเทศไทย มีดังนี้
1. พลังของคลิปวีดีโอ
สถิติยอดเข้าชมวีดีโอบนทวิตเตอร์ในประเทศไทยมีการเติบโตขึ้น 50% ในปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้แบรนด์สินค้าต่างๆ ตระหนักถึงพลังอันมหาศาลของคลิปวีดีโอบนทวิตเตอร์
งานวิจัยของทวิตเตอร์แสดงให้เห็นว่า การทวีตพร้อมวีดีโอช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมมากขึ้นกว่า 10 เท่าเมื่อเทียบกับการทวีตแบบที่ไม่มีวีดีโอ
อีกทั้งวีดีโอโฆษณาแบบในสตรีม (โฆษณาที่ต้องดูให้จบก่อนที่จะแสดงวีดีโอคอนเทนท์หลักของผู้เผยแพร่บนทวิตเตอร์) ช่วยเพิ่มการจดจำในโฆษณาขึ้น 70% ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความตั้งใจที่จะซื้อสินค้าสูงขึ้น 6% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้รับชมวีดีโอโฆษณา
ทำให้แบรนด์ในประเทศไทยต่างกำลังลงทุนในการทำวีดีโอที่สร้างสรรค์และมีคุณภาพสูงเพื่อโปรโมตผลิตภัณฑ์และบริการอย่างต่อเนื่อง หวังดึงกลุ่มเป้าหมายให้เข้ามามีส่วนร่วมกับแบรนด์มากขึ้น
อย่างเช่น Samsung Mobile TH ที่ทำให้สมาร์ทโฟน #GalaxyA50TH กับแคมเปญ #WeMakeADifference เป็นที่กล่าวถึงอย่างมากในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 ซึ่งมีอินฟลูเอนเซอร์และบล็อกเกอร์มาช่วยเน้นถึงฟังก์ชั่นที่แตกต่างของสมาร์ทโฟนรุ่นนี้
ในขณะที่บางแบรนด์ใช้วีดีโอในการให้ข้อมูลกับผู้บริโภค อย่าง KBank Live ที่ทำวีดีโอให้ความรู้กับเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงินที่ปลอดภัย ด้วยการสร้างแคมเปญแนะนำเรื่องการไม่เปิดเผยข้อมูลให้กับผู้อื่นและรักษาข้อมูลส่วนตัวไว้เป็นความลับ
ซึ่งเป็นการนำเนื้อหาที่อาจจะเข้าใจยากมาผสมผสานกับรูปแบบการทำวีดีโอสั้นในแนวตลก ทำให้วีดีโอตัวนี้ของ KBank Live ดูสนุกและกลายเป็นที่จดจำมากขึ้น
2. ขยายภาพลักษณ์ของแบรนด์ผ่านการร่วมงานกับคนดัง
หลายแบรนด์ที่ติดอันดับ Top 10 บนทวิตเตอร์ในไทย ใช้กลยุทธ์การร่วมงานกับคนดัง ด้วยการใช้กลยุทธ์ออฟไลน์ ออนไลน์ และทำให้เกิดการสนทนาบนทวิตเตอร์
ในไตรมาสแรกของปีนี้ 7-Eleven Thailand ลุยทำการตลาดในเรื่องบัตรสมาชิกและแอปพลิเคชั่น ALL Member ด้วยการดึง “นาย ณภัทร” มาร่วมสร้างการมีส่วนร่วมกับสังคมทวิตเตอร์ทั่วไทย และประสบความสำเร็จในการโปรโมต #AllMember
MKRestaurants_TH (@MK_Restaurants) ได้สร้างภาพลักษณ์ให้มากกว่าการเป็นธุรกิจร้านอาหาร ด้วยการสร้างกระแสก่อนเปิดตัวแคมเปญ #MKX บนทวิตเตอร์ เพื่อผูกแบรนด์เข้ากับไลฟ์สไตล์ต่างๆ เช่น การทำอาหาร ศิลปะ เกม ดนตรี และแฟชั่น ซึ่งหลังจากทวีตข้อความว่าอยากเห็น MK ไป “X” กับอะไรอย่างต่อเนื่อง ท้ายที่สุด MK ก็ประกาศความร่วมมือกับแบรนด์แฟชั่นชื่อดังอย่าง “มิลิน”เป็นครั้งแรก
3. ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในบทสนทนา
ผู้ใช้ทวิตเตอร์เป็นผู้มีอิทธิพล เปิดกว้างต่อแนวคิด ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ และชอบที่จะได้เป็นกลุ่มแรกที่ได้ลองและได้ซื้อ การสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้ใช้ทวิตเตอร์และสังคมทวิตเตอร์นั้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับแบรนด์ต่างๆ ในการสร้างความน่าเชื่อถือและได้ผลตอบแทนการลงทุนที่คุ้มค่าสูงสุด
ในไตรมาสแรกของปีนี้ Watsons Thailand พยายามสร้างคอนเทนต์ออกมาอย่างสม่ำเสมอ เช่น การแชร์เคล็ดลับความงาม การเล่นเกมและแจกของรางวัล รีวิวผลิตภัณฑ์ และจัดโปรโมชั่นด้วยข้อเสนอที่สามารถใช้ได้ทั้งการซื้อสินค้าในร้านและผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งวัตสันงัดกลยุทธ์การตลาดออนไลน์สู่ออฟไลน์และออนไลน์สู่ออนไลน์ ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคบนทวิตเตอร์
การได้รู้ว่าผู้บริโภคนั้นกำลังพูดถึงสิ่งใดบนทวิตเตอร์ช่วยให้แบรนด์กำหนดเป้าหมายได้ถูกต้องมากขึ้น และการเข้าไปร่วมในบทสนทนาก็ช่วยสร้างความเชื่อถือและความจงรักภักดีระหว่างผู้บริโภคต่อแบรนด์นั้นๆ อีกด้วย
การรีทวีตข้อความบนทวิตเตอร์นั้นเป็นเทคนิคหนึ่งที่แบรนด์ใช้เป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนานั้นๆ ตัวอย่างเช่น L’Oreal Paris Thailand แชร์รีวิวจากผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าของแบรนด์จากร้านสะดวกซื้อ หรือ Lays Thailand มักจะรีทวีตข้อความหรือรีวิวของผู้บริโภคเสมอ
4. เจาะกลุ่มเป้าหมาย
การรู้จักกลุ่มเป้าหมาย คือพื้นฐานเบื้องต้นของการตลาด แต่บ่อยครั้งที่แบรนด์เลือกใช้วิธีกระจายการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายด้วยหวังว่าจะช่วยสร้างการจดจำของแบรนด์และสร้างยอดขาย ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ มีความหลากหลายมาก แต่เป็นสังคมที่มีความสนใจที่ชัดเจน ซึ่งแบรนด์ต่างๆ สามารถกำหนดเป้าหมายเรื่องผลิตภัณฑ์ บริการ และข้อความต่างๆ ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายได้
อย่าง AIS ตระหนักถึงความสนใจของคนรุ่นใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์ที่ทันสมัยและมีชีวิตชีวา ทำให้ AIS ออกโปรโมชั่นด้วยแพ็คเกจ U-ZEED ซึ่งโดนใจกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักเรียน นักศึกษา และคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับไลฟ์สไตล์ในการฟังเพลง การเล่นเกม การดูหนัง และการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก
ส่วน Wall’s Thailand นั้นสร้างสรรค์วีดีโอที่รวมเหล่ายูทูบเบอร์เพื่อนำเสนอไอศครีมวอลล์คาลิปโปรสใหม่ ที่มีสไตล์สนุกสนาน ตรงกับกลุ่มผู้บริโภคของแบรนด์บนสังคมทวิตเตอร์
สรุป
ต้องยอมรับว่า ทวิตเตอร์เป็นแพลตฟอร์มสำหรับแสดงความรู้สึกหรือความสนใจแบบเรียลไทม์ ผู้ใช้งานทวิตเตอร์จึงสามารถแลกเปลี่ยนความคิดในเรื่องใดก็ได้บนทวิตเตอร์ และหนึ่งในบทสนทนายอดนิยมบนทวิตเตอร์ในไทยก็หนีไม่พ้นเรื่องราวที่เกี่ยวกับโทรทัศน์ (โดยเฉพาะละคร ซีรีส์ และภาพยนตร์เรื่องล่าสุด), ความบันเทิงต่างๆ (ดนตรี ดารา เซเลบริตี้) และกีฬา โดยบทสนทนานั้นจะเกิดขึ้นแบบเรียลไทม์
ซึ่งทวิตเตอร์ ถือเป็นอีกช่องทางที่แบรนด์ควรเริ่มรู้ทัน และใช้ประโยชน์จากบทสนทนาและเหตุการณ์เหล่านั้น เพื่อสร้างอิทธิพลและเพิ่มโอากาสเข้าถึงผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้นในอนาคต