จากเหตุการณ์การรายงานข่าวม็อบในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ในวันนี้ (19 ตค.) ยังคงมีการปิดให้บริการของรถไฟฟ้าสาธารณะอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่เป็นหนึ่งในการขนส่งหลักที่ประชาชนต้องใช้งานในการเดินทางเพื่อเข้าเมืองและหลีกเลี่ยงปัญหารถติด
และจากปัญหาการระงับให้บริการของรถไฟฟ้าสาธารณะทั้ง BTS-MRT-ARL นั้น ส่งผลให้ต้องเจอภาวะหุ้นตกอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงเที่ยงของวันนี้ (19 ตค.63) เมื่อเช็คสถานการณ์หุ้นของ BTS พบว่า มีตัวเลขลดลง 8.95%
ส่วนทางด้านของ BEM ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า MRT ก็เจอผลกระทบเชิงลบเช่นเดียวกัน โดยช่วงเช้าของวันนี้ ยังคงมีตัวเลขติดลบอยู่ที่ 8.10% ซึ่งผลกระทบเหล่านี้ อาจจะเกิดจากความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุน ในการเปิดและปิดให้บริการที่ไม่เป็นไปตามหลักการด้านการให้บริการสาธาณะ จนทำให้ผู้ใช้บริการหลายรายต้องประสบปัญหาในการเดินทางเพื่อใช้ชีวิตตามปกติ
เมื่อค้นประวัติการบริหารของผู้ให้บริการรถไฟฟ้าทั้งสองรายพบว่า BTS บริหารงานโดยบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ มีผู็ถือหุ้นใหญ่คือ บริษัท ธนายง จำกัด ภายใต้การนำของคุณคีรี กาญจนพาสน์ และเปลี่ยนชื่อจากธนายง เป็น บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง โดยบีทีเอสเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 5 ธค. 2542 มีจำนวนสถานีที่เปิดให้บริการ 52 สถานี ผู้โดยสาร 731,467 คน/วัน
ในส่วนของผลประกอบการนั้น ปี 2560 มีกำไรอยู่ที่ 2,003.48 ล้านบาท ปี 2561 มีกำไรอยู่ที่ 4,415 ล้านบาท ปี 2562 มีกำไรอยู่ที่ 2,872.95 ล้านบาท ต่อมาปี 2563 มีกำไรพุ่งขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ถึง 8,161.75 ล้านบาท ล่าสุดไตรมาสแรกของปี 2563 มีรายได้อยู่ที่ 443.41 ล้านบาท
ส่วน MRT บริหารงานโดยบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 3 กค.2547 มีจำนวนสถานีที่เปิดให้บริการจำนวน 53 สถานี และมีผู้โดยสาร 287,000 คน/วัน
ในส่วนของผลประกอบการนั้น ปี 2560 มีกำไรอยู่ที่ 2,605.85 ล้านบาท ปี 2561 มีกำไรอยู่ที่ 3,123 ล้านบาท ปี 2562 มีกำไรอยู่ที่ 5,317.04 ล้านบาท ต่อมาปี 2563 มีกำไร 5,434.82 ล้านบาท ล่าสุดไตรมาสแรกของปี 2563 มีรายได้อยู่ที่ 659.90 ล้านบาท
แน่นอนว่าผู้ให้บริการทั้งสองรายยังคงมีการแข่งขันกันในเรื่องของราคา การให้บริการและโปรโมชั่นบัตร มาโดยตลอด แต่จะเห็นได้ว่า BTS ค่อนข้างนำโด่งในเรื่องของการเข้าถึงผู้ใช้บริการ บัตรโดยสารที่ดึงดูดใจ โปรโมชั่นพิเศษร่วมกับพาร์ทเนอร์มากมาย
ส่วนทางด้านของ ARL หรือ Airport Rail Link ซึ่งเป็นระบบขนส่งทางรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่สร้างขึ้นมาเพื่อเชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีขนส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง เพื่อให้เดินทางไปยังสนามบินได้สะดวกขึ้น เริ่มเปิดให้บริการเมื่อ 28 กย. 2549
เป็นการเห็นชอบตามมติที่ประชุมในการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการออกแบบและสร้างขึ้นในวงเงินรวม 4,082 ล้านบาท สำหรับผู้ที่ได้รับสัมปทานในการก่อสร้างได้แก่
- บริษัท บี กริม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
- B.Grimm MBM Hong Kong Ltd.
- บริษัท Siemens Aktiengesellschaft จำกัด
- บริษัท ซีเมนต์ จำกัด
- บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)
โดยเงินค่าจ้างก่อสร้างเป็นจำนวนเงินรวม 25,907,000,000 บาท แบ่งเป็น ค่าจ้างก่อสร้างงานโยธาและโครงสร้าง เป็นเงิน 12,284,000,000.- บาท และค่าจ้างงานระบบ E&M และจัดหาตู้รถโดยสาร เป็นเงิน 13,623,000,000.- บาท มีอาคารสถานีรองรับ 8 สถานี
ทั้งนี้ ผลดำเนินงานประจำปีล่าสุดที่เปิดให้ดาวน์โหลดคือปี 2561 พบว่า รายได้จากการรับจ้างบริหารการเดินรถของทางบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ของปี 2560 อยู่ที่ 238,029,467.74 บาท ส่วนปี 2561 มีรายได้อยู่ที่ 257,259,886.37 บาท ทางด้านของจำนวนผู้โดยสาร เดือนกันยายน ปี 2561 อยู่ที่ 2,022,211 คน
แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีกระแสแบนบนโลกทวิตเตอร์ ที่ส่งผลให้หลายธุรกิจต้องเร่งออกมาสื่อสารกับลูกค้าเพื่อป้องกันปัญหาลุกลาม เช่น กรณีของ #แบนสปอนเซอร์เนชั่น เพื่อเป็นการต่อต้านแบรนด์ที่ลงโฆษณาในช่วงข่าวต่างๆ ของเนชั่น ทำให้หลายแบรนด์ไม่ว่าจะเป็น ฟู้ดแพนด้า ยันฮีวิตามินวอเตอร์ หรือไมเนอร์ กรุ๊ป ต้องออกมาประกาศจุดยืนและบอกว่าตนเองนั้นเป็นกลาง แต่ซื้อโฆษณาผ่านเอเจนซี่เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การแบนสปอนเซอร์ซึ่งเป็นสินค้าของเอกชน อยู่ที่การตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ส่วนรถไฟฟ้าที่ถือว่าเป็นหนึ่งในอีโคซิสเต็มของประเทศ ที่มีการปิดให้บริการตามคำสั่งของภาครัฐนั้นแม้จะไม่ถูกใจประชาชนแต่ถูกใจหน่วยงานภาครัฐแน่นอน แต่จะกระทบเรื่องของรายได้และการใช้จ่ายบริการเหล่านี้ในระยะยาวหรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป