Site icon Thumbsup

Buddy Magazine บริษัทน้องใหม่ไฟแรงผู้สร้างสรรค์แมกกาซีนฟรีคุณภาพเยี่ยม

เรียกได้ว่าตลาดฟรีแมกกาซีนบ้านเรายังมีพื้นที่ให้ผู้ผลิตรายใหม่ๆ เข้ามาได้อย่างต่อเนื่อง และอย่างที่เราได้เห็นกระแสการทำแมกกาซีนทั้งในและต่างประเทศ คงเลี่ยงไม่ได้ว่านอกจากการผลิตแบบจัดพิมพ์เป็นเล่มเพื่อวางตามช่องทางต่างๆ แล้ว การทำ E-Magazine ก็ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการเข้าหาผู้อ่านและช่วยให้ตัวแมกกาซีนเป็นที่ยอมรับได้ง่ายขึ้น วันนี้ thumbsup มีบริษัทน้องใหม่ไฟแรงอีกหนึ่งรายมาแนะนำครับ ซึ่งบริษัทที่ว่าคือผู้ผลิตฟรีแมกกาซีนในนาม Buddy Magazine ที่ต้องบอกว่าน่าสนใจจริงๆ

สองผู้บริหารหนุ่มของ Buddy Magazine คุณปาล์ม ปวาราย์ ยิ่งวิริยะ (ซ้าย) และคุณเว้ง ทนงศักดิ์ ชูพงศ์วัฒนา (ขวา)

คุณปาล์มและคุณเว้งเล่าให้ thumbsup ฟังว่า จุดเริ่มต้นของ Buddy Magazine เกิดจากการที่ทั้งสองได้รู้จักกันตั้งแต่ตอนที่เรียนที่?Central?Saint Martins College of Art & Design ที่สหราชอาณาจักร ซึ่งหลังจากที่จบคุณปาล์มซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ดูแลเรื่องศิลป์และเนื้อหาโดยรวมของ Buddy Magazine ก็ได้มีโอกาสได้ร่วมวงานกับ free magazine ฉบับหนึ่งของอังกฤษและน่าจะเรียกได้ว่าเป็นแรงบันดาลใจหนึ่งให้อยากทำแมกกาซีนดีๆ จนกระทั่งเมื่อกลับมาคุณปาล์มก็มีโอกาสได้มารับงานจากธุรกิจของครอบครัวคุณเว้ง และทั้งคู่ก็ได้มีโอกาสนั่งคุยกันถึงการทำฟรีแมกกาซีนซึ่งคุณเว้งก็มีแนวคิดที่เป็นต้นแบบของ Buddy Magazine ไว้ในใจอยู่แล้ว

จากบทสนทนาที่เริ่ั้มตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา ทั้งคู่ก็ได้เริ่มเกลาไอเดียให้เริ่มเป็นรูปเป็นร่างและใช้เวลากว่า 4 เดือนในการตกผลึกความคิดทั้งหมดก่อนที่จะเริ่มจดทะเบียนบริษัทและเข้าสู่ขั้นตอนของการทำให้ Buddy Magazine เป็นรูปเป็นร่างในเดือนมกราคม 2554 ที่ผ่านมา จากธุรกิจของครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา คุณเว้งได้นำประสบการณ์และความฝันมาถ่ายทอดอย่างชัดเจนอีกครั้งใน Buddy Magazine ที่กลายเป็นแนวทาง หรือ direction ของแมกกาซีนที่ต้องการมุ่งเน้นไปที่เรื่องของการส่งเสริมการเรียนรู้กับผู้อ่านในรูปแบบที่สบายๆ ซึ่งในช่วงของการเริ่มทำนี้เองที่ทั้ง 2 ก็ได้ชวนเพื่อนสนิทอีกหนึ่งคนมาร่วมขบวนการและผลักดันให้แมกกาซีนเป็นรูปเป็นร่าง

Buddy Magazine เล่มแรกที่วางตลาดไปแล้ว 60,000 ฉบับ และได้รับการตอบรับที่ดีเกินคาด

คุณเว้งเล่าให้ฟังว่า จุดมุ่งหมายของ Buddy Magazine ชัดเจนมาก โดยจะมุ่งเน้นไปที่หัวข้อหลักๆ ได้แก่ 1) ต้องเกี่ยวกับเรื่องของภาษา ซึ่งนั่นเป็นจุดที่ทำให้ Buddy Magazine แตกต่างเพราะเป็นฟรีแมกกาซีนที่นำเสนอในรูปแบบ 2 ภาษาคือ ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ 2) ต้องมีสาระ แม้การดีไซน์รูปเล่มจะดูเบาสบายคล้ายนิตยสารวัยรุ่นต่างประเทศ แต่เนื้อหากลับเต็มไปด้วยสาระที่ย่อยง่าย และผู้อ่านได้ความรู้ไปโดยไม่รู้ตัว 3) ต้องสร้างและส่งเสริมแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ ซึ่งจากจุดประสงค์หลักๆ เหล่านี้ทำให้ Buddy Magazine ออกมาคล้ายกับเป็นนิตยสารที่วางขายแต่แตกต่างที่ Buddy Magazine มีไว้แจกฟรีเท่านั้น

ผู้บริหาร Buddy Magazine ย้ำว่า ความต้องการในการผลิตฟรีแมกกาซีนเล่มนี้ก็คือทำให้สาระและการนำเสนอน่าสนใจจนเมื่อมีถูกหยิบขึ้นไปแล้ว ผู้อ่านจะไม่อยากวางลงและอยากจะเก็บไว้เป็นของตัวเอง ดังนั้นการนำเสนอจึงถูกให้ความสำคัญไปที่เรื่องของภาพ โดย Buddy Magazine จะใช้ภาพนำตัวหนังสือเพื่อให้ดูง่ายและเพลิดเพลิน

นอกจากการตีพิมพ์เป็นเล่มแล้ว Buddy Magazine ยังถูกพัฒนาในรูปแบบของ E-Magazine ด้วย ซึ่งเดิมทีทีมงานได้มองว่าอยากจะทำเนื้อหาให้อยู่ในรูปแบบที่ผู้อ่านอยากกลับมาอ่านทุกวัน แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านบุคคลากรในปัจจุบัน ทำให้ยังมีเพียงแค่ E-Magazine เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งผู้อ่านสามารถเข้าไปดูที่ www.buddy-mag.com

สำหรับรูปแบบของการบริหารนั้น ทั้งคู่ได้แบ่งบริษัทออกเป็นบริษัทย่อยและแบ่งกันรับผิดชอบ ซึ่งโครงสร้างนี้คุณเว้งได้อธิบายว่าเป็นการออกแบบเพื่อรองรับการเติบโตของบริษัทซึ่งเมื่อ Buddy Magazine เริ่มอยู่ตัว บริษัทก็จะมีการผลักดันโปรเจคใหม่ๆ ออกมาอีกแน่นอน ซึ่งในตอนนี้ทีมงานต้องการให้ความสำคัญกับการพัฒนา Buddy Magazine ให้อยู่ตัวเสียก่อน โดยคาดว่าภายใน 6 เดือนน่าจะเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างเนื่องจากมีจุดยืนที่ชัดเจนและมีช่องทางที่ค่อนข้างหลากหลาย

สำหรับ Buddy Magazine ในช่วงเริ่มต้นจะมี 34 หน้า แต่จะค่อยๆ เพิ่มจำนวนหน้าเข้าไปจนกว่าจะอยู่ในจุดที่กำลังพอดี ซึ่งด้วยเนื้อหาที่ตั้งใจจะเจาะกลุ่มผู้อ่านอายุ 18 – 23 ปีนั้น หลังจากที่ได้ทำการกระจายออกไปกลับพบว่าผู้อ่านที่แท้จริงมีอายุระหว่าง 15 – 35 ปีจึงทำให้มั่นใจว่าน่าจะได้รับการตอบรับที่ดี ซึ่งส่วนสำคัญหนึ่งคือการที่ตัวแมกกาซีนใช้การนำเสนอแบบ 2 ภาษา คือไทยและอังกฤษ นอกจากนั้นยังมีการสอนภาษาจีนในเล่มอีกด้วย ซึ่งความเป็นที่นิยมนี้ก็ได้เห็นจากงาน Commart ครั้งที่ผ่านมาที่ Buddy Magazine เป็นแมกกาซีนที่มีผู้เข้างานหยิบไปอ่านจนหมดเป็นเล่มแรก นอกจากนั้นตามร้าน B2S และที่ True Coffee Sukhumvit 24 ก็ยังหมดเร็วมากจนมีผู้มาสอบถามถึงฉบับที่ 2 อีกด้วย

เรียกได้ว่าเป็นอีกแมกกาซีนดีๆ ที่ต้องจับตามอง อย่างไร thumbsup ขอเอาใจช่วยและขอให้ประสบความสำเร็จตามที่หวังไว้ครับ

ขอขอบคุณสถานที่ ร้าน True Coffee Sukhumvit 24