thumbsuper อาจจะถามว่าเรื่องนี้ไม่เห็นมันจะเกี่ยวกับดิจิตอลตรงไหน ก็ขออธิบายว่า ในอีกแค่ 3 ปีข้างหน้าไทยเรากำลังจะเข้าสู่การเปิดอาเซียนอย่างเต็มตัว ใครที่ทำเว็บทำแอพก็จะต้องเล็งทำตลาดต่างประเทศด้วย คุณเลยต้องกลายเป็นคนหนึ่งที่ต้องติดต่อสื่อสารกับคนต่างชาติในอาเซียนด้วยกัน แต่ถ้าหากเราเป็นคนไทยทั่วๆ ไป ที่ภาษาอังกฤษไม่ได้ดีเด่อะไรล่ะ ภาษาพ่อแม่เราก็ไม่ใช่ เราจะปรับตัวกับการรุกคืบของอาเซียนนี้อย่างไร?
วันนี้ผมขอเสนอ 5 วิธี ที่จะทำให้คุณเป็นเซียนภาษาอังกฤษแบบ snakeๆ fishๆ ฟังดูอาจจะงงนิดนึงนะครับ แต่ผมรับรองว่าใช้ได้ผลจริงในชีวิตประจำวัน… เชิญเสพย์
ผมเองเป็นคนหนึ่งที่เคยมีภูมิภาษาอังกฤษเข้าขั้นโคม่า ขนาดสมัยเรียนมหาวิทยาลัยได้ภาษาอังกฤษเกรด 4 แถมไปเรียนเมืองนอกกับเขาพักหนึ่ง แต่กลับมาเมืองไทยภาษาอังกฤษก็ยังดั๊น snakeๆ fishๆ อยู่เลย? จนวันหนึ่งชีวิตผกผันให้ต้องระเห็ดไปทำงานต่างแดน เอาล่ะสิ… การใช้ภาษาอังกฤษแบบแค่พอจะสื่อสารได้นั้นไม่เพียงพอต่อความต้องการแล้ว แต่มันจะต้องดีพอขนาดที่ว่าคนทั้งในและนอกองค์กรสามารถฟังสิ่งที่เราสื่อออกไปแล้วมีประโยชน์ต่อองค์กรได้
การเดินทางไปทำงานต่างแดนทำให้ผมต้องอดทนสร้างเสริมภูมิภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง เพื่อให้ตัวเองนั้นสามารถทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพ จำได้เลยว่าตอนนั้นเครียดมากๆ ถึงขนาดที่ว่าเวลามีประชุมกับคนต่างบริษัท เจ้านายจะเอาผมไปด้วยยังบอกว่า เฮ้ย วันนี้ไหวไหม ทำให้ผมเครียดมากๆ จนถึงขั้นต้องไปเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติม
แต่สิ่งที่ผมพบเจอจากประสบการณ์คือ ไม่ว่าผมจะตั้งใจไปสมัครเรียนแกรมม่ามากน้อยสักเพียงใด มันไม่เคยทำให้ผมพ้นขุมนรกภาษาอังกฤษไปได้เลย แต่สิ่งที่ผมค้นพบก็คือ การที่เราจะใช้ภาษาอังกฤษได้ดีนั้น เราไม่จำเป็นต้องผ่านการเรียนขั้นสูงสุดของ AUA ไม่ต้องสอบจบจาก British Council ขั้นสูงสุด แต่ขออย่างเดียวคือคุณจะต้องสร้างความมั่นใจให้ตัวเองด้วยการทำ 5 อย่างต่อไปนี้
1. ปรับทัศนคติว่า ภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาแม่เรา มันไม่ใช่ความผิดของฉัน แต่เป็นความผิดของเธอที่ฟังฉันไม่ออกต่างหาก
มันไม่ใช่ความผิดของเราที่เราพูดหรือฟังภาษาอังกฤษไม่คล่อง แต่มันเป็นความผิดของคนฟังต่างชาติคนนั้นต่างหาก ที่ไม่พยายามทำความเข้าใจคนต่างชาติอย่างเราที่พยายามจะสื่อสารอย่างเต็มที่แล้ว เชื่อผมครับเมื่อคุณคิดได้อย่างนี้แล้ว อาการ “ตื่นกลัวฝรั่ง” จะหายไปครึ่งหนึ่ง พอคุณหายตื่น คุณจะกล้าพูดมากขึ้น เพราะสมองไม่ถูกนำไปใช้ในการประมวลผลคิดเรียบเรียงประโยคให้ถูกแกรมม่า ดังนั้นในจุดเริ่มต้นขอให้คุณปรับทัศนคติก่อนว่า คุณพูดไม่ได้สำเนียงแคลิฟอร์เนียแบบครูเคทสอนแน่นอน แต่พอคุณปรับตรงนี้ได้แล้ว คุณจะมั่นใจมากขึ้น และพอคุณมั่นใจมากขึ้น คุณพูดอะไรไปเข้าก็จะพยายามทำความเข้าใจคุณมากขึ้นด้วย จำไว้เลยครับ ไม่ใช่ความผิดของคุณ
2. ยอมรับความแตกต่างของภาษาอังกฤษแบบท้องถิ่น และไม่อายที่จะพูดว่า Could you please repeat that?
เวลาการพูดคุยภาษาอังกฤษ คนต่างชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก จะพูดเร็ว รัว หรือบางทีเสียงหล่ออยู่ในลำคอ ถ้าเป็นแขก หรือคนพม่า คุณจะปวดหัวปวดตับมาก เพราะเขาจะมีสำเนียงที่เราไม่คุ้นจากหนัง HBO เช่น study บางทีพี่แกออกเสียง “สตูดี้” ก็มี ไม่ก็จีนสิงคโปร์จะต้องลงท้ายด้วย “Lah” “Meh”ตลอดเวลา ซึ่งอันนี้ก็ต้องบอกว่ามันเป็นการใช้สำเนียงภาษาอังกฤษที่แตกต่าง เพื่อนๆ ผมที่เจอกันที่สิงคโปร์ก็บอกเป็นประจำว่า เขาจับสำเนียงของผมได้แม่นแล้วเช่นกัน เพราะคนไทยเวลาพูดภาษาอังกฤษมันจะไม่ English แต่มันจะมี Thai ผสมโทนกันจนเป็น “Tinglish” ที่ลงตัว แต่น่ารัก และในขณะเดียวกัน คุณก็จะเจอ Singlish, Indian English อีกมากมาย คุณจะต้องยอมรับความแตกต่างของภาษาอังกฤษแบบท้องถิ่นเหล่านี้ และเมื่อฟังแล้วไม่เข้าใจ จงอย่าอายที่จะถามคำถามที่ผมโปรยหัวไว้ เพราะจะน่าอายยิ่งกว่าถ้าเราแสร้งทำเป็นพยักหน้าว่าเราเข้าใจ แต่จริงๆ เราไม่เข้าใจ
3. จงสร้างคลังคำ
สิ่งสำคัญในการทำความเข้าใจภาษาอังกฤษอย่างหนึ่งคือการอ่าน เวลาเราอ่านแล้วมักจะมีปัญหาอย่างหนึ่งคือเราไม่เข้าใจศัพท์ เราไม่รู้ความหมาย เราอ่านคำๆ นั้นไม่ออก เราจึงไม่เข้าใจรูปประโยค ดังนั้น ในประโยคๆ หนึ่ง ถ้าเราเข้าใจศัพท์นั้นๆ แล้ว มันก็จะทำให้เราเข้าใจรูปประโยคได้ง่ายขึ้น วิธีการทำความเข้าใจคำศัพท์ก็คือ จงสร้างคลังคำขึ้นมาในหัวสมองเรา จงอ่านพจนานุกรมแบบ อังกฤษ-อังกฤษบ่อยๆ เพราะมันจะอธิบายรูปแบบการใช้คำอย่างละเอียดด้วย ไม่ใช่ท่องจำคำศัพท์อย่างเดียว แต่เมื่อเรา “เข้าใจ” แนวทางการใช้คำภาษาอังกฤษ เราก็จะมีคลังคำสะสมอยู่ในหัวมากขึ้น และอ่านได้เร็วมากขึ้น ไม่เชื่อก็ลองดู ขั้นตอนนี้ผมแนะนำให้คุณดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นประเภทดิคชั่นนารีอย่าง Collins COBUILD มาอ่าน มันจะช่วยคุณได้มาก
4. ซื้อหนังสือ “ภาษาอังกฤษ ร้ายสาระ” ของ @marnpin มาอ่าน
ในบรรดาหนังสือแนะนำการเรียนภาษาอังกฤษที่ผมว่าดีที่สุดคือหนังสือ “ภาษาอังกฤษ ร้ายสาระ” ของนักเขียน นักเดินทางอย่าง @marnpin หนึ่งในบรรณาธิการในโลกไซเบอร์ที่ทำให้ภาษาอังกฤษเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม ส่วนตัวผมมองว่าหนังสือเล่มนี้เป็นการกระชากแนวคิดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษยุคเก่าออกไปหมด หนังสือเล่มนี้จะไม่สอนให้คุณเรียนหลักการของภาษา แต่จะพูดถึง “วิธีการเรียนรู้ภาษา” มันเป็นหนังสือ How-to ที่ผมขอคารวะด้วยใจ
5. จงเป็นนักเรียนภาษาอังกฤษ (ด้วยตัวเอง) ตลอดชีวิต
ใครที่อ่านคำแนะนำมาถึงตรงนี้ อาจคิดว่าผมคงไม่เชียร์ให้คุณไปเรียนภาษาอังกฤษแบบถูกต้องแล้ว แต่จริงๆ แล้ว ผมยังคงเชียร์ว่าคุณจงไปเรียนภาษาอังกฤษเถอะครับ แต่เน้นว่าคุณควรจะเรียนด้วยตัวเอง ดังนั้นจงพยายามจัดหาเวลาเรียนภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง มันจะทำให้คุณมั่นใจมากยิ่งขึ้น วิธีที่ผมทำประจำคือเวลาดูหนังฝรั่ง จะเลือกดู subtitle ภาษาอังกฤษ พยายามฟังไปด้วยดูคำไปด้วย จะดีมากถ้าดู 2 รอบ รอบแรกฟังอย่างเดียว ไม่เข้าใจไม่เป็นไร แต่รอบสองให้ลองเปิด subtitle ประกอบ เราจะรู้และซึมซับไปเองว่าฝรั่งเขาใช้คำๆ นี้ในสถานการณ์ไหน
ตัวอย่างที่ดีของคนที่ใฝ่หาความรู้คือพี่ไตร ชีพธรรม คำวิเศษณ์ ครับ เมื่อสักสิบปีที่แล้ว ผมเป็นคนหนึ่งที่ติดตามงานสัมมนาด้านดอตคอมจากพี่ไตรอยู่เป็นประจำ พี่ไตรจัดงานบ่อยมาก จนอดสงสัยไม่ได้ว่าพี่แกไปเอาความรู้มาจากไหนมากมาย (วะ) และก็มาถึงบางอ้อ เมื่อแอบเห็นว่าพี่ไตรมักจะหอบหิ้วตำราฝรั่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดอตคอมม อ่าน แล้วก็หาคนไทยที่เก่งๆ ด้านนั้นมาร่วมแชร์ความรู้ในงานสัมมนาของตัวเอง ทำให้ผลงานของพี่เขาอัพเดตอยู่ตลอดเวลา การขยันอ่านของพี่ไตรเป็นสาเหตุให้แกอยู่ในวงการสื่อมาได้ยาวนาน และมีน้องๆ รู้จักในวงการมากมาย จำได้ว่าเมื่อหลายปีก่อนเจอแกเดินทางไปต่างประเทศ แกพูดภาษาอังกฤษไวมากฝรั่งยังชม
ผมมีมาแชร์กับคุณ 5 วิธีนี้ล่ะครับ แล้วคุณล่ะ จะช่วยผมต่อวิธีที่ 6, 7, 8 หน่อยได้ไหมครับ? เชิญด้านล่างนี้เลยครับ
ที่มาของภาพ: UIH