“ไม่เคยหมดไฟ แค่ใจหมดแรง” เราเข้าใจดีว่าไม่มีอะไรจะทรมานไปกว่าการที่ตื่นมาแล้วต้องรู้สึกพยายามลุกไปทำงาน หรือที่เรียกกันว่า ‘อาการหมดไฟ’ ที่ทำให้ทั้งเครียด หดหู่ จนไม่อยากไปทำงาน ซึ่งมาได้จากหลากหลายสาเหตุ ลองมาดูวิธีการที่เหล่าคนในวงการธุรกิจนำมาใช้จริง เพื่อให้พวกเขาสามารถก้าวต่อไปและทำงานได้จนประสบความสำเร็จกันค่ะ
1. รวิศ หาญอุตสาหะ Managing Director : ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด
จริงๆ แล้วการ Burnout มันมีทั้งเรื่องของ “ร่างกาย” และ “สภาพจิตใจ” ซึ่งในทางการแพทย์ยังไม่มีผลวิจัยที่ระบุว่าอาการนี้ คือ “โรค” ขนาดนั้น แต่อาจจะเกี่ยวข้องกับความอ่อนเพลียของทั้งร่างกายจิตใจในช่วงนั้น และส่วนใหญ่การ Burnout มักจะมาจากเรื่องงาน แต่ผมคิดว่า “งาน” มันเป็นแค่ปลายทาง
เพราะมันมาจากวิธีการบริหารจัดการสุขภาพกาย สุขภาพจิต ของเรา สำหรับผมถ้าหมดไฟจะกลับมาดูก่อนว่าตอนนั้นเราดูแลร่างกายดีหรือเปล่า นอนพอไหม ออกกำลังกายไหม กินอะไรผิดไปจากเดิมไหม นั่นหมายความว่าในวิถีชีวิตประจำวันของเราเป็นสิ่งที่ให้ Burnout หรือเปล่า
ส่วนเรื่องของ “สภาพจิตใจ” ผมพบว่าเป็นมุมมองของชีวิต ซึ่งถ้าเราอาจต้องลองเปลี่ยนมุมมองกับมัน เช่น เรื่อง “คน” ที่มักเหนื่อยและปวดหัว เราก็ต้องกลับมาดูว่าทำไมเราถึงมีปัญหาแบบนี้ ถามตัวเองว่าเราได้ศึกษาวิธีการเข้าใจคนแล้วหรือยัง และได้พยายามมองจากมุมเขาไหม เป็นต้น
ทำความเข้าใจว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่ต้นตอมันเกิดจากอะไร เช่น เราไม่ชอบคนหนึ่งในที่ทำงานแต่ต้องทำงานกับเขาตลอด สิ่งที่เราต้องถามคือ “เราไม่ชอบเขาเพราะอะไร” ถ้าเราตอบได้ก็จะเป็นสาเหตุ บางทีอาจเป็นการที่เขาทำให้เรานึกถึงเพื่อนคนหนึ่งที่เราไม่ชอบก็ได้ ซึ่งถ้าเราเข้าใจมุมมองที่มองคนนั้นจะเปลี่ยนไป
เพราะบางทีจริงๆ แล้วการ Burnout อาจมาจากเราเหนื่อยที่จะหาคำตอบในเรื่องที่มันแก้ไม่ได้ ซึ่งการหาทางออกอาจแก้ไม่ยากเพียงแต่เราต้องเปลี่ยนมุมมองเท่านั้นเอง ถ้าเกิดพูดในเชิงทฤษฎีก็ต้องบอกว่าคนที่มี “Self Awareness” หรือรู้จักตัวเองเยอะๆ ก็จะไม่ Burnout หรือเป็นไม่นาน
และก่อนจะไปเข้าใจคนอื่นจริงๆ ต้องเริ่มต้นจากการเข้าใจตัวเอง ว่าอะไรที่เป็นจุดทำให้เรามีความสุข ความทุกข์ ให้ขุดไปที่ต้นตอของมัน หากปลดล็อคตรงนี้ได้อาการ Burnout ก็จะหายไปแล้วทำให้ไปต่อได้
2. ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ CEO : TARAD.com Group
พอจับตัวเองได้แล้วว่าเรา “หมดไฟ” ก็ให้มองตัวเองในมุมที่ว่าเราเดินมาไกลกว่าเดิมเยอะเลยนะ เพราะเปรียบเทียบตัวเองกับคนที่เราเดินผ่านเขามานั่นคือวิธีการ “ให้กำลังใจ” ตัวเองรูปแบบหนึ่ง
แล้วหลังจากที่เริ่มมีกำลังใจแล้วอยากมีไฟก็ต้องมอง “คนที่อยู่เหนือเรา” ว่าเขาเดินไปไกลกว่าเราแล้ว เราจะสามารถแซงเขาไปได้อย่างไร แต่ต้องขอเน้นย้ำไว้เลยว่า “ห้ามทำสลับกันเด็ดขาด” เพราะถ้าพลาดจะทำให้ท้อหนักกว่าเดิม (หัวเราะ)
แต่งถ้าหนักมากจริงๆ ก็ให้ “หยุดพัก” เลย ส่วนตัวเคยเหนื่อยมากๆ แล้วเลือกที่จะหยุดพักด้วยการนั่งรถไฟฟ้าไปที่หัวลำโพง เพราะต้องเบรกและเอาหัวไปคิดอย่างอื่นบ้าง เพราะการหยุดพักทำให้ไม่ต้อง “โฟกัส” กับปัญหาที่ทำให้เราหมดไฟกับมันอยู่ แล้วเมื่อเรามองกลับมาอีกทีอาจจะมีวิธีแก้ปัญหาใหม่ๆ ออกมาได้เช่นกัน
มันขึ้นอยู่กับ Attitude เราว่าจะมองปัญหาอย่างไร เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดีคือต้องมี “สติ” กับปัญหาที่เข้ามาไม่ได้ตื่นตระหนกับปัญหา และบางครั้งวิธีการที่ดีที่สุดคือ พยายามมองและแก้ปัญหาด้วยตัวเอง หรือหาคนพูดคุยปรึกษาปัญหา แต่เราก็ต้องเลือกคนปรึกษาให้ดี เพราะถ้าเกิดเราไปเจอคนที่ไม่มีวิสัยทัศน์การแก้ปัญหาก็จะง่ายมาคือ “ลาออกเลย” แต่ถ้าเจอคนให้คำแนะนำดีๆ ก็จะแนะนำให้เรา “ตั้งสติ” แล้วฝ่าปัญหาออกไป
บอกกับการดูด้วยว่าบริบทของเราเป็นแบบไหน เพราะผู้ใหญ่ก็มีปัญหาแบบหนึ่ง เด็กเองก็มีปัญหาแบบหนึ่ง เจ้าของกิจการ คนทำ Startup หรือหัวหน้าทีม ก็มีปัญหาอีกแบบหนึ่ง
3. พรทิพย์ กองชุน Co-Founder & COO : Jitta.com
อันดับแรกหาให้ได้ว่าเพราะ “หมดแรง” หรือ “หมดใจ” ปกติแล้วเราก็จะเจอเหตุกันอยู่ 2 เรื่อง
1. เกี่ยวกับงานที่ทำ เช่น งานหนักเครียดลากยาวจนเกินไป ไม่ถนัด ไม่ชอบงานนี้ งานหน้าเบื่อไม่สร้างความท้าทายอีกแล้ว ทำงานแค่ไหนก็ไม่ได้รับการยอมรับสักที ระบบงาน เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน หรือความขัดแย้งต่างๆ ในที่ทำงาน ทำให้รู้สึกเหนื่อยหน่ายไม่อยากทำงานต่อไป
2. เกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว หน้าที่ความรับผิดชอบเยอะแยะไปหมด มีปัญหากับแฟน พ่อแม่ พี่น้อง ปัญหาด้านการเงิน ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพของตนเอง หรือมีนิสัยส่วนตัวที่ยึดติดมากไป ไม่ยืดหยุ่น คาดหวังกับคนรอบตัวหรือสิ่งต่างๆ มากไป
วิธีแก้ไข
1. ปรับทัศนคติตัวเองก่อน จัดการความเครียดของตัวเองก่อนเลย เรื่องอะไรๆ ก็เครียด บางทีก็ต้องปล่อยวางบ้าง เพราะเมื่อจัดการอารมณ์ได้แล้ว ก็จะมีเหตุผลไปแก้ปัญหาเรื่องอื่นๆ ค่ะ
2. จัดระเบียบการใช้ชีวิตใหม่ เช่น จัดลำดับความสำคัญและเวลาในการทำงานให้ได้ อย่างการวางแผนเป้าหมายงานด้วย OKRs ก็จะช่วยให้โฟกัสงานได้ดีขึ้น เพื่อที่จะได้มีเวลาไปทำกิจกรรมสนุกๆ บ้าง
3. พัฒนาทักษะอื่นๆ ไปหาเรียน เข้าคอร์สเพิ่มความรู้ใหม่ๆ โลกหมุนไปเร็วมากๆ ทักษะในการทำงานใหม่ๆ จะผลักดันให้เราทำงานได้ดีขึ้น มีไอเดียใหม่ๆ หรือหากเราเบื่องานเดิม ก็จะเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อโอกาสงานใหม่ได้ค่ะ
4. เว้นช่วงบ้างก็ได้ ลางานไปพักผ่อน ปิดมือถือการสื่อสารทุกอย่าง มีเวลาได้จัดการตัวเอง อย่างที่ Google หรือบริษัทเทคต่างๆ จะมีโปรแกรมให้พนักงานลาพักแบบยาวๆ เป็นเดือนหรือปีก็ได้ เรียกว่า Sabbatical เพื่อไปหาเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจนขึ้น สร้างแรงบันดาลใจ จุดไฟในตัวขึ้นมาใหม่
5. สุดท้ายถ้าไม่ไหว ก็ต้องหาที่ปรึกษาหรือกำลังใจค่ะ แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมา คนที่เป็นกำลังใจที่ดีที่สุด ก็คือตัวเราเองนี่แหละค่ะ รักตัวเองและทำเพื่อตัวเองให้มากขึ้น ให้รางวัลกับตัวเองในแต่ละวัน จริงๆ แล้วทริคไม่ยากค่ะ เมื่อหมดไฟ ก็จุดไฟใหม่ซะ!
4. สโรจ เลาหศิริ Chief Marketing Officer : Rabbit’s Tale
เน้นการ “พักเบรก” ไปในที่ๆ มือถือเข้าไม่ถึง หรือทำกิจกกรมที่ต้องฝากมือถือไว้เลยอย่างส่วนตัวชอบ “ดำน้ำ” หรือออกไปคุยกับคนอื่น แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ไปคุยกับเพื่อนที่เป็นใครก็ได้นะ เพราะ Passion มันเติมกันได้ด้วยคนที่มีพลังเหมือนการไปรับ Energy มา ซึ่งเวลาที่เราอยู่ใกล้คนที่มีพลังบวกและ Passion เราจะซึมซับสิ่งนั้นเข้ามา
ลองคิดดูว่าเราไปกินเหล้ากับคนที่หมด Passion หรือเหนื่อยจากงานเหมือนกันกับเรา แล้วทุกคนบ่นเรื่องแย่ๆ เหมือนกันหมด พอกลับมาก็จะกลายเป็นกลุ่ม Toxic กลับมาจนไม่อยากทำงานและลาออกจากงานไปในที่สุด
การที่โทรไปหาคนที่น่าจะมี “แรงบันดาลใจ” แล้วนั่งลงคุยมันจะทำให้รู้สึกว่าได้เติม Energy ด้านบวกเข้ามา เพราะ “คำพูดมันมีพลัง” คำบางคำมันเปลี่ยนวิธีคิด ความรู้สึก ทำให้พลิกมุมคิดแล้วชีวิตเปลี่ยน
แม้จะอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมแต่ถ้าเราคิดเปลี่ยนมันก็ไม่เหมือนเดิมนะ เหมือนเรื่องของทีม Manchester United มีสมัยหนึ่งที่ผู้เล่นเหมือนเดิม แต่มีผู้จัดการทีมคนใหม่เดินบอกว่า ” ทุกคนเป็นนักเตะที่เก่งอยู่แล้ว จงไปเล่นให้สมกับเป็น Manchester United “ซึ่งมันเป็นการเปลี่ยนมุมคิดแม้ว่าสภาพแวดล้อมจะเหมือนเดิมทุกอย่าง
มีช่วงหนึ่งเคยตกอยู่ในสถานการณ์ที่ปัญหารอบตัวไปหมด เราได้ไปอ่านหนังสือที่พูดถึงปัญหาบอกว่าปัญหามี 2 แบบ คือ ปัญหาที่แก้ได้ ปัญหาที่แก้ไม่ได้ สำหรับปัญหาที่แก้ไม่ได้อย่าเพิ่งคิดแต่เอาปัญหาที่แก้ได้ก่อน แล้วพอเวลาผ่านไปปัญหาที่แก้ไม่ได้ก็กลับกลายเป็นเรื่องเฉยๆ ไป
ดังนั้นการวางบางสิ่งแล้วเก็บมาคิดบางสิ่งก็ช่วยได้ ไม่ต้องรวมทุกอย่างจนยุ่งเหยิง และปัญหาทุกอย่างแก้ได้ด้วย “การคุยต่อหน้า” เพราะปัญหาส่วนใหญ่มักเกิดนอกห้องประชุมในเรื่องของการคิดไปเอง
5. ไชยณัฐ สัจจะปรเมษฐ์ กรรมการผู้จัดการ : Alchemist
มันยากมากในการหางานที่มันตรงโจทย์ของเราทุกอย่าง บางครั้งเราอาจจะต้องทำในงานที่เรา “ไม่มี Passion” หรือไม่อินกับมัน 100% อย่างตอนที่เรามาทำงานปัจจุบันก็ทำในส่วนที่ขายวัสดุก่อสร้าง ซึ่งเราก็ไม่ได้เห็นกระเบื้องแล้วรู้สึกว่า “โอ้โห..มันสวยมากๆ” แต่รู้สึกว่าอยู่กับมันได้ เพราะเรารู้สึกว่าจริงๆ แล้ว Passion มันไม่จำเป็นต้องอยู่ในงานก็ได้
นั่นคือเราไปสร้าง passion กับเรื่องอื่นก็ได้อย่างส่วนตัว Passion ของเราคือการเที่ยว การปลูกต้นไม้ จริงๆ แล้วการที่เราหางานอดิเรกหรือแบ่งเวลาส่วนหนึ่งให้ส่วนอื่นมันจะทำให้ชีวิตเราสมดุลนอกนจากเรื่องงานอย่างเดียว
ส่วนถ้าตกหล่มแล้วหล่มมันลึกมากๆ เราคนเดียวอาจจะเอาไม่อยู่ก็ต้องหาคนช่วย เราพบว่าการแค่นั่งคุยกับเพื่อนแล้วเขาก็จะโยน “ทางเลือก”ใหม่ๆ มาให้เรา เพราะบางทีเรายึดอยู่กับปัญหาก็ทำให้มองโลกแคบลง
ซึ่งการออกไปแชร์กับเพื่อนโดยอาจไม่ต้องถึงระดับที่ขอความช่วยเหลือ แค่แลกเปลี่ยน เพราะทุกคนเองก็มีปัญหาหมด การนั่งคุยกับเพื่อนที่ไม่ได้ตั้งใจว่าต้องได้ “คำตอบ” ทันทีมันก็ช่วยได้เหมือนกัน
มันคือการค่อยๆ เปิดมุมมองเข้ามาอีก หรือบางทีก่อนจะตัดสินใจคนรอบข้างก็จะเป็นคนรีเช็คครั้งสุดท้ายว่าเราคิดครบทุกด้านแล้วหรือยัง ถ้าเพื่อนส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเพื่อนที่อยู่ในสายงานเดียวกับเรามุมก็ยิ่งไม่เหมือนกัน เพราะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน
6. สุนาถ ธนสารอักษร Managing Director : Rabbit’s Tale
มีหลายวิธีซึ่งวิธีแรกคือ ‘การไปเที่ยว’ หรือทำอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับงานเลย เป็นการหนีไปทำในสิ่งที่เราชอบ ส่วนตัวถ้าเครียดหรือหมดไฟมากๆ ก็จะไปดูเทคโนโลยีแบบล้ำๆ เจ๋งๆ เปิดซีรีส์อยู่บ้าน 2-3 ชั่วโมงแล้วจะค่อยๆ ตั้งสติได้
ต่อมาจะมานั่งคิดว่าทุกวันนี้ภาระที่เรามีอย่าง ‘การดูแลคน’ ที่ชีวิตของพวกเขาฝากให้เราดูแล หมายความว่าเราต้องมีความรับผิชอบในการดูแลบริษัทด้วยนะ
แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้นก็ไปคุยกับคนที่เป็น “เพื่อนคู่คิด” ผมนึกถึงเรื่อง ‘ที่ปรึกษาทั้ง 5 คนที่เราควรมี’ จากหนังสือ ‘Marketing Everything’ เขียนโดยคุณรวิศ หาญอุตสาหะ
ซึ่งคนแรกเป็นคนที่มีประสบการณ์ในวงการเดียวกับเราและทำธุรกิจในขนาดใหญ่กว่า คนที่สองคือที่ปรึกษาทางการเงิน สามคือที่ปรึกษาด้านกฎหมาย คนที่สี่คือที่ปรึกษาด้านการจัดการคน และคนสุดท้ายคือคนที่เก๋าเกมในวงการธุรกิจมากๆ อย่างเจ้าสัวท่านต่างๆ
เมื่อคุยแล้วต้องกลับมาตั้งสติแล้วถามตัวเองว่าที่ทำอยู่นั้นย้อนกลับไปตอน Day 1 ว่าเราเริ่มต้นอย่างไร เพราะปัญหาที่ใหญ่มากในตอนนี้ก็อาจกลายเป็นเรื่องเล็กมากในอนาคตก็ได้
ส่วนถ้าเราอยากมีความตื่นตัวเราก็ต้องคบกับคนที่ตื่นตัวด้วย ทั้งเพื่อนต่างวัย ต่างภาษา เช่น ผู้บริหารที่อายุเยอะมากๆ บางทีก็อาจจะตามโลกไม่ทัน คุณควรมีเพื่อนเป็นคนหนุ่มสาวที่พูดคนละภาษากับเรา ดำเนินชีวิตกันคนละแบบ เราจะได้ไปเรียนรู้และเข้าใจพฤติกรรมของคนเหล่านั้น
ผมนึกถึงที่ ‘นิ้วกลม’ บอกไว้ว่า “สุดท้ายถ้ามันหมดไฟแล้วจริงๆ ก็ให้เปลี่ยนงานไปเลย” เลิกทำสิ่งที่ทำอยู่แล้ว Start Over ใหม่ ด้วยการกลับไปเรียนรู้สิ่งต่างๆ ใหม่จากศูนย์
7. ดมิสาฐ์ องค์ศิริวัฒนา Co-Founder and Executive Creative Director : Sour Bangkok
ทำยังไงเมื่อทำงานแล้วคุณรู้สึกหมดไฟ?
“เราเลิกกันเถอะ” เพราะถ้าหมดแพชชั่นแล้วคบกันไปก็เสียเวลา
แค่ต้องเช็คตัวเองว่า ต้องเลิกกับที่ทำงานเดิม หรือ เลิกอาชีพแล้วไปทำอย่างอื่นที่อยากตื่นไปทำงานแทน คนส่วนใหญ่แยกไม่ออกระหว่าง ‘เหนื่อย’ กับ ‘หมดไฟ’
ซึ่งเช็คง่ายๆ ว่า ถ้าเหนื่อย พักก็หาย แต่หมดไฟ คือ หมดแรงบันดาลใจ เหมือนแฟนที่เราไม่อยากเจอหน้า วิธีแก้คือควรเลิก ไปคบแฟนใหม่ที่อาจจะแย่กว่ามาก วันนึงเราอาจจะรู้ว่าแฟนเก่าก็ดี
และข่าวดีคือ งานไม่เหมือนแฟนเก่า เรากลับมาคบกับงานที่เคยหมดไฟได้ตลอด สำหรับส่วนตัวในชีวิตมีความรู้สึกหมดไฟแค่ครั้งเดียว เพราะไม่ชอบ Culture แต่พอเปลี่ยนออฟฟิศ ไฟก็กลับมาลุกโชนได้เหมือนเดิมค่ะ
8. อรนุช เลิศสุวรรณกิจ C0-Fouder : Techsauce Media
ถ้าย้อนกลับไฟอาการหมดไฟจะอ
จึงทำให้ “ความหมดไฟ” ไม่ได้เกิดมาจากตัวเงินที่รู้สึกว่าตอบแทนไม่พอ แต่เป็นความรู้สึกว่าเรากำล
ในตอนนั้นฐานะทางบ้านก็ต้อง
เราจึงบอกกับตัวเองว่าจริงอ
ส่วนตัวรู้สึกว่าคนเราจะหมด
9. ชรัตน์ เพ็ชร์ธงไชย หัวหน้าธุรกิจ LINE Today : Line ประเทศไทย
“ทำยังไงเมื่อทำงานแล้วหมดแพชชั่น”
ผมคิดถึง 2 ขั้นตอน ถอยหลังและก้าวต่อไป
ถอยหลังคือ ทบทวนว่าอะไรที่ทำให้เราหมดแพชชั่น มันเป็นได้หลายอย่างมาก คน ตัวงาน เพื่อนร่วมงาน หรืออื่นๆ รวมไปถึงอาจจะเป็นตัวเราเอง แต่ให้เราค่อยๆ คิด เพราะต้องไม่ลืมว่าก่อนที่เราจะมาถึงจุดนี้ หรือจุดที่เราป่าวประกาศ(ในใจ)ว่าหมดแพชชั่น เราเคยมีแพชชั่นอะไรที่มาทำงานนี้
ตรงนี้ให้ใช้เวลาคิดกับมันสักหน่อย ค่อยๆ คิด เพราะบางอย่างมันก็เส้นผมบังภูเขาจริงๆ หรืออีกทาง ลองเอาเรื่องนี้คุยกับเพื่อนที่สนิท หรือแม้กระทั่งหัวหน้า แต่ให้เลือกคุยแบบต่อหน้านะ อย่าคุยแบบผ่านแอปพลิเคชั่น เพราะตัวอักษรไม่สามารถสื่ออารมณ์ได้เท่าการสนทนากันจริงๆ น่าจะช่วยให้เราทบทวนและได้คำตอบว่ามันเกิดเหตุการณ์นี้เพราะอะไร
ขั้นตอนนึงคือก้าวต่อไป ตรงนี้จะมาจากการไตร่ตรองคิดมาแล้วจากขึ้นตอนถอยหลัง ซึ่งเรา “น่าจะ” สามารถตัดสินใจได้แล้วว่า เราควรจะจัดการการหมดแพชชั่นอย่างไรต่อไป เพราะทุกอย่างมันหยุดนิ่งไม่ได้ ต้องเดินไปข้างหน้า การเดินไปข้างหน้าอาจหมายถึงเราสามารถแก้ไขปัญหาตรงหน้าที่เกิดจากการหมดแพชชั่น หรืออาจจะค้นพบวิธีการใหม่ๆ แนวทางใหม่ๆ ที่เราอาจจะค้นหาเจอและเหมาะกับตัวเราก็เป็นได้
อย่าลืมว่าทุกอย่างเราต้องไตร่ตรองให้ดีก่อนจะตัดสินใจอะไรลงไปนะครับ
10. อภิศิลป์ ตรุงกานนท์ ผู้บริหาร Pantip.com
แน่นอนว่ามีบางวันที่ปัญหาต่างๆ รุมเร้าจนรู้สึกเหนื่อยและหมดไฟ ผมจะฝึกมองว่าปัญหาคือความท้าทาย “ถ้าคนเล่นเกมก็คือ Quest ที่เราจะหาทางผ่านไปให้ได้” วันนี้ยังไม่ผ่านก็พักก่อน พรุ่งนี้ค่อยมาลุยต่อ ถอยออกมาจากปัญหาสักนิด แล้วมองเป้าหมายหลักที่เราอยากไปให้ถึง ไฟเราจะได้ลุกโชนขึ้นมาใหม่
การอยู่ในบรรยากาศเชิงบวกก็มีส่วนช่วย การได้เห็นคนรอบตัวเราทุ่มเทความพยายามเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายของเขา การมีเพื่อนที่ดีที่ช่วยสนับสนุนเรา การได้เห็นผลลัพธ์ของสิ่งที่เราทำว่าส่งผลดีต่อคนรอบข้างมากขนาดไหน สิ่งเหล่านี้ทำให้เรามีกำลังใจและมีไฟที่จะทำงานต่อไปครับ
โดยเราต้องมีเป้าหมายที่ใหญ่มากพอเพื่อให้เรายังมีไฟในการทำงานต่อครับ เช่น ผมมีเป้าหมายว่าอยากเห็น Pantip เป็นพื้นที่ที่มีคำตอบที่น่าเชื่อถือให้กับทุกคำถามของคนไทย ทุกวันนี้หลายคนอยากรู้อะไร ลอง Search ดู ก็อาจจะพบคำตอบใน Pantip อยู่แล้ว แต่ผมคิดว่า Pantip เพิ่งเดินไปได้แค่ 1% ของเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ ยังมีอีกหลายคำถามที่ไม่มีคำตอบบน Pantip
หลายคำถามที่มีคำตอบแต่ยังไม่น่าเชื่อถือมากพอ หลายคำถามที่คำตอบล้าสมัยไปแล้ว เป้าหมายที่จะพัฒนาให้ Pantip ดีขึ้นในทุกๆ วัน เป็นเหมือนการเติมถ่าน เติมแก๊ส เติมอากาศให้ไฟลุกตลอดเวลา
11. สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม CEO : rgb72 และผู้จัดงาน Creative Talk Conference
ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกหมดไฟ หมดพลังในการทำงาน เหนื่อย ล้า แม้ว่าปีใหม่กำลังจะเริ่มก็ตาม ไม่ต้องตกใจ สิ่งที่อยากบอกคือ “มันไม่ใช่เรื่องแปลกใด ๆ”
มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ฟรีแลนซ์ หรือ เจ้าของบริษัท ต่างมีโอกาสที่จะรู้สึกเหนื่อยและหมดไฟ แต่จะทำอย่างไรให้ความรู้สึกนั้นหายไป และสามารถจุดพลังลุกขึ้นมาได้อย่างสดชื่นอีกครั้ง
ผมขอแยกวิธีการ “refresh” ตัวเองออกเป็น 2 รูปแบบ แบบแรก คือการ refresh ตัวเองแบบเร่งด่วน ซึ่งเป็นวิธีที่ทำกันเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการหนีไปเที่ยว หรือเดินทางไปในสถานที่ที่เราไม่คุ้นเคย เพื่อหลีกหนีออกจากบรรยากาศเดิม ๆ ที่จำเจ สูดอากาศสดชื่น พบปะคนหน้าใหม่ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถ refresh ตัวเองได้อย่างรวดเร็ว
แต่การ refresh ด้วยวิธีแรกนี้จะได้ผลลัพธ์ระยะสั้น refresh ได้ไม่นานก็เหนื่อยล้าอีกแล้ว แบบที่สอง ที่อยากแนะนำเป็นแบบที่ยั่งยืนกว่า นั่นคือการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุของอาการหมดไฟ
คนที่ทำงานไปวัน ๆ ทำงานเฉพาะที่อยู่ตรงหน้า งานส่งมาฉันก็ทำ การทำงานแบบนี้เรื่อย ๆ คือต้นเหตุของการหมดไฟ วิธีแก้ไขคือการถอยหลังออกมาให้เห็นภาพรวม และค้นหาเป้าหมายที่ชัดเจน หรือ purpose ที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเราเอง
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเป็นพ่อครัว งานของคุณคือการทำอาหาร การทำเฉพาะงานที่อยู่ตรงหน้าอาจจะทำให้คุณเบื่อ เหนื่อยล้า เพราะเข้างานมาก็ต้องคลุกอยู่กับควันไฟ น้ำมัน และการทำอาหารซ้ำๆ เดิมๆ
แต่ถ้าคุณถอยหลังออกมาให้เห็นภาพที่ใหญ่กว่าเดิม คุณจะพบว่า การทำอาหารคือส่วนที่มีความสำคัญที่สุดต่อธุรกิจร้านอาหารของคุณเลย เพราะถ้าไม่มีอาหารที่อร่อย แม้บริการจะดี ราคาจะถูก ลูกค้าก็ไม่เข้า
หรือถ้าถอยออกมามากกว่านั้น คุณอาจจะพบว่า การทำอาหารของคุณ ไม่ใช่แค่ทำให้ลูกค้าอิ่มท้องพร้อมความเอร็ดอร่อย แต่คุณอาจจะกำลังทำหน้าที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคน ระหว่างคู่รัก ระหว่างคู่ค้าทางธุรกิจ สร้างผลลัพท์ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม
เมื่อนั้น คุณอาจจะเริ่มคิดได้ว่า แล้วเราจะทำอาหารอย่างไรให้คนมีความสุขมากขึ้น เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนมากขึ้น การหั่นผักให้ชิ้นเล็กลงอาจจะทำให้คุณผู้หญิงไม่ต้องอ้าปากกว้าง ทำให้เธอดูน่าารักขึ้น เมื่อนั้น การทำงานของคุณก็จะเต็มไปด้วยพลังและความสุขอย่างที่คุณเองไม่เคยรู้สึกมาก่อน
ไฟในตัวนั้นก็อยู่ที่ตัวเราเองว่าจะลุกโชน หรือจะมอดไหม้ อย่าให้เป็นเพราะฟ้าฝนหรือคนอื่น มันดับได้ เราเองก็ต้องเป็นคนจุดมันให้ติดกลับขึ้นมาได้เช่นกัน
12. สุรศักดิ์ เหลืองอุษากุล Strategic Planning Director : BrandBaker
มันต้องมาดูก่อนว่า ” วันนี้เราหมดไฟเพราะอะไร ? ” ซึ่งมันก็จะนำไปสู่คำถามว่า “เราหมดไฟหรือเหนื่อยเพราะเจอปัญหาเดิมซ้ำๆ” ซึ่งถ้าถามตัวเองแบบไม่มีอคติก็จะพบเหตุผลว่าทำไมเราหมดไฟ แต่ถ้าในการณที่เราหมดไฟเพราะเราทำอะไรซ้ำๆ จนมันไม่มีอะไรที่มันใหม่แล้วก็จะเป็นอีกเรื่อง เพราะมันจะกลายเป็นคำถามที่ว่า ” แล้วเราจะเปลี่ยนอะไรได้บ้าง?”
หรือ “จริงๆ แล้วการ ‘เปลี่ยนงาน’ ก็เป็นทางออกนะ” เพราะเวลาชีวิตมันสั้น อยากให้ลองวิเคราะห์ให้ดีว่าการเปลี่ยนงานมันเป็นสิ่งที่ใช่จริงๆ หรือเปล่า หรือว่าจริงๆ มันเป็นที่ตัวที่เราเอง เพราะต่อให้เปลี่ยนงานแค่ไหน ถ้าตัวเราไม่เปลี่ยนก็จะยังมีปัญหาเหมือนเดิม แต่ถ้าเราไม่มีปัญหาแล้วงานมีปัญหาเปลี่ยนงานแล้วชีวิตดีขึ้นก็เปลี่ยนเถอะ
แต่สุดท้ายถ้าเราทำอะไรซ้ำๆ จนหมดไฟ สิ่งที่ง่ายที่สุดคือลองกลับไปอ่านข้อมูลเดิมๆ ที่เคยอ่านมาแล้ว มันจะเหมือนเราได้เจอกับเพื่อนคนเดิมที่ไม่เจอกันมานาน เช่น เว็บไซต์ที่เราเริ่มต้นเรียนรู้ตั้งแต่เข้าวงการเเรกๆ หรือหนังสือเรียนบางเล่มที่เราอ่านผ่านๆ แล้วคิดว่าจำได้หมดแล้ว
ของพวกนี้มันมีประโยชน์มากเพราะเป็นการถอยกลับไปสู่จุดที่เราเรียนรู้ใหม่ๆ อยากให้เชื่อเถอะว่าในมุมงานที่เราทำมัน “มีอะไรที่เราไม่รู้ ” อยู่เสมอ
ถ้ายังเบื่ออีกก็ขยับจากตัวเองเเล้วไปหาข้อมูลอะไรใหม่ๆ ซึ่งอาจจะเถิบไปคนละเรื่องก็ได้ เช่น ไปเรียนดนตรี วาดรูป เล่นกล้าม ต่ออยมวย เพราะการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับงานเลยจะทำให้ร่างกายเรามันหมุนเวียนไป และเราจะกลับมามองเรื่องเดิมในมุมใหม่
12. อรวี สมิทธิผล Co-Founder : Content Shifu, Managing Partner : Magnetolabs
เคยมีอยู่ช่วงนึงที่รู้สึกว่าหมดไฟมาก จนถึงขั้นอยากเปลี่ยนงาน อยากไปเรียนต่อ อยากหนีออกต่างจังหวัด ฯลฯ คิดอะไรไปเยอะแยะเต็มหัว คิดมาหลายสัปดาห์จนอยากจะร้องไห้ สุดท้ายคิดไม่ตกก็เลยนัดเจอกับเพื่อน เล่านั่นนี่ให้ฟัง แล้วจู่ๆ ตั้งแต่คืนนั้นจนถึงวันถัดมาและยาวๆ ไป อาการหมดไฟที่เคยมีก็หายไป…หายไปยาวเลย…
ถ้าเพื่อนไม่ใช่แม่มด แล้วเวทมนตร์วิเศษนี้คืออะไร?
ตัวอย่างที่เราให้ฟังตอนต้นคือตัวอย่างของคนหมดไฟ เพราะแท้จริงแล้วมาจากความ ‘เครียด’ ‘เหงา’ และ ‘ต้องการกำลังใจ’ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นอะไรที่แก้ได้ไม่ยากเลย แต่มัวสาละวนกับอะไรก็ไม่รู้ มองหาแต่วิธีทางหนีออกจากประตู แต่ไม่ได้มองว่าบางทีก็เป็นแค่ความอ่อนแอที่ขอแอบโผล่มาบ้างในบางโอกาส
คำว่า ‘หมดไฟ’ ของแต่ละคนอาจมีสาเหตุต่างกันออกไป บางคนหมดไฟเพราะหมดแรง เคสนี้ก็คือแก้ด้วยการบอกตัวเองให้พักบ้าง รีเซตแล้วค่อยเอาใหม่ บางคนหมดไฟเพราะรู้สึกท้อที่ผลงานไม่เป็นที่ยอมรับ เคสนี้วิธีแก้ก็จะเป็นอีกแบบนึง
การรักษาอะไรบางอย่างคือการเข้าใจที่ต้นตอ ไม่ใช่การทานยาแก้ตามอาการ
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเข้าใจกับตัวเองก่อนว่าสาเหตุของอาการ ‘หมดไฟ’ ที่ว่านั้นคืออะไร ซึ่งอรพบว่าแต่ละคนก็มักจะมีจุดอ่อนบางอย่างซ้ำๆเดิม หากเราเข้าใจถึงต้นตอของอาการของตัวเองแล้ว การแก้ไขก็จะทำได้ อาการหมดไฟที่ว่าก็จะสามารถแก้ได้ในระยะยาว
13. ธีรพัฒน์ เลิศสิริประภา CEO : Kouen Sushi Bar
วิธีรับมือคือ ” ต้องอยู่กับองค์กรที่ไม่ทำให้เราหมดไฟ ” เพราะสภาพแวดล้อมและ ‘Positive Thinking’ เป็นส่วนสำคัญ เราต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไปอยู่กับกลุ่มเพื่อนที่มีไฟระอุตลอด เพราะชีวิตคนเราก็เป็นเหมือนถ่าน ถ้าร้อนไปมันก็ไม่ดี มันต้องอุ่นๆ ระอุ แต่ลามอย่างต่อเนื่อง
ถ้าเข้าไปอยู่ในกลุ่มที่ไฟกำลังมอดมันก็ไม่ดีใช่ไหม เพราะถ้าเราอยู่ในคนกลุ่มไหนตัวเราเองก็จะเป็นแบบคนกลุ่มนั้น ส่วนตัวมีกลุ่มเพื่อนที่เจอกันก็ชอบคุยแต่เรื่องงาน แล้วแชร์ประสบการณ์ดีๆ ซึ่งกันและกันก็ทำให้มีพลังเสมอ
เพราะฉะนั้นอยากบอกว่าคนรอบข้างสำคัญมาก อีกหนึ่งอย่างคือผมชอบเอาคำคมแปะรอบๆ ให้ตัวเองมองเห็น แล้วเวลาเหนื่อยๆ หันไปดูก็จะมีสิ่งสะกิดใจให้เราสู้ต่อได้
15. พลสันต์ นกน่วม บรรณาธิการ : MangoZero , Co-Founder : GetTalks Podcast
ความหมายของคำว่า ‘หมดไฟ’ ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน จริงๆ แล้วมันอยู่ที่ว่าเราให้นิยามว่าอย่างไร ถ้าหมดไฟ หมายถึง การเบื่อในสิ่งที่ทำ วิธีแก้ก็อาจจะต้องเปลี่ยนไปทำแบบอื่นที่เราอยากทำใหม่ เพื่อจุดไฟอีกครั้ง
แต่กับบางคน หรืออย่างผมเองนั้น คำว่า หมดไฟ อาจหมายถึงการหมดแรงบันดาลใจมากกว่า แต่ไม่ใช่ความเบื่อจนไม่อยากที่จะทำสิ่งนั้นแล้ว เราแค่หมดแรงบันดาลใจ หมดเชื้อไฟไปเฉยๆ อาจจะเพราะเราทำงานอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมานานเกินไป จนไฟที่เคยมีมันดับลงเพราะเราไม่ได้เติมเชื้อไฟเข้าไปใหม่นั่นเอง
ดังนั้นสำหรับผมวิธีแก้เมื่อเราหมดไฟก็คือ “หยุดทำสิ่งนั้นก่อน” แล้วไปหาเชื้อมาเติมไฟ อย่างผมวิธีการเติมเชื้อไฟมันง่ายมากเลย แค่หยุดอยู่บ้าน หยิบมือถือมาไถดูอะไรไปเรื่อย คุยกับเพื่อน นอน อ่านหนังสือ หรือใช้เวลาจมจ่ออยู่กับความคิดของตัวเอง แล้วสักพักไฟผมจะกลับมาใหม่
โชคดีที่โดยปกติเราไม่ค่อยหมดไฟเท่าไหร่ เรียกว่าไม่เคยเลยจะดีกว่า อย่างมากสุดคือแค่เกือบมอดดับเท่านั้น แต่เรายังจุดติดได้เสมอ แต่ถ้าให้พูดจริงๆ แล้วสิ่งที่ทำให้เราแทบไม่เคยเจอคำว่าหมดไฟเลยก็คือเรามีเป้าหมายว่าอยากไปตรงไหนเราต้องทำให้ได้ เรามีความฝันว่าอยากทำอะไรเราก็พยายามจนไปให้ถึง
และสุดท้าย เรามีหนี้ที่ต้องทำงานหาเงินไปใช้ ข้อสุดท้ายนี่แหละ ที่ทำให้ผมก้มหน้า ก้มตาทำงานแบบไฟไม่เคยหมดเลยมาจนถึงตอนนี้ พลังของภาระมันยิ่งใหญ่มากๆ เชื่อผม
แต่ละคนมีมุมมองที่หลากหลายและแตกต่างกันออกไป ซึ่งเราหวังว่าบทความนี้คงช่วยให้คุณหบุดจากภาวะ ‘หมดไฟ’ หรือช่วยในการตัดสินใจได้นะคะ 😀