Site icon Thumbsup

เอกชนร่วมใจ “ธุรกิจต้องรอด” ทำไมเราถึงอยู่ในจุดที่ต้องแบกทุกอย่างกันเองแบบนี้นะ

“ทำไมเราต้องเป็นคนแบกทุกอย่างกันเองนะ”

คิดว่าหลายคนในช่วงนี้ คงรู้สึกกันว่าไม่ใช่แค่ทำงานไปวันๆ และระวังตัวจากเรื่องของวิกฤตโควิด-19 แล้ว หากแบกไหวเราก็ต้องช่วยเหลือสังคมกันเองอีกแม้แต่ธุรกิจเอง ต่างก็ต้องลงมาทำทุกอย่างเอง ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ที่หลากหลายขึ้น ไปจนถึงแบกต้นทุนและช่วยเหลือสังคมทุกอย่างกันเอง

เราจึงเห็นหลายซีอีโอบริษัทดัง สร้างสรรค์แคมเปญเพื่อช่วยเหลือประชาชนในแง่ของการใช้ชีวิต การลดต้นทุนเพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงร้านค้ามากขึ้น สร้างศูนย์ช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ ซึ่งสิ่งเหล่านี้หากจะมีการขยับของรัฐมาช่วยเอื้อประโยชน์ให้เอกชนมากขึ้นน่าจะดี แต่กลายเป็นว่าเอกชนยอม “แบก” ภาระเอง เพื่อช่วยสังคมให้อยู่รอดไปได้อีกวัน

วันนี้มาลองดูกันว่า การยอมแบกของผู้บริหารแต่ละคนเป็นอย่างไรกันบ้าง

Robinhood ส่งอาหารฟรีช่วยลดต้นทุนร้านค้า

คุณธนา เธียรอัจฉริยะ ประกาศผ่านเฟซบุ๊กตัวเอง ถึงมาตรการเร่งด่วนของโรบินฮู้ด แพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ที่ต้องการช่วยเหลือร้านค้าและประชาชนในช่วงล็อกดาวน์

“แผนที่ใช่ ใจต้องสั่น”

…ช่วยคนอย่าเขียม…
บ่ายสามเมื่อวาน ซีอีโอโทรหา บอกว่าอยากให้โรบินฮู้ดทำอะไรช่วงล็อกดาวน์ เดี๋ยว SCB จะสนับสนุนเต็มที่
ไอเดีย CEO คือให้โรบินฮู้ดส่งอาหารให้ฟรี! แล้วให้เริ่มพรุ่งนี้เลย
ด้วยความกังวลถึงผลกระทบ ผมพยายามจะบอก CEO ว่าเริ่มมะรืนมั้ย ตรงกับ ศบค ประกาศพอดี แล้วส่งฟรีซักสามโลแรกมั้ย เพราะเดี๋ยวคนใช้เยอะ ต้องใช้เงินเป็นร้อยล้านเลยนะ แถมไรเดอร์อาจจะขาด โดนด่าได้ ระบบก็ไม่รู้จะพร้อมรึเปล่า มีเวลาคืนเดียว
ซีอีโอหายไปสักครู่ กลับมาบอกว่าคุยกับบอร์ดแล้ว ช่วยคนอย่าเขียม ไม่เอามะรืน ให้เริ่มเลยพรุ่งนี้
เรียกประชุมทีมงานแจกงานกันบ่ายสามโมงครึ่ง มีความกังวลเรื่องงบประมาณ เรื่องระบบ เรื่องอาจโดนด่ากัน เรื่อง fraud ร้านค้า แต่ต้องลุยละ แยกย้ายกันทำงาน ฝ่ายเทคนิค ฝ่ายกระตุ้นไรเดอร์ ฝ่ายร้านค้า Call center
จุดประสงค์ของ SCB คือต้องการช่วยผู้ที่เดือดร้อนทั้งเรื่องทำมาหากินแล้วต้องอยู่บ้าน แล้วอยากให้ช่วยร้านค้าเล็กๆที่กำลังลำบากด้วย เลยเป็นที่มาของแนวคิด pay it forward เราช่วยคุณ คุณช่วยร้าน งบนี้ก็อยู่ในวิสัยที่พอทำได้ บอร์ดน่าจะมองเห็นแบบนั้น เลยบอกว่าอย่าเขียม
อีกอย่างที่ทีมงานเองก็อยากให้เกิดแรงกระเพื่อมก็คือความคิดที่คนตัวใหญ่ต้องช่วยคนตัวเล็ก ในสภาวะแบบนี้ ถ้าคนตัวใหญ่ลงมาช่วยกัน ผลหนักๆจากมหาวิกฤตินี้อาจจะพอบรรเทาได้บ้าง
แน่นอนว่าถ้าเรารอให้เตรียมไรเดอร์ เตรียมระบบให้สมบูรณ์ ก็อาจจะเลยล็อคดาวน์ไปเลยก็ได้ ความเดือดร้อนไม่รอให้เรามีเวลา ลุยไปก่อนแล้วแก้ปัญหาเอา ก็ต้องขออภัยทุกท่านถ้าเรียกไรเดอร์แล้วไม่มี ระบบอาจจะหน่วงบ้าง หรือถ้าเรียกถี่ๆแล้วปล่อยให้คนอื่นเรียกบ้างก็น่าจะช่วยกันได้ในวงกว้างนะครับ และอยากจะขอร้องร้านค้าบางร้านว่าฉวยโอกาสเอาเปรียบ สร้าง transaction ปลอมบนสถานการณ์แบบนี้ เราคงจับได้ยาก ก็ได้แต่ขอร้องเพื่อส่วนรวมกันนะครับ
มีเวลาทำงานกันคืนเดียว ต้องขอบคุณทีมงาน robinhood มา ณ ที่นี้ เลยครับ
หลังจากคุณธนา แชร์เรื่องนี้ออกมา วันรุ่งขึ้นก็มีการใช้งานถล่มทลาย จนระบบอาจจะรวนไปบ้าง หรือต้องแก้ไขกันอย่างเต็มที่ แต่อย่างน้อยความช่วยเหลือนี้ก็ทำให้ร้านอาหารรายย่อย มีทางรอดขึ้นอีกหนึ่งหนทาง

AIS ผุดมาตราพารอดช่วยทั้งลูกค้า-ร้านค้า

ทางด้านของโอเปอร์เรเตอร์ของไทยอย่าง AIS ก็ประกาศ “มาตรการพารอด” ที่เป็นช่องทางให้ร้านค้ารายเล็กเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าและรับชำระผ่านแอปพลิเคชั่น “เอไอเอส พารวย” ด้วยพอยท์ของลูกค้าของเอไอเอสที่มีกว่า 42.7 ล้านราย โดยไม่มีค่าธรรมเนียม พร้อมโปรโมทร้านค้าบน myAIS และ AIS V-AVENUE.CO คาดว่าจะเข้าถึงผู้ใช้งานกว่า 1 ล้านครั้งต่อวัน

โดยมาตรการนี้ได้ทั้งการกระตุ้นการจับจ่ายให้เกิดรายได้กับบรรดาร้านค้ารายเล็ก ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ พร้อมช่วยลดภาระและบรรเทาค่าใช้จ่ายของลูกค้า AIS ผ่านการใช้พอยท์เป็นส่วนลดแทนเงินสดอีกด้วย โดยหลังจากการเปิดบริการอย่างไม่เป็นทางการ (Soft launch) ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา

ปัจจุบันมีร้านค้าสมัครเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 1,000 ร้านค้า เอไอเอสตั้งเป้าร้านค้าเข้าร่วมโครงการ 100,000 ร้านค้าในปีนี้

เอกชนควักเงินซื้อวัคซีนให้พนักงาน

เป็นอีกหนึ่งสวัสดิการของบริษัทที่จัดสรรให้พนักงานของตนเอง เพื่อให้วัคซีนเข้าถึงประชาชนมากที่สุด แม้จะมีดราม่าบ้างกับองค์กรที่ “ดีล” กับภาครัฐในการเข้ารับวัคซีนบางตัว แต่หลายบริษัทเอกชนที่มั่นใจในวัคซีน mRNA อย่างไฟเซอร์หรือโมเดอน่าก็เลือกที่จะสั่งซื้อกับหน่วยงานของรัฐและตัดสินใจสั่งจอง แม้ภาครัฐจะ “ช้า” ในการเซ็นเอกสารและนำเข้ามาตามคำขอสั่งซื้ออย่างเป็นทางการ แต่ด้วยพลังกดดันของเอกชนในการร้องขอให้นำวัคซีนเข้ามาตามแผน คือ เข้ามาช่วงปลายปีเพื่อเป็น “Booster” และให้ประชาชนฉีดฟรีผ่านหน่วยงานภาครัฐก่อน
แต่ก็ยังมีประชาชนที่เป็นกลุ่ม “วัยทำงาน” ยังไม่สามารถจองวัคซีนผ่านหน่วยงานภาครัฐได้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ จนตอนนี้ต้องนำวัคซีนไปเร่งฉีดให้กับทีมแพทย์และพยาบาลก่อน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะวัคซีนไม่เพียงพอได้

สร้างศูนย์พักคอยช่วยผู้ป่วยรอเตียง

เป็นอีกหนึ่งเอกชนที่ดูแล้วจะทำในนามของตนเอง เพราะมีการร่วมมือกันของคุณสรยุทธ คุณต้น คุณไดอาน่า เพจหมอแล็บแพนด้า ที่นอกจากจะช่วยหาเตียงผู้ป่วย ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือด้านอาหารและยาแล้ว ล่าสุดมีการปรับปรุงตึกเก่าเพื่อเป็นศูนย์พักคอยผู้ป่วยรอเตียงฉุกเฉิน เพื่อทำการดูแลรักษาเบื้องต้นระหว่างรอเตียงจากโรงพยาบาลที่คาดว่าจะรับผู้ป่วยได้ 100-200 คน ซึ่งได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ถือว่าเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ช่วยบรรเทาความกังวลของผู้ป่วยและดูแลผู้ป่วยที่ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์การรักษา

สจล. ขอระดมทุนช่วยผลิตเครื่องจ่ายออกซิเจน

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดแคมเปญ “ให้เพื่อต่อลมหายใจ” การระดมทุนเพื่อผลิต ‘เครื่องจ่ายออกซิเจน High Flow’ ให้ผู้ป่วยระดับสีเหลืองทุกคนได้เข้าถึงได้เร็วที่สุด โดยเครื่องดังกล่าวจะช่วยพยุงการหายใจของผู้ป่วยโควิด-19 ผู้ป่วยปอดอักเสบหรือผู้มีภาวการณ์หายใจบกพร่อง ที่มาพร้อมระบบมอนิเตอร์ทางไกล ที่บุคลากรทางการแพทย์สามารถปรับการทำงานของเครื่องได้ผ่านแอปฯ
โดยไม่ต้องเข้าไปดูผู้ป่วยถึงเตียง ช่วยเพิ่มความปลอดภัยและลดความเสี่ยงติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์ ทาง สจล. ตั้งเป้าผลิตเครื่องจ่ายออกซิเจน High Flow เพื่อแจกจ่ายไปยังโรงพยาบาลสนามและโรงพยาบาลที่ขาดแคลนทั่วประเทศ ตลอดจนโรงพยาบาลที่แจ้งความประสงค์มายังมูลนิธิฯ ผู้มีจิตศรัทธาสามารถบริจาคผ่าน บัญชีธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี “มูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ในพระสังฆราชูปถัมภ์ เพื่อสู้ภัยโควิด” เลขที่บัญชี 693-0-35455-4 โดยสามารถนําใบเสร็จไปขอลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเอกชน ที่ร่วมใจกันช่วยประชาชน ที่เหตุวิกฤตของโควิดครั้งนี้ดูเหมือนจะพึ่งใครไม่ได้นอกจากพึ่งตัวเองกันแล้ว