ในภาวะสถานการณ์ COVID-19 กำลังส่งผลกระทบรุนแรงไปทั่วโลกนั้น ส่งผลให้ภาคธุรกิจเองก็ต้องวางแผนและพิจารณาถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่ไม่มีความแน่นอนนี้ ทีมงาน thumbsup ได้แปลผลวิเคราะห์ของ Mckinsy เกี่ยวกับสถานการณ์ที่ยังมีความเสี่ยงสูงนี้ มาให้เป็นแนวทางสำหรับผู้บริหารที่ต้องเตรียมรับมือกับปัญหานี้อย่างเร่งด่วน
หากสถานการณ์ COVID-19 อยู่ในช่วงของการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ไม่เกินไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ
- เศรษฐกิจในประเทศจีนฟื้นตัว 80% แรงงานส่วนใหญ่สามารถกลับมาทำงานได้
- สถานการณ์ในเอเชียตะวันออกและยุโรปสามารถควบคุมโรคได้
- สถานการณ์ในตะวันออกกลางสามารถควบคุมได้ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับคืนมา จำนวนผู้ติดเชื้อคงที่ จำนวนผู้ป่วยหนักลดลง
- พบหลักฐานว่าไวรัสโควิด-19 เป็นเพียงโรคตามฤดูกาล ภาคการบินและการท่องเที่ยวกลับสู่สภาวะปกติ ประเทศต่างๆ ยกเลิกการแบนนักท่องเที่ยว
เรียกว่าสถานการณ์นี้เป็นสิ่งที่เจ้าของธุรกิจทั่วโลกอยากให้เกิดขึ้นมากที่สุด นั่นคือ จบไวทำงานต่อได้ ไม่กระทบกับธุรกิจระยะยาว แต่ถ้าไม่ใช่ข่าวดีตามนี้ ก็อาจส่งผลต่อภาพที่ 2
กรณีเกิดการชะลอตัวทั่วโลก ซึ่งการลุกลามของสถานการณ์นี้คาดว่าจะจบช่วงไตรมาสที่ 3 หรือประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน ซึ่งการชะลอระยะยาวแบบนี้ ส่งผลต่อการเปิดตัวสินค้าใหม่ๆ ของแบรนด์ดังระดับโลกในกลุ่มสินค้าไอทีแน่นอน เพราะฐานการผลิตส่วนใหญ่จะมาจากประเทศจีนทั้งสิ้น
- เศรษฐกิจในประเทศจีนฟื้นตัว 80% แรงงานส่วนใหญ่สามารถกลับมาทำงานได้
- เอเชียตะวันออก ตะวันออกกลาง และยุโรป พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นจนถึงไตรมาสที่ 2 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้ง 3 ภูมิภาคอย่างมีนัยสำคัญ และต้นไตรมาสที่ 2 เป็นครั้งแรกจำนวนการพบผู้ป่วยรายใหม่ลดลง
- ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงลดลงในไตรมาสที่ 3 ความต้องการของผู้บริโภคจะฟื้นตัวหรือขึ้นอยู่กับการกลายพันธ์ุของโรค
- การบินและการท่องเที่ยวกลับสู่สภาวะปกติ ประเทศต่างๆ ยกเลิกการแบนนักท่องเที่ยว
ภาพนี้น่าจะเป็นเรื่องที่เจ้าของธุรกิจทั่วโลกไม่อยากให้เกิดเยอะที่สุดเพราะเป็นปัญหาที่ลากยาวไปถึงปลายปีที่ยังไม่รู้ว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้นจริงหรือไม่ และส่งผลต่อความเสี่ยงของธุรกิจรายย่อยที่อาจปิดตัวลงเนื่องจากไม่สามารถหาเงินทุนมารองรับต้นทุนทั้งการผลิต แรงงาน และความเชื่อมั่นของประชาชน ผู้บริโภคในการใช้ชีวิตต่อไปด้วย
กรณีเกิดการระบาดและวิกฤตทั่วโลก
- เศรษฐกิจในประเทศจีนฟื้นตัว 80% แรงงานส่วนใหญ่สามารถกลับมาทำงานได้
- เอเชียตะวันออก ตะวันออกกลาง ยุโรป และอเมริกาตะวันตก พบผู้ป่วยรายใหม่เรื่อยๆ จนถึงกลางไตรมาสที่ 2 และมีความสามารถในการกักกันโรคน้อย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้ง 3 ภูมิภาคอย่างมีนัยสำคัญ และกลางไตรมาสที่ 2 เป็นครั้งแรกที่จำนวนการพบผู้ป่วยรายใหม่ลดลง
- เกิดการแพร่ระบาดไปทั่วโลก รวมถึงการยืนยันพบผู้ป่วยรายใหม่ในพื้นที่ที่เหลือของ อเมริกาเหนือ แอฟริกา และอินเดีย
- ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงต่ำ และยังคงจำกัดการบินจนถึงปลายปี 2020
ดังนั้น ในบทวิเคราะห์จึงได้แนะแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วนได้อย่างน่าสนใจ และเป็นการตอบสนองต่อโรคโควิด-19 จำนวน 7 สิ่งที่บริษัทสามารถดำเนินการได้ทันที
ปกป้องพนักงาน
การดูแลบุคลากรหรือทีมงานคือสิ่งที่บริษัทควรทำอย่างเร่งด่วน เพราะบุคคลเหล่านี้คือทัพหน้าที่จะช่วยคุณสร้างความเชื่อมั่นต่อลูกค้า และส่งผลให้แบรนด์มีภาพลักษณ์เรื่องความใส่ใจความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน โดยบริษัทควรที่จะ ปฏิบัติตามข้อแนะนำขององค์กรด้านสาธารณะสุข (ศูนย์ควบคุมโรค, องค์การอนามัยโรค) รวมทั้งสื่อสารกับพนักงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง
แต่งตั้งทีมรับผิดชอบเฉพาะกิจ
การคัดเลือกคนหรือทีมพิเศษขึ้นมาเพื่อช่วยในเรื่องของการดูแลสุขภาพและสวัสดิการของพนักงานเป็นเรื่องที่องค์กรควรทำ เพื่อช่วยในเรื่องของความรัดกุมทางการเงินและควรมีแผนสำรองกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ตรวจสอบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ว่าตอบสนองต่อความต้องการของตลาดเพียงพอและขายสินค้าได้ตามความต้องการของลูกค้าหรือไม่
นอกจากนี้ ยังควรที่จะประสานงานและสื่อสารกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดเป้าหมายภายใน 48 ชั่วโมง หรือ 1 สัปดาห์ เพื่อปรับแผนไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันหรือชั่วโมง
รัดกุมทางการเงินและมีแผนฉุกเฉิน
เจ้าของบริษัทควรชี้แจงเพื่อระบุสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท และมีแผนฉุกเฉินสำหรับภาพรวมของบริษัทเสมอเพื่อสร้างความเชื่อมั่น โดยระบุปัจจัยที่จะส่งผลต่อรายได้และต้นทุนของบริษัท รวมทั้งสร้างความมั่นคงให้กับองค์กร ด้วยการลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นบางส่วน เพื่อให้บริษัทสามารถบริหารงานภายใต้ความเสี่ยงให้มีสภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ดูแลห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)
สิ่งที่ทุกคนกำลังเป็นห่วงที่สุดคือ จะมีสินค้าและบริการเพียงพอต่อการใช้ชีวิตหรือไม่ หากต้องอยู่ในช่วงกักตัว ดังนั้น บริษัทจึงควรกำหนดสินค้าคงคลังและรักษาช่วงเวลาการมีสินค้าให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการขาดแคลนสินค้า รวมทั้งเพียงพอต่อการขายตลอดทั้งปี เพื่อลดปัญหาพ่อค้าคนกลางกักตุนหรือขึ้นราคาสินค้าในช่วงที่ประเทศกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต
การขายและการตลาด
การวางขายสินค้าในระยะสั้น ควรวางแผนสินค้าคงคลัง (สต็อก) ว่ามีเพียงพอหรือไม่และผู้บริโภคตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของราคา หากเจ้าของธุรกิจฉวยขึ้นราคาสินค้าตอนนี้ ย่อมเจอภาวะเสี่ยงต่อแบรนด์และผลกระทบระยะยาว
ดังนั้น การลงทุนเกี่ยวกับเรื่องใดๆ ก็ตามในระยะยาวควรเลือกลงทุนในกลุ่มเป้าหมายที่มีความสำคัญและชัดเจนว่าสามารถใช้จ่ายได้ในระยะยาว
ฝึกซ้อมแผน
เนื่องจากไม่รู้ว่าเหตุการณ์จะลุกลามระดับไหน จึงควรกำหนดมาตรการให้พร้อมใช้งานสำหรับสถานการณ์ต่างๆ และมีความชัดเจนในการตัดสินใจ เพื่อให้ตอบสนอง และลงมือได้ตามแผน โดยอาจจะสมมุติเหตุการณ์หรือซักซ้อมแผนล่วงหน้า (เหมือนซ้อมหนีไฟ) เพื่อให้ทุกคนรับมือต่อสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นฉุกเฉินได้ทันท่วงที
กำหนดจุดประสงค์ให้ชัดเจน
บอกพนักงานให้ชัดเจนว่าจะมีมาตรการอย่างไร เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค เช่น ให้พนักงานที่จำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศเตรียมตัวอย่างไร ทำงาน Work from home และต้องไม่ให้ภาพรวมบริษัทเสียหาย เตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อสำหรับพนักงานที่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวันให้พร้อม ซื้อประกันคุ้มครองและให้พนักงานที่มีความเสี่ยงเข้าถึงการรักษาหรือตรวจสุขภาพได้สะดวก
ปัญหาเรื่องสุขภาพนั้น รับมือได้ยาก แต่หากเตรียมพร้อมและมีสติอยู่เสมอก็เชื่อว่าทุกบริษัทจะผ่านภาวะที่ฉุกเฉินนี้ได้อย่างแน่นอน