เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง การดำเนินชีวิตเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ และการกลับมาดำเนินการของภาคธุรกิจจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด หลังจากที่ผู้คนต้องกักตัวอยู่ในบ้านนานกว่า 2 เดือน ผู้บริโภคเริ่มออกมาจับจ่ายใช้สอยและหาความบันเทิงที่ขาดหายไป
จากข้อมูลอย่างเป็นทางการของจีน ศูนย์การค้าหลายแห่งทั่วประเทศเริ่มกลับมาดำเนินการได้มากกว่า 50% ส่วนศูนย์การค้าในเซี่ยงไฮ้ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด กลับมาดำเนินการแล้วกว่า 70% รวมถึงห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร และธุรกิจแบรนด์ต่างๆ
ในขณะที่ผู้บริโภคที่โหยหาการจับจ่ายใช้สอย ทำให้การบริโภคในประเทศมีแนวโน้มจะกลับสู่ระดับปกติ แต่ศูนย์การค้ากำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยและการปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ หลังโควิด-19 สร้างความเสียหายไปทั่วโลก
ปรับตัวสู่โลกออนไลน์
ช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดสำหรับประเทศจีนได้ผ่านไปแล้ว โจทย์ถัดไปสำหรับร้านค้าคือ จะปรับโครงสร้างรูปแบบการขายสินค้าและบริการอย่างไรหลังวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส
แม้ว่าร้านค้าจะสามารถกลับมาเปิดหน้าร้านได้ แต่ศูนย์การค้าหลายแห่งยังต้องกระตุ้นการบริโภค โดยสร้างช่องทางการขายเพิ่ม เช่น การขายออนไลน์โดยสตรีมมิ่ง การเพิ่มฟีเจอร์ “ทดลองใช้”แบบเสมือนจริง และเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง เป็นต้น ประเทศจีนขึ้นชื่อว่าทันสมัยด้านระบบอีคอมเมิร์ซมากที่สุดในโลก ร้านค้าจำนวนมากจึงต้องปรับแนวคิดเกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซอย่างรวดเร็วเพื่อให้อยู่รอดในโลกธุรกิจ
ในภาพรวมแล้วร้านค้าส่วนใหญ่เลือกที่จะเข้าสู่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซขนาดใหญ่เพื่อลดต้นทุน เช่น Tmall และ JD.com แต่ก็มีร้านค้าจำนวนมากเลือกที่จะสร้างร้านค้าออนไลน์ด้วยตนเองผ่านแพลตฟอร์มอย่าง Wechat group, Dingtalk และ Douyin
ยกตัวอย่างเช่น SPK-S ห้างสรรพสินค้าหรูในกรุงปักกิ่ง สร้างแคมเปญการตลาด “ช้อปปิ้งในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ” โดยเปิดตัวโปรแกรม Wechat Mini ที่ชื่อว่า “Disco on Mars” โดยภายในจะเป็นหุ่นโมเดลที่สวมใส่เสื้อผ้า เครื่องประดับคอลเลกชันใหม่ล่าสุด หน้าตาของเว็บไซต์ช่วยดึงดูดกลุ่มเป้าหมายของห้าง SPK-S และภายในโปรแกรมจะมีลิงก์ตรงไปหน้าสั่งซื้อทันที
ขณะเดียวกัน Lululemon แบรนด์ชุดออกกำลังกาย เชิญผู้ฝึกสอนมืออาชีพสอนออกกำลังผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อให้ลูกค้าสามารถออกกำลังกายจากที่บ้าน ส่งผลให้ยอดขายชุดออกกำลังกายออนไลน์กลับมามีกำไร
เช่นเดียวกับห้างสรรพสินค้า Joy City จัดสตรีมขายสินค้าโปรโมชั่นกว่า 20 แบรนด์ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัส ภายในเวลา 3 ชั่วโมง ยอดขายสินค้าแตะเป้าหมายประจำสัปดาห์ของช่วงเวลาปกติ
“ในช่วงที่ผ่านมาร้านค้าออฟไลน์ประสบปัญหาด้านยอดขายมานานก่อนที่จะเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดเสียอีก ไวรัสโควิด-19 เป็นเพียงตัวกระตุ้นให้ร้านค้าเหล่านั้นปรับตัวเข้าสู่ออนไลน์มากขึ้น”
Paul Wang จาก Kantar บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกกล่าว
ป้องกันการแพร่ระบาดซ้ำ
แม้ว่าผู้ซื้อและผู้ขายจะรอคอยที่จะกลับมาซื้อขาย แต่ก็มีร้านค้า ร้านอินเทอร์เน็ตและสถานบันเทิงหลายแห่งประกาศว่าจะปิดตัวลงชั่วคราวเพื่อป้องกันการระบาดซ้ำ แม้ว่าการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสในประเทศจีนจะคืบหน้าอย่างมาก แต่ทางการก็เตือนถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดการระบาดซ้ำ
ย่านเศรษฐกิจและศูนย์การค้าส่วนใหญ่ยังคงรักษามาตรการป้องกันไวรัสอย่างเข้มงวด พนักงานตรวจอุณหภูมิลูกค้าที่เข้าห้างทุกคน มีเครื่องวัดอุณภูมิอยู่เกือบทุกแห่ง ร้านอาหารทุกร้านกำหนดให้ลูกค้านั่งเว้นเก้าอี้กัน
“ร้านอาหารมีกฎเข้มงวดและชัดเจนมาก” Eva Chung พนักงานบริษัทใกล้ย่านเศรษฐกิจกล่าวเสริมว่า รู้สึกปลอดภัยและกังวลในเวลาเดียวกัน แต่ก็ยังเพลิดเพลินกับการทานอาหารนอกบ้านมากกว่า
การกลับมาดำเนินธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกบริษัทในประเทศจีน แต่ห้างสรรพสินค้ายังไม่คาดหวังว่าปริมาณการซื้อของผู้บริโภคจะกลับมาทันที เนื่องจากตกงานและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังตกต่ำ
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์จาก World Economics Forum เชื่อว่ายุคหลังโควิด-19 จะเห็นปัญหาธุรกิจและเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศจีนจะกลับมาอย่างแน่นอน
อ้างอิง JingDaily
ช้อปสินค้ายอดนิยมของ Xiaomi ออนไลน์ คลิกเลย