ที่มาภาพ :?linseymcintosh
วันนี้ขอมาแบบแหวกแนวหน่อยค่ะ แต่รับรองว่ามีประโยชน์กับทุกภาคธุรกิจ ที่กำลังออกแบบโมเดลธุรกิจ (Business Model) โดยเครื่องมือที่จะมาแนะนำในวันนี้มีชื่อว่า Business Model Canvas
Business Model Canvas เป็น template ที่ช่วยในการออกแบบโมเดลธุรกิจ ถูกพัฒนาขึ้นมาและนำเสนอโดย Alexander Osterwalder ในหนังสือชื่อ Business Model Generation (โดยในบทความนี้ได้คัดเลือกเนื้อหาหลักๆ ออกมาจากหนังสือดังกล่าว)
เมื่อเราต้องการออกแบบโมเดลธุรกิจ หลายครั้งเราก็ไม่แน่ใจว่าองค์ประกอบต่างๆ นั้นครบหรือไม่ และยากที่จะนำมาอธิบาย หรือใช้ในการระดมความคิด ถกกันกับเพื่อนๆ แต่ Business Model Canvas สามารถที่จะช่วยในจุดนี้ได้ โดยขอยกประโยชน์หลักๆ 2 หัวข้อด้วยกันคือ
1. ช่วยในการแจกแจงองค์ประกอบต่างๆ ออกมา เพื่อให้เราเข้าใจและออกแบบ โมเดลธุรกิจได้ครอบคลุม อันประกอบด้วย
- Customer Segment กลุ่มลูกค้าของเราเป็นกลุ่มไหน? เช่นเป็นกลุ่มมวลชน (mass), เป็นแบบเฉพาะกลุ่ม (niche), กลุ่มลูกค้าองค์กร หรือบางธุรกิจทำหน้าที่เป็นตัวกลางทำให้มีกลุ่มลูกค้าที่เกี่ยวข้องมากกว่าหนึ่งกลุ่ม (Multi-Sided Platform)
- Value Propositions คุณค่าของสิ่งที่เราขายอยู่คืออะไร? เข้าไปช่วยแก้ปัญหาในจุดไหน? ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความสะดวกสบาย อาทิเช่น Apple นำเสนอ iTunes Store และ อุปกรณ์อื่นๆ ที่สามารถเชื่อมโยงให้ลูกค้าสามารถดาวน์โหลดคอนเทนต์ ที่ในอดีตมีความยุ่งยาก ไม่มีมาตรฐาน แต่กลับสามารถทำได้สะดวกมากในปัจจุบัน เป็นการมอบประสบการณ์ดีๆ ให้กับลูกค้า, ?ช่วยประหยัดต้นทุน เช่นพวกบริการ Cloud ต่างๆ , ลดความเสี่ยง, เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่อย่าง สายการบินราคาประหยัด หรือ กองทุนรวม เป็นต้น
- Channels ขายอย่างไร? ผ่านทางไหน? ไม่ว่าจะเป็นการขายเองโดยตรงผ่านหน้าร้าน ผ่านเว็บฯ หรือผ่านทางคู่ค้า แจกแจงออกมาให้หมด
- Customer Relationships เรามีช่องทางสร้างสายสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างไรบ้าง? มีเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่คอยให้ความช่วยเหลือ Facebook, Twitter? ศูนย์บริการลูกค้า (Call Center)? หรือมีช่องทางให้ลูกค้าช่วยเหลือตัวเองได้เช่น Web-Self Service เป็นต้น
- Revenue Streams วิธีการหารายได้ของเราเป็นอย่างไร? เช่น เป็นระบบสมาชิก คิดค่าธรรมเนียม รายเดือน/รายปี? คิดตามการใช้งานจริง? การปล่อยให้เช่า?, การคิดค่าลิขสิทธิ์? หรือ นำรูปแบบ Multi-Sided Platform มาใช้ เช่นเปิดให้ลูกค้าใช้ฟรี และคิดค่าใช้จ่ายกับผู้ลงโฆษณา อย่างธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์, Google เป็นต้น
- Key Resource ทรัพยากรของบริษัทเราคืออะไร? ซึ่่งเป็นได้ทั้งเงินทุน, ทรัพยากรบุคคล, สิ่งของ, ทรัพย์สินทางปัญญา อาทิเช่น บริษัท Qualcomm ผู้ผลิตชิปเซ็ตให้กับอุปกรณ์โทรศัพท์ต่างๆ นั้น การออกแบบชิปเซ็ตเป็นทรัพท์สินทางปัญญาของทาง Qualcomm โดยตรง , หรืออย่าง Apple ก็มีแบรนด์และแพลตฟอร์มที่แข็งแกร่ง เป็นต้น
- Key Activities สิ่งที่ต้องทำเพื่อขับเคลื่อนให้โมเดลธุรกิจนี้ทำงานได้คืออะไร? อันได้แก่ การผลิต, การเข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้กับลูกค้า หรือ การจัดการดูแลแพลตฟอร์ม ยกตัวอย่างเช่น บริการ Cloud ต่างๆ ต้องคอยจัดการดูแลแพลตฟอร์ม, ธุรกิจสิ่งพิมพ์ หัวใจหลักก็คือคอนเทนต์ ดังนั้นก็ต้องมีการสร้างและเขียนขึ้นมา เป็นต้น
- Key Partners ใครคือคู่ค้าของเรา? หลายธุรกิจไม่สามารถดำเนินไปได้ถ้าขาดซึ่งคู่ค้า และถึงแม้เราจะทำได้เองก็ไม่คุ้มเพราะเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลสูง บางครั้งควรเลือกที่จะ Outsource ออกไป เพื่อที่บริษัทจะได้หันมามุ่งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือดูแลลูกค้าอย่างจริงจัง และหลายธุรกิจก็ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ตัวอย่างคู่ค้าของ Apple เห็นได้ชัดมาก ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเพลง ผู้ผลิตอุปกรณ์แบบ OEM, หนังสือพิมพ์และนิตยสารแจกฟรีทั้งหลายก็ต้องจับมือกับสถานที่สำคัญๆ ต่างๆ ในการนำหนังสือเหล่านั้นไปวาง, เว็บฯ ซื้อขายของก็ต้องอาศัยระบบการชำระเงินของผู้ให้บริการ, Nintendo ก็ต้องพึ่งผู้พัฒนาเกมใหม่ๆ มาไว้บนเครื่อง Wii เป็นต้น
- Cost Structure ค่าใช้จ่ายหลักของธุรกิจคืออะไร? อาทิเช่น ระบบโครงข่ายที่ต้องดูแลรักษา, ระบบฐานข้อมูลที่นับวันจะขยายใหญ่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ , ค่าใช้จ่ายอันเกิดจากการที่ต้องพัฒนาซอฟแวร์ไปเรื่อยๆ หรือบางรายเป็นงานที่เกี่ยวกับการตลาดเป็นหลัก ซึ่งก็จะมีค่าใช้จ่ายด้านการตลาด, การดึงลูกค้าเข้ามา เป็นต้น
จากองค์ประกอบข้างต้น ตัวอย่างของธุรกิจชื่อดังอย่าง Skype ก็สามารถนำมาแจกแจงและวาดออกมาเป็นภาพอย่างที่เห็นด้านล่าง
ที่มาภาพ : Business Model Inc.
2. Business Model Canvas เป็น Template ที่ฝึกให้คิดแบบ Visualization คือการคิดด้วยภาพ นอกจากจะช่วยให้เราจัดกระบวนการทางความคิดภายในหัวเราได้ดีแล้ว เมื่อเราประชุมกับเพื่อนๆ เพื่อระดมสมองก็ง่ายในการถกกันด้วย อย่างเช่น ถ้าเราต้องการเสริมหรือปรับไอเดียส่วนไหน ภาพที่ฉายอยู่บนกระดานก็สามารถปรับแก้ได้อย่างสะดวก โดยเอา Post-it ธรรมดาๆ ที่เราคุ้นเคยพร้อมลงความเห็นใหม่ๆ มาแปะไว้บนกระดานตามช่องต่างๆ และก่อนที่จะปิดประชุมก็รวบรวมข้อมูลเหล่านี้เข้ามาได้ง่ายเลย
นี่ก็เป็นเพียงการแนะนำ Business Model Canvas คร่าวๆ นะคะ สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถหาหนังสือที่ชื่อว่า Business Model Generation มาอ่านเพื่อลงในรายละเอียดได้ แถมยังสอดแทรกข้อคิดดีๆ? เช่นการฝึกตั้งคำถามนอกกรอบอย่าง ?อะไรจะเกิดขึ้น?ถ้า?.? เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ, กฏของการระดมสมองอย่างมีประสิทธิภาพ, การฝึกคิดด้วยภาพ เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตาม อ่านอย่างเดียวคงไม่พอค่ะ มันจะเกิดเป็นประโยชน์อย่างสูงสุดก็ต่อเมื่อเรานำมันมาลองใช้จริงนั่นเอง