เมื่อหลายปีก่อนผมเคยได้ยินตัวย่อ “BYOD” หรือ Bring Your Own Device ซึ่งขณะนั้นเรียกว่าเป็นที่นิยมและถูกคาดเดาไว้ว่าจะเป็นเทรนด์ด้านไอทีที่มาแรงในอีกไม่กี่ปี และเป็นเวลาอีกหลายปี ที่ตัวย่อนี้เริ่มติดหูคนในแวดวงไอที และเริ่มคิดที่จะนำมาใช้กัน แต่จนปัจจุบันก็ยังคงไม่ได้เห็นการนำเทรนด์ที่ว่านี้ มาใช้กันอย่างเป็นจริงเป็นจังกันซักเท่าไรนัก แล้วด้วยสาเหตุอะไรกันล่ะ?
เทรนด์ไอทีที่เรียกว่า เป็นคำฮิตติดปากคนในแวดวง ด้วยคอนเซปต์ที่จะให้พนักงานในองค์กร นำอุปกรณ์ไอทีส่วนตัวมาใช้งานร่วมกับแอพพลิเคชันต่างๆ ในองค์กร ทั้งนี้เพื่อให้องค์กรลดต้นทุนการลงทุนกับอุปกรณ์พกพาของเหล่าพนักงานในบริษัทได้อย่างมหาศาล ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้กับพนักงาน และเพิ่มประสิทธิผลให้กับองค์กรได้อีกด้วย
แต่ในหลายๆ ปีที่ผ่านมาปัจจัยหลักที่คงทำให้เทรนด์ BYOD ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างชัดเจน (ส่วนใหญ่องค์กรในบ้านเรา ยังคงรูปแบบ CYOD หรือ Choose Your Own Device อยู่) หรือเติบโตได้ต่อเนื่อง ก็มีสาเหตุอยู่หลายๆ ปัจจัย ที่น่าจะทำให้ BYOD ยังไม่เกิดในบ้านเรา เช่น:-
- ผู้ใช้งาน หรือพนักงานในองค์กร – ในมุมมองของผมเอง นี่คือสาเหตุที่ควบคุมได้ยากที่สุดสำหรับองค์กร ด้วยหลายๆ สาเหตุ ที่ทำให้พนักงานไม่นิยมที่จะนำอุปกรณ์ของตัวเองมาใช้ร่วมกับงาน อย่างเช่นไม่อยากให้งานติดตามตัวไปทุกที่ ไม่อยากให้เครื่องต้องมารับภาระกับอีเมลงาน จนอาจจะทำให้แบตเตอรี่หมด หรือคิดว่าเครื่องที่ใช้ทำงาน ควรจะเป็นเงินขององค์กรเป็นคนรับผิดชอบ เป็นต้น
- ระบบด้านไอทีของบริษัท ไม่เอื้ออำนวยพอ – บางบริษัทอาจจะพร้อมที่จะก้าวไปสู่ BYOD แบบจริงจัง แต่กับบางบริษัทหรือองค์กรนั้น พยายามที่จะไปในจุดๆ นั้น แต่กลับไม่ได้ปรับปรุงอะไรให้มากพอที่จะทำให้ระบบของตัวเอง รองรับกับเทรนด์เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเวอร์ชันของแอพพลิเคชัน ที่อาจจะรองรับบนคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลได้เป็นอย่างดี แต่กลับยังมีปัญหาจุกจิกกับอุปกรณ์พกพา ทำให้พนักงานเองเกิดความเบื่อหน่ายที่จะติดตั้งแอพฯ เหล่านี้ลงไปในอุปกรณ์ส่วนตัว เพราะอาจจะพบปัญหาร่วมกับการใช้งานส่วนบุคคลได้
- ความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัว ขององค์กร/พนักงาน – นอกจากสองปัญหาข้างต้น หนึ่งสิ่งที่ BYOD ไม่สามารถเกิดได้คือการรวมกันของข้อมูล ทั้งข้อมูลส่วนตัวของพนักงาน ที่จะไปรวมอยู่กับข้อมูลขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นแอพพลิเคชัน อีเมล และข้อมูลที่เป็นข้อมูลปกปิดอื่นๆ องค์กรเองก็เกรงว่าข้อมูลจะถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ หรือบุคคลภายนอก ส่วนพนักงานก็มักเกรงว่าจะถูกสอดส่องดูข้อมูลส่วนตัว โดยฝ่ายไอที หรือคนที่มีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลในตัวเครื่อง
เหล่านี้ถือได้ว่าเป็นอุปสรรคสำคัญที่ยังคงทำให้คำว่า BYOD นั้นยังไม่เติบโตในบ้านเราได้อย่างเต็มที่ และยังคงเป็นแค่คำเท่ห์ๆ ที่เอาไว้พูดให้ดูสวยหรู แต่ไม่สามารถปฏิบัติได้เต็มรูปแบบจริงๆ กับองค์กรส่วนใหญ่ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามบทความนี้มิใช่บทความที่เป็นข้อเท็จจริง แต่เป็นเพียงความคิดเห็นซึ่งแสดงผ่านเว็บไซต์ thumbsup โดยผมซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานของกองบรรณาธิการเท่านั้น และผมก็ยังไม่ได้ฟันธงชัดเจนลงไปว่า BYOD จะไม่มีทางเกิดได้ในบ้านเรา แต่อะไรที่จะเป็นเครื่องมือ หรือตัวกระตุ้นให้เทรนด์ที่ว่านี้เกิดได้บ้าง รอติดตามอ่านกับบทความถัดไปนะครับ…สวัสดีครับ