“ถ้าได้ทำงานที่คุณรัก คุณจะไม่ต้องทำงานเลยสักวัน” ใครซักคนได้กล่าวไว้ จนกลายเป็นประโยคคลาสสิคที่คอยเตือนใจให้หลายคนมุ่งค้นหาสิ่งที่รัก สิ่งที่ชอบ
แต่จะมีผู้โชคดีสักกี่คนที่ได้ทำงานที่รัก เชื่อว่าทุกคนก็อยากทำงานที่ชอบ มีรายได้ที่เหมาะสมกันทั้งนั้น แต่ด้วยเหตุผลและปัจจัยหลายๆ อย่างอาจทำให้ได้งานที่ไม่ตรงกับความต้องการ
ส่วนใหญ่ยังคงต้องตื่นมาเจอกับเช้าวันจันทร์ที่ไม่อยากให้มาถึง และเฝ้ารอว่าเมื่อไหร่จะถึงวันศุกร์ พร้อมกับความรู้สึกว่าวันเสาร์-อาทิตย์ผ่านไปไวจริงๆ
ผู้เขียนเลยอยากจะมาพูดถึงวิธีตามหา Calling หรือ ‘งานที่รัก’ ซึ่งมีส่วนผสมอยู่ 3 อย่าง คือ
งานที่ทำแล้วมีความสุข – แน่นอนว่าทำงานที่รักเราต้องมีความสุข ไม่ได้หมายความว่าเป็นงานที่ไม่เครียดหรืองานที่สบาย เพราะงานทุกงานย่อมมีปัญหาเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่มุมมองในการทำงานต่างหากที่เป็นตัวบ่งชี้ อาทิ ความสนุกในการทำงาน ความถนัดในการทำงาน ความมุ่งมั่นที่เกิดขึ้นทั้งในและนอกเวลางาน
งานที่มีความหมาย – งานที่ดีต้องทำให้เราภูมิใจ งานที่ดีจึงไม่ใช่แค่ค่าตอบแทนดี แต่ต้องเป็นงานที่ทำให้เราเห็นคุณค่าของตัวเอง ภูมิใจกับงานตรงหน้าและรู้สึกว่างานนั้นมีความหมาย ได้ส่งต่อคุณค่าให้กับสังคมในแง่ใดแง่หนึ่ง ซึ่งจะทำให้เรากระหายที่จะเรียนรู้ต่อยอดและพัฒนาศักยภาพในการทำงาน
มีรายได้ที่เพียงพอ – เงินซื้อไม่ได้ทุกอย่าง แต่ทุกอย่างที่อยากได้ต้องใช้เงินซื้อ แม้ว่าจะได้ทำงานที่ชอบแค่ไหนแต่รายได้ไม่เพียงพอก็คงไม่มีความสุข ไม่ว่าจะเป็นค่าบ้าน ค่ารถ ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต หรือการผ่อนสิ่งต่างๆ ทุกอย่างล้วนใช้เงินทั้งนั้น
แล้วเราจะตามหางานที่รักได้อย่างไร?
อธิบายกันมายืดยาวว่างานที่รักมีลักษณะอย่างไร แต่เชื่อว่าปัญหาของใครหลายๆ คนคงเป็นปัญหาตามหางานที่รักไม่เจอมากกว่า วิธีต่อไปนี้เป็นเพียงหนึ่งในแนวทางเบื้องต้นในการสำรวจตัวเองเท่านั้น
1. สังเกตตัวเอง คงไม่มีใครตอบคำถามนี้ไปได้มากกว่าตัวเราเอง เราเป็นคนแบบไหน ชอบทำงานแบบไหน ถนัดอะไร ทำอะไรได้ดีที่สุด หากเรารู้ว่าเราชอบอะไรและมุ่งมั่นตั้งใจพัฒนาศักยภาพ เราก็สามารถสร้างมูลค่าจากความสามารถของเราได้
2. ทดลองทำสิ่งใหม่ๆ หลายคนไม่ค้นพบตัวเองซักที จะเลือกสายวิทย์หรือศิลป์ เลือกเข้าคณะอะไรดี ทำงานอะไรดี การค้นหาสิ่งที่ชอบสุดท้ายก็ต้องลงมือทำ ลองไปสัมผัสประสบการณ์เพื่อพิสูจน์มัน ทั้งนี้งานที่รักของเราอาจไม่ได้เป็นงานที่พบเจออยู่ทั่วไปก็ได้ เมื่อ 10 ปีก่อนใครจะไปคิดว่าเล่นเกมส์ หรือการกินอาหารให้คนอื่นดูจะกลายเป็นอาชีพที่มั่นคงได้
3. ถามตัวเองว่าถ้าไม่มีเงินเข้ามาเป็นส่วนเกี่ยวข้อง เราจะยังทำสิ่งนี้อยู่หรือไม่ เป็นการสมมุติที่ช่วยให้เห็นภาพมากขึ้น หากเรารักในสิ่งที่ทำ แสดงว่าสิ่งนั้นมีความหมายมากกว่าตัวเงิน