Site icon Thumbsup

ดึงระบบ “Captcha” มาเป็นเครื่องมือทำแคมเปญออนไลน์กันเถอะ!!

กิจกรรมออนไลน์แสนธรรมดาอย่างการใส่ตัวอักษรเพื่อป้องกันเหตุสแปม (spambot) อย่าง Captcha ที่เราคุ้นเคยเป็นอย่างดี ตอนนี้ถูกนำมาดัดแปลงให้เป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์ของกลุ่มพิทักษ์สิทธิมนุษยชนได้อย่างน่าทึ่ง ทำได้อย่างไรตามไปดูกัน

กลุ่มพิทักษ์สิทธิมนุษยชนไอเดียเก๋นี้มีชื่อว่า Civil Rights Defenders สิ่งที่กลุ่มพิทักษ์สิทธิ์นี้ทำคือการลงมือสร้างระบบ Captcha ที่ปกติแล้วมีไว้ใช้ป้องกันการสแปมหรือ spambot (ภัยการสแปมหรือแอบอ้างสมัครใช้บริการของระบบคอมพิวเตอร์ประสงค์ร้าย) ขณะเดียวกันก็สามารถให้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนแก่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกได้ โดยแทนที่จะใช้ตัวอักษรที่ไม่มีความหมาย แต่ระบบ Captcha นี้จะใช้วิธีตั้งคำถาม เพื่อให้ผู้ใช้พิมพ์คำตอบที่จะทำให้ทุกคนได้รู้สึกถึงสิทธิของมนุษยชน

ตัวอย่างเช่นคำถามว่า “ในโคโซโว ผู้คนมากมายถูกทรมานอยู่ในสถานกักกัน เรื่องนี้คุณรู้สึกอย่างไร?” โดยจะปรากฏ 3 ตัวเลือกให้ผู้ใช้ใส่ในระบบ Captcha เพื่อตรวจสอบสแปม ได้แก่ “ตื่นเต้น (excited)”, “ข้องใจ (bothered)” และ “ดี (great)”

รายงานยังระบุว่าหลายคำถามครอบคลุมถึงสภาพเหตุการณ์ในอดีต เช่น “ในปี 2010 กองเกียรติยศสามารถสวนสนามในเซอร์เบียได้ครั้งแรก เพราะความพยายามชั้นยอดจากเจ้าหน้าที่และตำรวจ นี่คือก้าวแรกของสิทธิมนุษยชนที่ชาว LGBT ได้รับ คุณรู้สึกกับเรื่องนี้อย่างไร?” ซึ่งตัวเลือกนั้นประกอบด้วย “ดีใจมาก (very glad)”, “ไร้สาระ (dusty)” และ “แค่ช่วงสั้นๆ (short)”

แน่นอนว่าคำถามในสถานการณ์ที่แตกต่างกันเหล่านี้จะสามารถกระตุ้นต่อมความรู้สึกเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของชาวออนไลน์ได้ไม่มากก็น้อย โดยโครงการนี้ยังสะท้อนความหมายแฝงที่น่าสนใจ นั่นคือความรู้สึกของทุกคนจะกลายเป็นเครื่องสะท้อนความแตกต่างของมนุษย์กับเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ดีที่สุด

ทั้งหมดนี้แสดงว่าโครงการสอนเรื่องสิทธิมนุษยชนสุดแยบยลนี้สามารถเปลี่ยนกระบวนการน่าเบื่อหน่ายที่ชาวออนไลน์ต้องทนปฏิบัติมาตลอดหลายปี มาเป็นแพลตฟอร์มส่งเสริมสังคมได้อย่างลงตัว จุดนี้ถือเป็นเรื่องที่นักการตลาดควรมองเป็นกรณีศึกษาที่ดี เพราะระบบ Captcha นั้นถูกสอดแทรกในขั้นตอนการสมัครบริการแทบทุกชนิด ซึ่งการนำระบบนี้มาใช้ประโยชน์ให้ได้นั้น บริษัทและองค์กรจะได้รับแต่ผลดี ไม่มีเสีย

ที่มา:?PSFK