ทาง SCBS ได้จัดทำบทวิเคราะห์เกี่ยวกับ การบริโภคเอกชนปี 2019 เมื่อลมปะทะหน้าโดย ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน สายงานวิจัย เพราะประเมินสภาพเศรษฐกิจไทย ในไตรมาสที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ผู้ติดตามเศรษฐกิจไทยในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ด้วยภาคส่งออกและท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่ภาคในประเทศซึมเซาต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ภาพดังกล่าวเริ่มเปลี่ยนไปในไตรมาส 3/2018 เนื่องจากเป็นไตรมาสแรกในรอบ 4 ปีที่การบริโภคเอกชนขยายตัวดีกว่าเศรษฐกิจ ภาพดังกล่าวทำให้สำนักวิจัยเศรษฐกิจของรัฐมองว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวทั่วถึงแล้ว และทิศทาง (Momentum) เช่นนี้จะยังต่อเนื่องมาจนปี 2019
การบริโภคที่ฟื้นตัวนั้นเป็นผลจากสินค้าคงทนโดยเฉพาะรถยนต์เป็นหลัก แต่การบริโภคสินค้ากึ่งคงทน เช่น เครื่องนุ่งห่ม และไม่คงทน เช่น อาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ รวมถึงบริการ ขยายตัวต่ำ และ/หรือชะลอลงต่อเนื่อง บ่งชี้ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไม่ได้กระจายตัวอย่างทั่วถึง เนื่องจากผู้ที่มีกำลังซื้อรถยนต์นั้น ส่วนใหญ่เป็นประชาชนที่มีรายได้ระดับกลางถึงสูง
ทิศทางการบริโภคภาคเอกชนในปี 2019 มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงจากปี 2018 จาก 3 ปัจจัยหลัก
(1) ยอดขายรถยนต์ที่มีแนวโน้มหดตัวในปีนี้ และกระทบต่อการบริโภคสินค้าคงทน
(2) ภาคการท่องเที่ยวที่น่าจะขยายตัวชะลอลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน และจะกระทบต่อการบริโภคสินค้ากึ่งคงทนและไม่คงทน
(3) รายได้ของเกษตรกร ที่มีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงหดตัว ขณะเดียวกัน เสถียรภาพด้านการเมืองก็เป็นปัจจัยเสี่ยงของการบริโภคระยะต่อไปเช่นกัน
แม้การประมาณการดังกล่าว จะคำนวณจากปัจจัยเชิงมหภาคลงมา (Top-down) มิใช่จากแนวโน้มการดำเนินงานของแต่ละบริษัท (Bottom-up) แต่การประมาณการดังกล่าวอยู่บนสมมุติฐานหลักที่ว่าแนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนโดยรวมของไทยในปี 2019 จะชะลอจาก 2018 ดังนั้น นักลงทุนอาจต้องเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนในหุ้นกลุ่มดังกล่าวมากขึ้น โดยอาจเลือกลงทุนในหุ้นที่มีพื้นฐานดี และมีการบริหารทีมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผลตอบแทนที่ได้คุ้มค่ากับการลงทุน
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาในรายละเอียดของการบริโภคภาคเอกชนที่แท้จริง (ซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งในการคำนวณผลิตภัณฑ์โดยรวมประชาชาติหรือ GDP) แล้ว จะพบว่า การบริโภคที่ฟื้นตัวนั้นเป็นผลจากการบริโภคสินค้าคงทนโดยเฉพาะรถยนต์เป็นหลัก แต่การบริโภคสินค้าอื่นๆ อันได้แก่กึ่งคงทน เช่น เครื่องนุ่งห่ม และไม่คงทน เช่น อาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ รวมถึงบริการนั้นขยายตัวต่ำ และ/หรือชะลอลงต่อเนื่อง บ่งชี้ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไม่ได้กระจายตัวอย่างทั่วถึง เนื่องจากผู้ที่มีกำลังซื้อรถยนต์นั้น ส่วนใหญ่เป็นประชาชนที่มีรายได้ระดับกลางถึงสูง ขณะที่การบริโภคของประชาชนฐานรากที่บริโภคสินค้ากึ่ง/ไม่คงทนลดลง
นอกจากนั้น หากพิจารณาดัชนีการบริโภคภาคเอกชน จากฐานข้อมูลรายเดือนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว จะพบว่าข้อมูลในไตรมาส 4/2018 เห็นสัญญาณการบริโภคสินค้าคงทนโดยเฉพาะรถยนต์ที่เริ่มชะลอตัว ขณะที่การบริโภคภาคบริการชะลอ/หดตัวมากขึ้น โดยเฉพาะภาคที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ซึ่งหากภาพเช่นนี้ดำรงอยู่ต่อเนื่อง ก็อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อทิศทางการบริโภคของไทยในอนาคตได้
ในส่วนของยอดขายรถยนต์ จะเห็นได้ว่ายอดขายในปี 2018 สูงถึง 1.04 ล้านคัน ขยายตัว 19.5% ต่อปี สูงสุดในรอบ 5 ปี ซึ่งเกิดจากผู้ใช้สิทธิ์โครงการรถยนต์คันแรก ณ ปี 2011-12 (ประมาณ 1.1 ล้านคัน) ครบกำหนดระยะเวลาการผ่อนชำระ 5-6 ปีและเริ่มเปลี่ยนรถยนต์ใหม่
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในแนวโน้มระยะยาว จะเห็นได้ว่ายอดขายรถยนต์ในปี 2018 กลับมาเข้าสู่แนวโน้มระยะยาวที่จะมีวัฐจักรประมาณ 6-7 ปี ตามอายุของรถยนต์ ทำให้ SCBS Wealth Research มองว่า ยอดขายรถยนต์ในประเทศปีนี้จะหดตัว 0-5% จากปีก่อน ซึ่งสอดคล้องกับที่ทางโตโยต้า มอเตอร์ ได้คาดการณ์ยอดขายรถยนต์ในประเทศในปี 2019 ว่าจะอยู่ที่ 1.0 ล้านคัน หดตัวประมาณ 4.0% จากปีก่อน
ในส่วนของภาคการท่องเที่ยวที่มีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจ (ทำรายได้เข้าประเทศ 11.8% ของ GDP ในช่วงที่ผ่านมา) โดยเฉพาะภาคการบริโภคสินค้ากึ่งคงทน (เช่น เสื้อผ้า) ไม่คงทน (อาหาร) และบริการ (โรงแรม ภัตตาคาร และการเดินทาง) นั้น
SCBS Wealth Research ยังคงมองว่าจะชะลอตัวในปี 2019 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวขาเข้าในปีนี้น่าจะอยู่ที่ 39.8 ล้านคน ขยายตัวประมาณ 4.0% ต่อปี ชะลอจาก 7.5% ต่อปี ในปีก่อน โดยจะชะลอจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก
ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวจีนทั้งปีในปีนี้น่าจะอยู่ที่ 10.3 ล้านคน ชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ 10.5 ล้านคน ทั้งนี้ หากพิจารณาภาพรวมรายปี จะเห็นว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนยังคงชะลอต่อเนื่องแม้ปัจจุบันอัตราการขยายตัวจะยังเป็นบวกที่ 7.4% ต่อปีก็ตาม
ในส่วนของรายได้เกษตรกร ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดการบริโภคสินค้าไม่คงทน (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพ) นั้น ยังเห็นสัญญาณของการชะลอตัวต่อเนื่อง และมีส่วนทำให้การบริโภคสินค้าไม่คงทนมีทิศทางชะลอลงต่อเนื่องเช่นกัน
สาเหตุที่รายได้เกษตรกรยังคงชะลอตัวนั้นเป็นผลจากราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงหดตัว ขณะที่การเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรก็เริ่มชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยล่าสุด ราคาสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ยางแผ่นดิบรมควัน และปาล์มน้ำมันเดือน ธ.ค. 2018 ยังคงหดตัวที่ 12.8% และ 18.4% ต่อปีตามลำดับ ขณะที่ราคาข้าวขาวทรงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้ IMF ยังคงคาดการณ์ว่าราคาสินค้าเกษตรสำคัญโดยเฉพาะข้าวจะหดตัวประมาณ 6.6% ในปีนี้ ทั้งนี้ ทิศทางรายได้เกษตรกรที่ชะลอตัวตามราคาของพืชผลการผลิตที่สำคัญนั้น จะมีส่วนกดดันการบริโภคสินค้าจำเป็นให้ยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง
นอกจากปัจจัยทั้งสามที่ฉุดรั้งการขยายตัวของภาคการบริโภคแล้วนั้น เหตุการณ์ทางการเมืองล่าสุดก็เป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจในประเทศโดยเฉพาะภาคการบริโภคเช่นกัน โดยในปัจจุบัน Credit Default Swap (CDS) ของพันธบัตรรัฐบาลไทย ซึ่งเป็นดั่งเครื่องชี้วัดความเสี่ยงด้านการเมือง ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 73 จุดไปสู่ระดับ 79 จุด (5 bps) บ่งชี้ความเสี่ยงที่มากขึ้น ซึ่งหากเหตุการณ์ความไม่สงบเพิ่มขึ้นจนไปสู่ในระดับเดียวกับในปี 2014 ที่ดัชนี CDS เพิ่มขึ้นกว่า 100 bps ก็อาจทำให้การบริโภคหดตัวรุนแรงในลักษณะเดียวกันกับในปี 2014 ได้