ช่วงเข้าสู่สถานการณ์วิกฤต COVID-19 ธุรกิจอาหารหลายแบรนด์ต้องประสบปัญหากับยอดขาย เพราะไม่สามารถเปิดให้บริการได้เช่นเดิม แต่ดูเหมือนว่ากลยุทธ์ที่ OMU ใช้บนโลกโซเชียลอาจไม่ใช่ทิศทางที่ถูกต้อง จนเกิดกระแสเชิงลบให้แบรนด์ไปเสียแล้ว เรามาลองไล่ไทม์ไลน์เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้กันค่ะ
เหตุการณ์นี้เริ่มต้นจาก โพสต์ของเจ้าของร้าน ผ่านเพจ OMU Bangkok และอธิบายเกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤตของธุรกิจ ที่ต้องปิดให้บริการสาขาและทางร้านก็พยายามที่จะหาทางออกเกี่ยวกับธุรกิจ จากโพสต์นี้ทำให้มีการรีแอคชั่นกว่า 1.5 หมื่นครั้ง แสดงความคิดเห็นกว่า 5.7 พันรายการ และยอดแชร์กว่า 7.5 พันครั้ง
จากนั้น มีการให้กำลังใจต่อเนื่อง และเกิดแฮชแท็กที่ชื่อว่า #saveomu บนโลกออนไลน์ และชี้แจ้งถึงความพยายามในการทำโปรโมชั่นเฉพาะกิจ เพื่อหาทางรอดของธุรกิจ ก่อนที่จะมีการโพสต์เกี่ยวกับทิศทางของธุรกิจมาเรื่อยๆ รวมไปถึงการโพสต์ยอดขายในแต่ละวัน ว่าสามารถทำได้เท่าไหร่ โดยมีเป้าต่อวันคือ 300 จานต่อวัน เพื่อให้สามารถรอดสภาวะวิกฤตและจ่ายเงินเดือนพนักงานได้ แต่ด้วยการสื่อสารผ่านออนไลน์ทำให้มียอดสั่งซื้อเกินเป้าที่ตั้งไว้
ดูเหมือนจะมีทิศทางที่ดี แต่ในโลกทวิตเตอร์กลับไม่ได้มีทิศทางที่ดีแบบในเฟสบุค เมื่อมีบัญชีผู้ใช้งานหนึ่งได้ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า เป็นการโพสต์ที่ไม่น่ารักเลย แทนที่จะเป็นแคมเปญชักชวนให้คนอยากซื้อของ แต่กลายเป็นการโพสต์เชิงทวงบุญคุณมากกว่า จนส่งผลให้ในมุมของผู้บริโภครู้สึกไม่ดี เพราะในวิกฤตนี้ไม่ใช่แค่แบรนด์โอมุเพียงรายเดียวที่เจอปัญหา แต่ธุรกิจร้านอาหารทุกรายต่างก็เจอผลกระทบทั้งหมด
นอกจากนี้ ยังมีคอมเมนท์เชิงลบต่อเนื่อง เพราะไม่โอเคกับการโพสต์เชิงเห็นใจกึ่งบังคับให้คนสั่งซื้อเพื่อให้ได้ยอดขายตามเป้าที่ตนเองวางไว้ แต่ควรเป็นการโพสต์ขายสินค้าที่เหมาะสมกว่านี้ เพราะการตั้งเป้ายอดขายนั้น ควรเกิดจากความสามารถของร้านมากกว่าการผลักภาระไปที่ผู้ซื้อ และที่เคยโพสต์ว่าแบกรับภาระไม่ไหวจนอาจจะต้องปิดสาขาของโอมุไปนั้น ก็ไม่เป็นความจริง
อย่างไรก็ตาม การสร้างแบรนด์บนโลกออนไลน์นั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงสภาวะและการโพสต์ที่เหมาะสมบนออนไลน์ จริงอยู่ว่าคนทำธุรกิจเจอปัญหาจากสภาวะวิกฤตโควิด-19 นั้น เป็นปัญหาของทั่วโลก การขายสินค้าและสื่อสารบนโลกออนไลน์ที่กลายมาเป็นช่องทางหลักของแบรนด์จึงต้องทำอย่างระมัดระวังมากขึ้น เพราะโลกออนไลน์ส่งต่อกันอย่างรวดเร็วและนั่นก็เป็นความเสี่ยงต่อภาพลักษณ์ต่อแบรนด์ในระยะยาวด้วย