เคยสงสัยกันไหมเอ่ยกับนิตยสารแจกฟรีคุณภาพดีๆ หลายเล่มที่เราได้หยิบอ่านจากร้านกาแฟบ้าง รถไฟฟ้าบ้างนั้น รายได้หลักๆ ของนิตยสารนั้นมาจากไหน? แน่นอนว่าเดาไม่ยากใช่ไหมคะ นั่นก็คือจากค่าโฆษณานั่นเอง
นี่เป็นกรณีศึกษาอย่างหนึ่งของรูปแบบธุรกิจที่ได้มีการถูกพูดถึงไว้ในหนังสือ “Free: The Future of radical price” ของ Chris Anderson โดยแนวคิดของ “ฟรี” ประเภทนี้คือแนวคิดของ “Three Party Market” เป็นการที่มีบุคคลที่ 3 หรือนักโฆษณามาสนับสนุนในส่วนของค่าใช้จ่ายให้
และไม่เว้นแม้แต่สายธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม (Telecom Industry) ก็มีรูปแบบธุรกิจลักษณะนี้เกิดขึ้น อาทิเช่น ค่าโทรฟรี ค่าส่งข้อความฟรี โดยมี Party ที่เกี่ยวข้องได้แก่ แพลตฟอร์มผู้ให้บริการเสริม (ร่วมกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ) นักโฆษณา และ ผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถืออยู่ในโครงสร้างของรูปแบบธุรกิจนี้
ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2006 กับบริการที่ชื่อ Sugar Mama ของ Virgin Mobile ในสหรัฐอเมริกา (ปัจจุบันเป็นของ Sprint Nextel) เสนอบริการ Mobile Advertising เป็นการแลกการชมโฆษณาเพื่อที่จะได้รับนาทีสำหรับโทรฟรี หรือ Blyk (บริษัทที่ก่อตั้งในประเทศฟินแลนด์ในปี 2006 และข้ามน้ำข้ามทะเลมาเปิดให้บริการแบบ Mobile Virtual Network Operator (MVNO) ในประเทศอังกฤษช่วงกลางปี 2007 ปัจจุบันเป็นบริษัทด้าน Mobile Media โดยเฉพาะ) ก็มีบริการที่นำเสนอประโยชน์ลักษณะนี้เหมือนกัน โดยในเวลานั้นก็สร้างแพลตฟอร์ม Mobile Advertising ออกแคมเปญจโฆษณาร่วมกับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Coca-Cola, Colgate, L’Oreal, BBC เป็นต้น
แม้เวลาผ่านไปรูปแบบการโฆษณาอาจมีเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามความเหมาะสม แต่ลักษณะธุรกิจแบบ “Three Party Market” ยังคงความขลังอยู่ ล่าสุดบ้านเราก็มีการเปิดให้บริการเช่นกัน โดยบริษัท Echo 360 กับบริการที่ชื่อว่า Freebie ซึ่งทางแบรนด์ต่างๆ สามารถลงสื่อโฆษณาประเภทเสียงได้ มีระบบการทำ Targeting คือตั้งกลุ่มเป้าหมายได้ ในฟากผู้ใช้ที่ต้องการรับสิทธิโทรฟรีก็เพียงกดโทร *115 ตามด้วยหมายเลขปลายทางที่จะโทรออก เมื่อฟังข้อความเสียงจบ สายนั้นก็จะถูกเชื่อมต่อไปยังเลขหมายปลายทางเพื่อสนทนาตามปกติ โดยได้สิทธิการโทรฟรีในสายนั้นๆ นานสูงสุด 2 นาที และมากสุด 180 นาทีต่อเดือน (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข) โดยเตรียมพบกับการเปิดตัวในเดือนกันยายนนี้
ส่วนตัวผู้เขียนเองมีโอกาสได้คลุกคลีในธุรกิจแวดวงสื่อสารมาบ้าง ในช่วงประมาณ 4-5 ปีก่อน เคยได้เห็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มลักษณะคล้ายๆ กันนี้ในประเทศเกาหลีที่สามารถนำโฆษณาแบบเสียงแทรกก่อน Set up Call โทรหาเพื่อน ซึ่งผู้พัฒนากลุ่มนี้ต้องมีความรู้ในการเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายโทรศัพท์มือถือด้วย (ถ้าภาษาเทคนิคคือรู้จัก SS7 Protocol)
อย่างไรแล้วโจทย์ของ Mobile Advertising ก็ไม่ได้ต่างจากโลกออนไลน์ที่เห็นกันอยู่ค่ะ ไม่ใช่เรื่องเทคนิคหรืออะไรที่ต้องซับซ้อน (ซับซ้อนที่ระบบได้ แต่ต้องไม่ซับซ้อนที่ฟากผู้ใช้งาน )
การสร้างการรับรู้ (Awareness) ในวงกว้างนั้นคือสิ่งสำคัญ แต่การสื่อสารให้ถึงกลุ่มเป้าหมายที่ใช่ (Targeting & Segmentation) ตรงตามสิ่งที่พวกเขาสนใจ (Interest) สิ่งนี้ต่างหากเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ดังนั้นไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบโฆษณาที่หรูหราเพราะบางครั้งความหรูหราก็กลับกลายเป็น Barrier ที่สร้างความยุ่งยากในการใช้งานนั่นเอง จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ Mobile Advertising หลายบริการไม่เกิด
แต่สำหรับ Echo 360 เพราะกระบวนการใช้งานนั้นไม่ยุ่งยาก มีพาร์ทเนอร์ที่แข็งแรงอย่าง AIS ที่มีฐานลูกค้าขนาดใหญ่ ประกอบกับประโยชน์ที่ Win-Win ทั้งฟากผู้ใช้งานที่ได้รับสิทธิโทรฟรี พร้อมกับนักโฆษณาที่ได้สื่อที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย ก็เป็นบริการที่น่าจับตาไม่น้อย คงต้องเตรียมรอดูการเปิดตัวในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ถึงวิธีการสมัคร (Opt-in) ว่าเป็นเช่นไร แล้วค่อยมาดูกันถึงภาคต่อของ Mobile Advertising กันค่ะ
ปล. ใครสนใจเรื่องรูปแบบการดำเนินธุรกิจด้วยแนวคิดของ Free อย่าลืมไปหา Free: The Future of radical price” ของ Chris Anderson มาอ่านกัน เล่มนี้แม้ออกมาหลายปีแล้ว แต่แนวคิดยัง Classic อยู่ พร้อมกรณีศึกษาที่น่าสนใจอีกมากมาย ไม่แน่! คุณอาจได้ไอเดียมาปรับประยุกต์ใช้กับธุรกิจของคุณบ้างก็ได้นะ