Site icon Thumbsup

กรณีศึกษา #แบนทีพอท เดือดท่ามกลางกระแสหยุดคุกคามทางเพศ

ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (13 กันยายน) อีกหนึ่งแบรนด์ที่เจอกระแสดราม่าร้อนแรงคงหนีไม่พ้น #แบนทีพอท ที่ขึ้นท็อปทวิตเตอร์จากกลุ่มผู้ชมรายการ ดูมันดิ ที่เป็นรายการบนแชนแนล Domundi TV เมื่อสองปีที่แล้ว โดยในขณะนั้นเป็นการโปรโมทสินค้าแพคเกจใหม่ของทีพอท ที่จะแบบหลอดออกมาใหม่ และคอนเทนต์ในตอนนั้น ส่งผลมาถึงชาวทวิตในวันนี้

เรื่องราวเกิดขึ้นจากพิธีกรหนุ่ม 3 คนเดินเข้าไปหาสาวๆ ย่านสยาม โดยจังหวะที่กำลังจะเดินผ่านหญิงสาวก็แกล้งพูดขึ้นมาว่าขอบีบนมหน่อย โดยสาวๆ ที่เจอแกล้งเหล่านั้นก็มีอาการตกใจแต่ชายหนุ่มก็แกล้งเดินผ่านหญิงสาวไปและทำเป็นว่าคุยกับเพื่อนที่อยู่ด้านหลังหญิงสาวเหล่านั้น

คอนเทนต์เดิมถูกขุดขึ้นมาใหม่

เหตุผลที่คลิปเก่าเมื่อปี 2017 นี้ ถูกนำมาพูดถึงอีกครั้งนั้นเป็นเพราะมีผู้ใช้งาน Tiktok รายหนึ่งตัดต่อส่วนหนึ่งของคลิปใน Youtube มาแชร์บนบัญชี Tiktok ของตนเอง ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม

Credit : https://twitter.com/cchonnapat24/status/1304851706727997440

และเพียงเวลาไม่นานก็ทำให้กระแสของทีพอท ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ในเวลาอันรวดเร็วจนส่งผลให้เกิดกระแส #แบนทีพอท จนเกิดการต่อต้านเลิกสนับสนุนสินค้าและช่องดูมันดิ

นอกจากนี คอนเทนต์ของช่องดูมันดิ ก็เริ่มถูกขุดออกมามากขึ้นและพบว่าแชนแนลดังกล่าว มีทั้งคอนเทนต์ที่คุกคามทางเพศทั้งชายและหญิง

ขอโทษเพื่อสยบเหตุการณ์

หลังจากกระแสโจมตีรุนแรง ทำให้แชนแนล ดูมันดิ ต้องรีบออกจดหมายชี้แจงและขอโทษเกี่ยวกับคลิปเหตุการณ์ดังกล่าว และลบรายการออกไปจากช่องเรียบร้อยเพื่อลดความรุนแรงของเหตุการณ์

ทางด้านของทีพอทเอง ก็เลือกที่จะเมินเฉยต่อเหตุการณ์ดังกล่าวเพราะเชื่อว่าสถานการณ์จะสงบไปเอง โดยเลือกที่จะโพสต์คอนเทนต์โฆษณาสินค้าของตนเอง และคาดว่าจะยังไม่เห็นกระแสดังกล่าวเพราะเทรนด์ทวิตเตอร์เดินทางไปไว โดยคอนเทนต์สุดท้ายที่โพสต์ในทวิตเตอร์คือเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม จากนั้นก็ไม่มีการเคลื่อนไหวอีกเลย

ล่าสุด ทางทีพอทก็ได้ส่งจดหมายชี้แจงมาให้แก่ทีมงาน Thumbsup โดยเนื้อหาในจดหมายระบุว่าขออภัยในเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม และเตรียมจัดการเคสนี้ โดยน้อมรับเพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาการสื่อสารทางการตลาดทุกช่องทาง โดยคลิปดังกล่าวก็ได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว

ก็ถือเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่ต้องระมัดระวังให้มากในการทำคอนเทนต์ออนไลน์ที่ไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหน หากนำกลับมาเล่นในจังหวะที่ไม่เหมาะสมก็อาจส่งผลกระทบกับแบรนด์ในวงกว้างด้วยค่ะ