คำว่า Idea คือสิ่งที่มีค่ามากในการแข่งขันแผนในช่วงเรียน แต่หากพบกับโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว จะพบว่าสิ่งที่ยากกว่าไอเดียคือคนที่มารันไอเดียให้เกิดขึ้นจริง แนวคิดนี้ไม่ใช่แค่แผนการตลาดเท่านั้น แต่ยังรวมถึง Startup ที่มักคิดถึงสิ่งที่แปลกใหม่ ไม่เคยมีคนทำมาก่อน เพราะคิดว่าสิ่งใหม่จะเป็นการกระตุ้นยอดขายได้เสมอ
ซึ่งเมื่อทำงานไปได้สักพักจะพบว่าไม่จริง เพราะการจะสร้างยอดขายได้มีอีกหลายปัจจัยมากกว่าไอเดีย แต่ความร้ายกว่านั้นคือบางครั้ง นักการตลาดยึดติดกับไอเดียมากเกินไป จนงานไม่เดิน ทุกอย่างวนอยู่กับคำว่าสิ่งแปลกใหม่ วันนี้เราอยากให้เข้าใจกับคำว่าไอเดีย และระวังตัวก่อนจะตกหลุมพรางชนิดจนขึ้นมาจากบ่อเหวไม่ได้
ไอเดียไม่ใช่ทุกอย่าง
ไอเดียเปรียบเสมือน Core ว่าเราจะทำอะไรกันดี แต่สิ่งที่ดีได้ ไม่ใช่สิ่งที่เคยเกิดขึ้นแล้ว บางสิ่งไม่จำเป็นต้องมีชิ้นเดียวบนโลก เช่น แคมเปญลุ้นของรางวัล ยังเป็นสิ่งที่นักการตลาดกระตุ้นยอดขายแล้วได้ผลเสมอ สิ่งที่ต่างคือแจกอะไรดี การจะนั่งคิดว่ากระตุ้นยอดขายอะไรดี แบบใช้กลยุทธ์ที่ไม่ซ้ำจากวิธีเดิม อาจจะทำให้เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์
สิ่งที่แปลกใหม่ ดีจริงหรือเปล่า
ในช่วงเริ่มทำงานเรามักจะเจอวิชาที่ต้องครีเอทีฟงานมาก เพื่อเกลาไอเดียให้สร้างสรรค์ก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างเต็มรูปแบบ ยิ่งถ้าใครไปเคยฝึกงาน จะต้องเคยเจอกับอุปสรรคที่มากมาย จนทำให้ธุรกิจนั้นถูกปัดตกไปอย่างน่าเสียดาย เพราะยังไม่สามารถหาเหตุผลมารองรับรูรั่วได้
ซึ่งเมื่อได้มาสร้างธุรกิจจริงๆ จะพบว่าไม่มีธุรกิจไหนไม่มีข้อเสีย แต่การชูจุดเด่นและกลบจุดด้อยต่างหากที่สำคัญ แต่ไม่ใช่ว่าจุดด้อยจะไม่ได้รับการแก้ไข บางอย่างไม่สามารถเป๊ะได้ 100% ประสบการณ์ของคนทำงานจึงสำคัญมากๆ ซึ่งจะพูดในข้อถัดไป
คนทำงานสำคัญที่สุด
สิ่งสำคัญมากๆ ที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงคือเรื่องของคนที่จะมาทำงาน ในการจะสร้างแคมเปญกระตุ้นการตลาดสักครั้ง จะมีดีเทลเยอะมากๆ และต้องประสานงานหลายฝ่าย การจะให้คนเก่ง กับ คนปกติมาทำจะได้เนื้องานที่แตกต่างกันมาก รวมถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นด้วย ถ้าใครที่ทำงานมาก่อนจะพบว่า ประสานงานผิดชีวิตเปลี่ยน ซึ่งคือเรื่องจริง ทำให้คนทำงานมีความสำคัญมากกว่าไอเดียมากๆ
งานจะดีได้ประกอบด้วยหลายส่วน
ประเด็นนี้อยากจะให้หลายคนมองการทำงานจริงๆ ให้ชัดมากขึ้นว่า ไอเดียคือสิ่งแรกที่บอกว่าเราจะทำอะไร แต่ถามว่าสิ่งนี้จะทำให้ธุรกิจเติบโตมั้ย ก็ไม่เสมอไป เพราะยังมีเรื่องของคนทำงานที่ต้องมีประสิทธิภาพ และเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ เช่น ถ้าในกลุ่มสินค้า FMCG จะมีติดต่อกับเซลล์เพื่อลงไปขายสินค้าในแต่ละพื้นที่
หากขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไปก็ไม่สามารถที่จะทำให้แคมเปญประสบความสำเร็จได้ หรือถ้าสายด้านโซเชียลมีเดียก็ต้องมีกราฟฟิคที่สื่อด้วยภาพออกมาชัดเจน เช่นเดียวกัน ถ้าภาพออกมาไม่สวย และทัชลูกค้าได้ไม่มากพอ แคมเปญก็ล้มเหลวได้เหมือนกัน
จะเห็นว่าทุกฝ่ายคือส่วนประกอบที่ทำให้งานสำเร็จขึ้นมาได้ สิ่งนี้ต่างหากคือสิ่งที่ต้องเคลมว่าสำคัญ มากกว่าการนำเสนอว่าไอเดียนี้สำคัญยังไงเพราะว่าที่ผ่านมาน่าจะบอกได้เยอะว่าไอเดียล้นตลาด แต่ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จกับน้อยนิด แถมก็ไม่ใช่ไอเดียที่แปลกแหวกแนวไม่เคยเห็นมาก่อน แต่เป็นคุณภาพทีมงานที่ช่วยกันสร้างจนประสบความสำเร็จ