กลายเป็นที่จับตามองมาตลอด ตั้งแต่มีกระแสข่าวการแต่งตั้ง สำหรับการเข้ารับตำแหน่งของแม่ทัพคนใหม่ของสถานีโทรทัศน์เบอร์ยักษ์ของ “อริยะ พนมยงค์” ผู้ที่นั่งในตำแหน่งผู้บริหารบริษัทต่างชาติมาตลอดหลายปี เมื่อตัดสินใจกลับเข้าสู่องค์กรของไทยแน่นอนว่าสิ่งที่นักเล่นหุ้นอยากรู้มากที่สุด คงหนีไม่พ้น “ทำอย่างไรให้มีกำไรอีกครั้ง”
แผนพลิกธุรกิจ
จากรายงานในงานประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2562 ของบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด เมื่อวันศุกร์ที่ 26 เมษายน 2562 ท่ีผ่านมา พบว่า โอกาสในการสร้างรายได้ที่จะใช้นั้น แบ่งเป็นแผนระยะสั้นและแผนระยะยาว รายละเอียดแบ่งเป็น ดังนี้
แผนระยะสั้น คือ การเพิ่มรายได้ให้กับทีวี ปรับแผนการโปรโมตละครใหม่ โดยจะเน้นการสื่อสารผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียและจัดกิจกรรม On Ground ทั้งก่อนและหลังออกอากาศ เพื่อสร้างการรับรู้ในวงกว้างและกระตุ้นการรับชม พร้อมปรับแพคเกจการขายโฆษณา เน้นการ Bundle Package และสื่อต่างๆ ที่ทางบริษัทแม่ของช่อง 3 มีอยู่ เช่น ทีวี ออนไลน์และอีเว้นท์ เป็นต้น
แผนระยะยาว คือ การเพิ่มทั้ง Value และรายได้ให้คอนเทนต์ที่มีอยู่ รวมทั้งการสร้างรายได้จากช่องทางออนไลน์ พัฒนาแพลตฟอร์ม Mello และขยายฐานธุรกิจสู่ OTT (over-the-top)
นอกจากนี้ ยังมีการขายสิทธิ์ไปในต่างประเทศ โดยเป็นการจับมือกับทาง Tencent ในการนำละครไปฉายที่จีน เริ่มต้นกับละคร “ลิขิตรักข้ามดวงดาว” ที่นำแสดงโดย ณเดชน์ คูกิมิยะ และ ภีรนีย์ คงไทย กำหนดออกอากาศช่วงครึ่งหลังของปี 2562
ทั้งนี้ ยังมีการเป็นพาร์ทเนอร์ในจีนนำนักแสดงในสังกัดช่อง 3 ไปแสดงหรือร่วมงานในจีนเพื่อสร้างรายได้ให้มากขึ้น แม้ว่าผลประกอบการปี 2561 บริษัทมีรายได้ 10,486.4 ล้านบาท ขาดทุน 311 ล้านบาท ถือว่าสูงสุดในรอบ 48 ปีที่ดำเนินธุรกิจมา
ส่งช่อง 3 สู่ OTT
ด้วยการที่คนไทยรับชมวีดีโอคอนเทนต์ ติดอันดับ 6 ของโลก และแพลตฟอร์ม OTT จากต่างประเทศเข้ามาเจาะตลาดไทยมากขึ้น แม้ว่าพฤติกรรมผู้ชมยังไม่คุ้นชินกับการจ่ายเงินเพื่อรับชมคอนเทนต์ ประกอบกับ 90% ของผู้ใช้มือถือในไทยยังใช้ระบบเติมเงิน หากคนกลุ่มนี้ยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อคอนเทนต์ออนไลน์มากขึ้น นั่นหมายถึงโอกาสของรายได้ใหม่ๆ ที่ช่อง 3 กำลังตามหา
ส่วนการเยียวยาของทางกสทช.นั้น อริยะ มองว่าหากบริษัทยังเดินหน้าต่อก็ยังไหว เพราะทาง กสทช. จะช่วยจ่ายค่าโครงข่ายให้ตลอดอายุใบอนุญาตที่เหลืออีก 9 ปี 6 เดือนและไม่ต้องจ่ายค่างวดที่เหลืออีก 2 งวด ทำให้ประหยัดเงินกว่า 2,000 ล้านบาท
วิเคราะห์เกมส์ช่อง 3
อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ต่างๆ ที่ช่อง 3 จะเดินหน้าต่อไปนั้น ต้องบอกว่าช่วยต่ออายุช่อง 3 ไปได้อีกสักพัก แต่ถ้ามองให้ลึกต้องยอมรับว่าอาจใช้ไม่ได้ในระยะยาว เพราะสิ่งที่ช่อง 3 กำลังเดินหน้านั้น หลายช่องทีวีดิจิทัลได้ปรับตัวเดินหน้ากันไปก่อนแล้ว รวมทั้งมีดีลที่น่าสนใจเยอะกว่ามาก
เช่น ทางช่อง GMM25 ที่มีการขยายโอกาสในฐานะผู้ผลิตคอนเทนต์ให้กับแพลตฟอร์มต่างประเทศ หรือร่วมมือข้ามสถานีกันเพื่อเสริมรายได้ใหม่ๆ ให้แก่ทางช่อง
ทาง PPTV เองก็ยอมลงทุน “ดึง” รายการทีวียอดนิยมมาอยู่ช่องตัวเองเพื่อหวังปั้นโอกาส เรียกฐานแฟนคลับรายการมาที่สถานีของตนเองให้มากขึ้น
หรือช่อง 8 เอง ที่เน้นเรื่องข่าวชาวบ้านกับผลิตละครแนว “น้ำเน่า” เพื่อเจาะตลาดต่างจังหวัด และโฆษณาขายของผ่านทีวี เพื่อสร้างเม็ดเงินที่แน่นอนจากการลงโฆษณา ถือว่าเป็นการจับกลุ่มคนรายได้น้อย-ปานกลาง ที่กำลังซื้อไม่ได้สูง แต่มีเงินเข้ามาแน่นอน
หรือช่อง 7 เอง ที่มีฐานแฟนคลับคือกลุ่มคนต่างจังหวัด และใช้กลยุทธ์ “คล้าย” กับที่ช่อง 3 จะทำ แต่เดินนำหน้าไปก่อนหลายปีแล้ว ทำให้ฐานลูกค้าออนไลน์ของช่อง 7 เหนียวแน่นและทราบว่าหากต้องการรับชมคอนเทนต์ย้อนหลังของช่องคือต้องไปดูที่เว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่น Bugaboo ทำให้มีเงินโฆษณาเพิ่มขึ้นและเม็ดเงินค่าเช่าสถานีก็ยังปรับสูงขึ้นกลายเป็นรายได้หลักด้วย
ในส่วนของทางช่อง 3 เองนั้น ต้องยอมรับว่ามีแม่เหล็กดึงดูดฐานคนรุ่นใหม่และแฟนคลับเหนียวแน่นมาก ไม่ว่าจะเป็น ณเดชน์-ญาญ่า, หมาก ปริญ-คิมเบอรี่ หรือ เจมจิ-เบลล่า แต่กลับไม่สามารถเข้าถึงคนกลุ่มต่างจังหวัดได้ทั่วถึงและไม่สามารถสร้างภาพลักษณ์ที่มั่นคงในใจแฟนคลับได้ เช่นเดียวกับ อั้ม พัชราภา หรือ เวียร์ ศุกลวัฒน์ ที่กลายเป็นวอลล์เปเปอร์ของช่อง 7 ไปแล้ว ก็ได้แต่หวังว่ากลยุทธ์ที่ช่อง 3 จะเดินหน้าไปนั้น จะช่วยสร้างโอกาสและฐานแฟนคลับที่เหนียวแน่น ไปจนถึงเม็ดเงินโฆษณาให้กลับมาแข็งแรงอีกครั้งได้อย่างที่ตั้งใจ
ที่มา : Prachachat, Marketingoops