Site icon Thumbsup

ทางรอดสื่อกับกลยุทธ์แบบพี่ฉอด-สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา

หากเอ่ยถึง แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ นอกจากเรื่องของวงการเพลง ละคร คอนเสิร์ตแล้ว ชื่อของพี่ฉอด-สายทิพย์ มนตรีกุล เองก็เป็นที่รู้จักไม่ต่างกัน เพราะพี่ฉอดนั่งเก้าอี้บริหารควบคู่กับการเป็นที่ปรึกษาให้ชาวคลับฟรายเดย์มานานกว่า 16 ปี ที่นับได้ว่ามีประสบการณ์ในการบริหารทั้งช่องทีวีดิจิทัล คอนเทนต์ที่จะเผยแพร่ในสถานี ล่าสุดพี่ฉอดมองเห็นโอกาสใหม่ในฐานะผู้ผลิตคอนเทนต์ควบคู่ไปกับการบริหารสถานีแบบเดิม เพื่อให้ธุรกิจได้มีโอกาสมากขึ้น

“เรารักอาชีพนี้”

พี่ฉอด หรือคุณสายทิพย์ เล่าถึงประวัติการทำงานที่ยาวนานกับแกรมมี่ (Wikipedia) พบว่า ธุรกิจสื่อมีการเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ตามพฤติรรมของผู้ชม ก็ต้องยอมรับว่าสิ่งที่คนดูต้องการคือความสะดวก เขาสามารถเคลื่อนไปตามความสะดวก ตามไลฟ์สไตล์และชีวิตได้ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเด็กรุ่นใหม่ถึงใช้ชีวิตกับจอเล็กเป็นส่วนใหญ่ และเป็น tool ที่สะดวกมาก เพราะเขาต้องการเข้าถึงคอนเทนต์ได้แบบทุกที่ทุกเวลา รวดเร็ว และตามใจฉัน

“พี่ต้องทำคอนเทนต์ให้โดนใจผู้ชมภายใน 1-2 นาทีแรกให้ได้ ไม่งั้นเขาจะเปลี่ยนไปดูอย่างอื่นแล้ว”

ถือว่าเป็นความท้าทายของอาชีพผู้ผลิตคอนเทนต์อีกรูปแบบหนึ่ง

“พี่ไม่อยากให้มองว่าเรากำลังถูก Disrupt ถ้าเราไม่ปรับตัวเองให้ทันกับยุคสมัย รวมทั้งเราจะหวังแต่พึ่งพาคนอื่นๆ คงไม่ได้”

โอกาสยังมีอยู่ตลอด สำหรับคนทำคอนเทนท์

แม้หลายธุรกิจที่เป็นสื่อดั้งเดิมมีการปิดตัวไปเยอะ แต่สำหรับก้าวต่อไปที่ชัดเจนขึ้นของพี่ฉอด คือการแยกทีมออกมาช่วยทีมใหม่ในเครือ GMM เพื่อผลิตคอนเทนต์ในยูนิตใหม่ที่ชื่อว่า CHANGE2561

“ตอนแรกทีมก่อตั้งของเรามีเพียง 5 คนเท่านั้น ตอนนี้ขยายไปเป็น 60 คนแล้ว ซึ่งเราก็ไม่คาดคิดว่าจะเติบโตเร็วขนาดนี้”

บริษัท เช้นจ์2561 จำกัด เพิ่งเริ่มต้นขึ้นมาเมื่อพฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา ทุนจดทะเบียนบริษัทอยู่ที่ 20 ล้านบาท โดยเป็นบริษัทในเครือ GMM ไม่ได้แยกตัวออกมาใหม่หรือแยกบริษัทใดๆ เพราะในความคิดของพี่ฉอดคือการนั่งเก้าอี้ในฐานะผู้ผลิตคอนเทนต์ยังสนุกและน่าสนใจสำหรับชีวิตการทำงานเสมอ

Change2561 คือ Content Creator ที่จะผลิตสื่อทุกรูปแบบ เพื่อเผยแพร่ไปทุกแพลตฟอร์ม ทั้งในออนไลน์และออฟไลน์ โดยแผนงานในปี 2562 นี้ จะมีด้วยกัน 5 กลุ่มคือ

ทางด้านของสัดส่วนรายได้ ยังคงมาจากการผลิตละคร 50% โชว์บิซ 25% ออนแอร์ 15% ที่เหลือเป็นออนไลน์ ซึ่งรายได้ยังเคลื่อนตัวไปเรื่อยๆ แต่ก็มีการตั้งเป้า ไว้ที่ 570-600 ล้านบาทในสิ้นปีหน้า ส่วนครึ่งปีหลังนี้ยังคงนับว่าเป็นช่วงของการลงทุนด้านการเตรียมตัวคงไม่เห็นรายได้ที่ชัดเจน

ขยายโอกาส ขยายรายได้

เมื่อสอบถามถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในการขยายธุรกิจนั้น พี่ฉอดเล่าว่า ไม่กระทบ เพราะนโยบายของ GMM เปิดกว้างให้ต่อยอดได้ ซึ่งมีหลายบริษัทที่อยากได้คอนเทนต์จากผู้ผลิตที่มีฝีมือ และมั่นใจว่าจุดเด่นของพี่ฉอด ยังคงดึงดูดให้คนอยากมาร่วมงานด้วย เพียงแต่การผลิตคอนเทนต์ภายใต้แบรนด์ GMM อาจไม่สะดวกนัก

“นโยบายที่เปิดกว้างให้แตกย่อยได้นี้ เป็นมาตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว  การที่พี่ฉอดแตกมาทำรายการ แค่ยกออกมาทำและรายการยังทำเช่นเดิมและยังเชื่อมต่อกับ gmm25 และออนแอร์เช่นเดิม”

ทั้งนี้ ทาง Gmm25 ก็ยังคงทำรายการและผลิตละครอยู่เช่นเดิม และโตพอที่จะจ้างบริษัทย่อยรายได้เข้ามาช่วยผลิตก็ได้ ซึ่งมีผู้กำกับหลายรายที่เป็นฟรีแลนซ์มาช่วยผลิตคอนเทนต์ให้ เช่นเดียวกัน ในแง่ของเชนจ์ที่เริ่มต้นจากการเป็นบริษัทรับผลิตคอนเทนต์ และเป็นโครงสร้างรับจ้างผลิตแต่แรก ก็จะรับงานผลิตคอนเทนต์ให้ใครก็ได้ ซึ่งลิขสิทธิ์ก็จะเป็นของผู้ลงทุน

“ความตั้งใจแรกของพี่ คือ อยากทำงานน้อยลง แต่ใจก็ยังอยากทำคอนเทนต์ เมื่อเห็นว่าเราสามารถทำงานไหว และยังขยายโอกาสไปร่วมกับหลายแพลตฟอร์มได้ด้วย ซึ่งตัวพี่เองก็อยากทำ แต่พี่ยังไม่ได้ลาออกจาก GMM นะ แค่ถอยออกมาทำอะไรใหม่ๆ เท่านั้น”

การเติบโตที่จะได้เห็น

 

เรื่องรายได้ทุกธุรกิจย่อมมีการตั้งความหวังไว้อยู่แล้ว เพราะไม่ว่าใครต่างก็ต้องมองหาโอกาส เพียงแต่ตัวเลขที่ได้มาตอนนี้ ไม่ได้ใหญ่มากจนเข้าไปแบ่งจากสัดส่วนหลักเดิม แต่คำว่า Content is the King  แสดงให้เห็นถึงโอกาส ที่ทำให้ธุรกิจสื่อเดิมมีความหวัง

 

หากเราผลิตคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ นั่นย่อมมีโอกาสโตไม่ว่าผู้ชมจะย้ายไปใช้งานในแพลตฟอร์มใด เราก็มีโอกาสในอนาคตทั้งสิ้น ซึ่งบริษัทตั้งเป้ารายได้ในอนาคตไว้ที่ 10-15% ซึ่งการที่เราเป็นบริษัทย่อยแบบนี้ เราสามารถเคลื่อนตัวไปพร้อมแพลตฟอร์มได้มากกว่า รวมทั้งสัดส่วนการผลิตจะโตไปในออนไลน์และเล่นตามเกมได้ทุกด้านมากกว่า

สถานการณ์ในตอนนี้ ทุกธุรกิจตอนนี้ ทุกคนยากหมด โดยเฉพาะธุรกิจสื่อ ที่ยังคงคาดหวังการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งกสทช.เอง หรือว่าหน่วยงานรัฐบาลต้องการ ซึ่งสิ่งที่เราต้องการอาจไม่ใช่เรื่องเงินเพียงอย่างเดียว สิ่งที่ธุรกิจสื่อคาดหวังคือการผลักดันให้มีโอกาสใหม่ๆ ส่งเสริมอุตสาหกรรมบันเทิงให้ขยายไปยังตลาดโลกได้

“เมื่อเอ่ยถึงธุรกิจสื่อ หรือการสนับสนุน คนยังมองว่าสื่อบันเทิงเป็นเรื่องไร้สาระ แต่หากมองประเทศเกาหลีใต้ สื่อบันเทิงของเขาได้รับการสนับสนุนหลายด้าน จนเป็นหน้าตาในการขยายไปยังหลายประเทศได้ ซึ่งไทยไม่ได้ด้อยกว่าเขาเลย สิ่งที่เราขาดคือโอกาสจากการสนับสนุนเท่านั้น”

ทั้งนี้ ก็ยังหวังว่าในอนาคตจะมีแรงขับเคลื่อนที่ดีสักทาง ในการสนับสนุนอุตสาหกรรมบันเทิงให้โตต่อไปได้ เพราะทุกอย่างที่พี่ฉอดทำในวันนี้ มาจากความรักในอุตสาหกรรมนี้และมีความสุขที่จะสร้างสรรค์คอนเทนต์ใหม่ๆ ให้ออกสู่ตลาดต่อไป