กษมาช นีรปัทมะ – ฉกาจ ชลายุทธ (Molek) สองบุคคลผู้คลุกคลีกับตลาดดิจิทัลมานาน เปิดตัวบริษัท Chaos Theory ระบุพร้อมให้บริการ Audience Intelligence เป็นครั้งแรกในไทย หวังพลิกโฉมการวางแผนกลยุทธ์การตลาดและการสื่อสารด้วยการดูจากการทำนายพฤติกรรม-จิตวิทยา (Personality & Psychology) และ Keyword นอกเหนือจากการดูแค่ความสนใจ (Interest) แบบกว้างๆ เพียงอย่างเดียว
กษมาช นีรปัทมะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Chaos Theory เล่าว่าชื่อบริษัทเป็นคำภาษาอังกฤษ ที่แปลว่า ทฤษฎีไร้ระเบียบ เป็นทฤษฎีที่อธิบายถึงลักษณะพฤติกรรมของระบบที่มีการเปลี่ยนแปลง อยู่ตลอด โดยลักษณะการเปลี่ยนแปลงจะมีลักษณะเป็นแบบสุ่มหรือไร้ระเบียบ
แต่จริง ๆ แล้ว ถือเป็นหนึ่งในทฤษฎีที่เข้ามาอธิบายในสัมพันธภาพของสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นโลกใบนี้ได้อย่างน่ามหัศจรรย์ พร้อมทั้งยังเป็นหนึ่งทฤษฎีสำคัญที่ช่วยในการไขปริศนาในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตได้อย่างน่าสนใจ
“ผมอยากจะทำแพลตฟอร์ทมที่รวบรวมข้อมูลที่สามารถทำนายอนาคตได้ โดยระบบของเราพัฒนามานานกว่า 3 ปี และระบบดังกล่าวจะดูข้อมูลย้อนหลังได้มากถึง 5 ปี” กษมาช กล่าว
ส่วน “โมเล็ก” (ชื่อในออนไลน์คือ @molek) หรือ ฉกาจ ชลายุทธ Co-Founder & Visionary แห่ง Chaos Theory เผยว่า ในต่างประเทศมีการ วางแผนกลยุทธ์การตลาดและการสื่อสารด้วยการดูจากการทำนายพฤติกรรม-จิตวิทยา (Personality & Psychology) และ Keyword นอกเหนือจากการดูแค่ความสนใจ (Interest) แบบกว้างๆ เพียงอย่างเดียว ทำให้ต้องการสร้างบริการดังกล่าวในประเทศไทยบ้าง
โดยรวมบริการดังกล่าวจะเรียกว่า Audience Intelligence แยกเป็นบริการที่เปิดให้ใช้ ดังนี้
1. Data Analysis บริการวิเคราะห์ข้อมูลและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดมากกว่าเคย หรือใช้ได้เต็มประสิทธิภาพ 100% และเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ
2. Data Research งานบริการวิจัยข้อมูล และให้คำปรึกษาในทุกเรื่องที่ลูกค้าอยากทราบเกี่ยวกับข้อมูลที่มี ว่าจะเก็บข้อมูลนั้นอย่างไร ด้วยวิธีการไหน
3. Cognitive Platform มุ่งเน้นหาว่ากลุ่มเป้าหมายของลูกค้าเป็นใคร มีความน่าสนใจอย่างไร มีบุคลิกลักษณะอย่างไร และในอนาคตจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นหรือลดลงเท่าไหร่ ตามสภาวะเศรษฐกิจหรือฤดูกาลขาย เพื่อช่วยในการบริหารจัดการขายหรือการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
4. Psychologic Insight
มุ่งทำนายพฤติกรรมผู้บริโภคออกเป็น Segment ต่างๆ ตามหลักการของ OCEAN model แต่จะนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของผู้บริโภคชาวไทย โดยแบ่งบุคลิกภาพของคนเราออกเป็น 5 แบบ ได้แก่
- Openness – ชอบเปิดเปิดรับสิ่งใหม่ๆ มีความรู้ลึกซึ้งและจินตนาการสูง และมีความสนใจใคร่รู้ที่หลากหลาย
- Conscientiousness – เจ้าระเบียบ รอบคอบชอบวางแผน มีวินัย เชื่อถือได้ และมีความพิถีพิถัน
- Extraversion – มั่นใจในตัวเอง กระตือรือล้น ชอบเข้าสังคม มีทักษะในการปฏิสัมพันธ์สูง
- Agreeableness – เป็นมิตร มีน้ำใจไมตรี เห็นอกเห็นใจผู้อื่น,
- Neuroticism – อ่อนไหว อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย และมักมีความกังวลสูง
นอกจากนี้จะเก็บ Context อื่นๆ ในออนไลน์ เพื่อทำความเข้าใจกับ Social Movement เมื่อมีประเด็นร้อนเข้ามาในระบบ ก็จะดูผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร อัตราการแพร่กระจายเร็วแค่ไหน และคาดว่าจะจบลงเมื่อไหร่ มีปัจจัยอะไรที่ทำให้จุดประเด็นไวรัลนั้น และหากจะทำให้เกิดปรากฎการณ์หรือเหตุการณ์นั้นซ้ำๆ จะต้องสร้างสภาวะแวดล้อมอย่างไรให้เหมาะสมที่จะเกิดไวรัลนั้นได้
โดยวัตถุประสงค์หลักของระบบ คือ เพื่อชี้ชัดหรือระบุได้ว่าคนที่มาซื้อสินค้าหรือบริการเป็นใครกันบ้าง ไม่ต้องทำการตลาดแบบหว่านแหอีกต่อไป
ฉกาจยกตัวอย่างจากการเก็บข้อมูลลูกบ้านของแคมเปญโฆษณาอสังหาริมทรัพย์ก็พบว่า มีบุคลิกคล้ายๆ กัน คือ ขับรถหรู (เช่น เบนซ์) มีนิสัยจู้จี้จุกจิก แต่นึกถึงคนอื่น และจริงๆ เขาไม่ชอบคำว่า “อาณาจักรส่วนตัว” แต่เขาชอบการใช้คำที่สะท้อนว่า บ้านเป็นที่สุด, นึกถึงบ้านแล้วนึกถึงครอบครัว, รายละเอียดภายในบ้านใส่ใจถึงทุกคน เป็นต้น
หรือการทำโฆษณาสำหรับรถยนต์ในยุคหลังก็พบว่า คนไม่สนใจเรื่องของสมรรถภาพหรือความแรงของรถยนต์แล้ว แต่มองว่ารถยนต์คันนั้นสอดคล้องกับ Lifestyle ต่างๆ เช่น การท่องเที่ยว หรือครอบครัว หรือไม่
โดยบริการดังกล่าวยังมีที่ปรึกษาด้านจิตวิทยา คือ คณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ประสานมิตร เพื่อให้คำปรึกษาด้านจิตวิทยาผู้บริโภคอีกด้วย
ซึ่ง Chaos Theory จะมีการเปิดเผย Research จากการวิเคราะห์ของระบบออกมาทุกเดือนอีกด้วย โดยเริ่มออกเล่มแรกในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2562 นี้