เป็นเรื่องที่รู้กันว่าลูกค้าทุกคนชอบสินค้าราคาถูก แต่สินค้าราคาถูกส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์แบรนด์มากกว่าที่คิด ในยุคที่ทุกแบรนด์แข่งกันลดราคาห้ำหันกันอย่างดุเดือด และทุกคนหวังดึงดูดลูกค้าด้วยกลยุทธ์สินค้าราคาถูก อาจได้ยอดขายในระยะสั้น แต่มุมมองของผู้บริโภคจะส่งผลกระทบต่อแบรนด์ในระยะยาว
วันนี้ Thumbsup จะมาพูดถึงกลยุทธ์การตั้งราคาถูก ซึ่งหลายแบรนด์นิยมใช้เพื่อเพิ่มยอดขาย เนื่องจากลูกค้ามักจะตัดสินใจซื้อจากราคาว่าสินค้าตัวไหนราคาถูกกว่า แต่เราทุกคนที่เป็นผู้บริโภคย่อมคิดอยู่ในใจว่าสินค้าราคาถูก คุณภาพจะต่ำไปด้วยหรือเปล่า?
สินค้าราคาถูกไม่ใช่เรื่องดี
แม้ว่าการกำหนดราคาที่ต่ำจะเป็นกลยุทธ์ที่น่าสนใจ แต่สินค้าราคาถูกไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป งานวิจัยระบุว่าสินค้าราคาถูกไม่ได้สร้างผลตอบแทนที่เหมาะสมให้กับผู้ค้าปลีกเสมอ เนื่องจากบางครั้งผู้บริโภคมองว่าสินค้าราคาถูกมักมีคุณภาพที่ต่ำเช่นกัน
ศาสตราจารย์ Steve Posavac ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด จากมหาวิทยาลัย Vanderbilt กล่าวว่า
“ในแง่ของราคาคนส่วนใหญ่จะเชื่อว่าสินค้าราคาถูกหมายถึงความคุ้มค่า และสินค้าราคาถูกก็หมายถึงคุณภาพต่ำเช่นกัน แต่ความเชื่อสองอย่างนี้ไม่ได้อยู่ในใจของผู้บริโภคตลอดเวลา”
เนื่องจากผู้บริโภคมีข้อมูลสินค้าและบริการไม่ครบถ้วน และผู้บริโภคจะหาข้อมูลเพื่อพิจารณาในการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการ
แบรนด์จึงสามารถเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์สินค้าราคาถูกได้ด้วยกลยุทธ์สื่อสารทางการตลาด ในงานวิจัยระบุว่า บริษัทที่มุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพของสินค้าให้ดีกว่าเดิม เมื่อทำการตลาดแล้วสื่อสารออกไป ผู้บริโภคจะลดความสำคัญของราคาลงไป ให้ความสำคัญกับคุณค่าของสินค้ามากขึ้น
หลีกเลี่ยงสินค้า “ราคาถูก” และ “คุณภาพต่ำ”
แน่นอนว่าสินค้าราคาถูกไม่ได้สะท้อนถึงคุณภาพสินค้าเสมอ ค่าเงินก็อาจมีบทบาทในการตัดสินใจซื้อในโลกปัจจุบัน ซึ่งสามารถสั่งซื้อสินค้าจากอีกมุมโลกหนึ่งได้
หรืออีกสาเหตุหนึ่งที่สินค้ามีราคาถูกคืออุปสงค์และอุปทาน สำหรับอุปสงค์เมื่อสินค้าไม่มีความต้องการสูงราคาสินค้าอาจลดลงเพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคซื้อ หรือด้านอุปทานเมื่อผู้ขายอาจลดราคาสินค้าเพื่อลดสินค้าส่วนเกิน ซึ่งไม่ได้หมายความว่าสินค้ามีคุณภาพต่ำ
การสร้างแบรนด์เป็นเรื่องของภาพลักษณ์ต่อผู้บริโภค การใช้กลยุทธ์สินค้าราคาถูกไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดเสมอไป แต่สิ่งสำคัญคือคุณภาพสินค้าต้องไม่ต่ำลงไปด้วย ผู้บริโภคจะตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการของแบรนด์ เมื่อเชื่อว่าได้รับประโยชน์จะสินค้าของแบรนด์
การใช้แบรนด์ให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้า นอกจากจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์แล้ว ความเชื่อมั่นของลูกค้าจะทำให้เกิดการซื้อซ้ำในอนาคต และเป็นผลดีต่อแบรนด์ในระยะยาว ยกตัวอย่าง เช่น Apple, Muji และ MK เป็นต้น
อ้างอิง businessnewsdaily, Vanderbilt