เชื่อว่าหลาย ๆ คนอาจเคยผ่านประสบการณ์การแชร์ข้อมูลเท็จ หรือได้อ่านข้อมูลเท็จจากการแชร์ของคนรู้จักบนโลกโซเชียลกันมาบ้าง ยิ่งท่านที่มี Line กลุ่ม หรือกลุ่มบน Facebook บางครั้งก็มักจะมีการแชร์ข้อมูลแปลกๆ จากคนรอบตัวมาเป็นประจำ และหลายๆ ครั้ง เมื่ออ่านแล้ว บางคนก็มักตัดสินใจแชร์ต่อโดยทันที
งดมื้อเช้าระวังอ้วน
โทร LINE อันตรายต่อสมอง
ด่วน! ถอดกัญชาจากบัญชียาเสพติด
อันตราย “พร้อมเพย์” ไม่ปลอดภัย เสี่ยงโดนแฮ็ก
กินปลาทะเล หายห่วงเรื่องพยาธิ
ฯลฯ
พาดหัวข้างต้นมักเป็นพาดหัวที่หลาย ๆ คนเคยตกเป็นเหยื่อกันมาแล้ว ซึ่งปัญหาการแชร์ข้อมูลเท็จออกสู่ Social Media เป็นเรื่องใหญ่และมีผลกระทบต่อใครหลายคน แต่สิ่งที่สังคมไทยขาดก็คือแพลตฟอร์มกลางที่คอยเป็นตัวเช็คข่าวให้ก่อนว่าข่าวไหนจริง ข่าวไหนลวง นั่นจึงทำให้เกิดโครงการ “เช็กก่อนแชร์.com” ขึ้นมาเพื่อเป็นแพลตฟอร์มกลางคอยตรวจสอบข่าวสารให้กับผู้บริโภคนั่นเอง
โดยหนึ่งในการทดลองของโครงการฯ ได้มีการทำ HOAX Social Experiment ด้วยการปล่อยข่าวสารกึ่งเท็จเพื่อสร้างกระแสบนสื่อออนไลน์ และเพื่อทดสอบพฤติกรรมของคนในสังคมออนไลน์ จากนั้นค่อยมีผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการในสาขาต่าง ๆ ออกมาแสดงความคิดเห็นแก้ข่าวดังกล่าว
ผลการทดลองพบว่า ตัวอย่างของข้อมูลเท็จในหัวข้อ “แพทย์ยืนยัน การอั้นตดทำให้เป็นกรดไหลย้อน” มีการแชร์ต่อเนื่องกว่า 1 ล้านครั้งภายในเวลาเพียง 2 – 3 ขณะที่การแก้ข่าวโดยผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน รวมทั้งเพจของ ดร.เจษฏา เด่นดวงบริพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์นั้น กลับพบว่า ยอดแชร์ของการแก้ข่าวนั้นมีน้อยกว่าถึง 10 เท่า
จากตัวเลขนี้ ทีมงานผู้ริเริ่มโครงการ “เช็กก่อนแชร์.com” อย่าง แรบบิทส์ เทลส์, มูนช็อท ดิจิตอล และครีเอทีฟ จูซ แบงคอก ร่วมกับ ปตท, เอสซีจี และธนาคารไทยพาณิชย์จึงมองว่า นี่อาจถึงเวลาแล้วที่จะต้องรณรงค์ให้สังคมไทยมีสติกันมากขึ้น
คุณสุนารถ ธนสารอักษร ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มบริษัท แรบบิท ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด เผยว่า “เรามีการพูดคุยกันถึงปัญหาข้อนี้ และคิดว่าจะดีกว่าไหมที่จะมีช่วยสร้างมาตรฐานให้กับสังคม Social ให้สามารถป้องกันปัญหานี้ได้ ดีกว่ามานั่งตามแก้ข่าวทีหลัง”
ความสำคัญของเว็บไซต์นี้คือ จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ Social Media เป็นที่ที่น่าอยู่มากขึ้น และเรารู้่ว่าข้อมูลนั้นสามารถตรวจสอบได้
ขณะที่คุณประเสริฐ สลิลอำไพ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เผยว่า ปตท.มีความตั้งใจที่จะร่วมรณรงค์ให้คนในสังคมออนไลน์ตรวจสอบข้อมูลก่อนเชื่อและแชร์ซึ่ง ปตท.ได้เคยมีการทำ Application ชื่อ PTT Insight เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องมาแล้ว ก็หวังว่าจะทำให้เกิดการตื่นตัวในทุกภาคส่วนของสังคมไทยในการตรวจสอบข้อมูลและข่าวต่าง ๆ ก่อนแชร์มากขึ้น
สำหรับขอบเขตของเว็บไซต์ เช็กก่อนแชร์.com นั้นประกอบด้วย
- เช็กแต่ข่าวลือหรือข่าวที่เป็นกระแสในขณะนั้น (มีการกล่าวถึง แชร์ หรือฟอร์เวิร์ด Link เป็นจำนวนมาก)
- เช็กและแสดงผลการตรวจสอบเฉพาะเรื่องที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้อง (Inspector) หรือแหล่งข่าว ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เช่น หากมีการอ้างอิงจากสำนักข่าว จะอ้างอิง 2 แห่งเป็นอย่างน้อย
- ไม่เช็กเรื่องส่วนบุคคลและเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ เช่น ดารา นักการเมือง UFO ทฤษฎีสมคบคิด เป็นต้น
- เนื้อหาครอบคลุมเรื่องสุขภาพ อาหาร และเรื่องทั่วไปอื่น ๆ ที่คนมักเข้าใจผิด
ทั้งนี้ ขั้นตอนในการทำงานของเว็บไซต์ เมื่อผู้ใช้งานต้องการเช็กข่าวสารที่ได้รับมาว่าถูกต้องเพียงใด ก็ให้ป้อนคีย์เวิร์ด หรือใส่ Link ข่าวที่ต้องการตรวจสอบลงในช่องค้นหา หากพบข้อมูลในระบบ จะมีการประมวลผลได้สามแบบ
- ข่าวจริง จะปรากฏข้อความว่า เช็กแล้วแชร์โลด
- ข่าวเท็จ จะปรากฏข้อความว่า เท็จแน่ ๆ ไม่แชร์ดีกว่า
- ข้อมูลไม่เพียงพอจะประมวลผล ระบบจะระบุว่า อย่าเพิ่งแชร์
จากนั้นจะมีการส่งต่อข้อความให้ทางผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านตรวจสอบเพื่อยืนยันอีกครั้ง และมีการจัดเก็บข้อมูลลงในระบบ
สำหรับผู้เชี่ยวชาญที่ให้ความร่วมมือนำข้อมูลมาประกอบการอ้างอิง ได้แก่
- ดร.เจษฏา เด่นดวงบริพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์
- อ.ไพบูลย์ อมรภิญโยเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอิเล็กทรอนิกส์
- นพ.พิรัตน์ โลกาพัฒนา ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรม
- พญ.เสาวภา พรจินดารัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็ก
- ทนายวิรัช หวังปิติพาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย
- พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด
- อ.ฐิติศักดิ์ บุญปราโมทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปิโตรเลียม