ประเทศจีนเผยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(GDP) ในช่วงสามเดือนแรกของปีหดตัวลง 6.8% นับเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบหลายสิบปีนับตั้งแต่มีการเริ่มบันทึก ซึ่งเป็นสัญญาณของแรงกระทบทางเศรษฐกิจในอนาคต
ธนาคารโลก (World Bank) ระบุถึงสถานการณ์เศรษฐกิจจีนโดยพื้นฐานแล้วอาจเห็นการเติบโตลดลงเหลือ 2% ในปีนี้ จาก 6% ในปีที่แล้ว และในกรณีที่เลวร้ายที่สุดการเติบโตอาจลดลงเหลือ 0.1% หรือไม่มีการเติบโตเลย
ภาคธุรกิจเริ่มกลับมา
แม้ในช่วงแรกของปีประเทศจีนเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หนักที่สุดในโลก แต่ปัจจุบันเริ่มควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ ภาคธุรกิจเริ่มกลับมาดำเนินการ
จากผลสำรวจสมาชิกของหอการค้าอเมริกันในประเทศจีนระบุว่า บริษัทเกือบ 1 ใน 4 คาดว่าจะกลับมาดำเนินธุรกิจตามปกติภายในสิ้นเดือนเมษายน ขณะที่บริษัท 22% ได้กลับมาดำเนินการตามปกติแล้ว
ประมาณ 40% ของบริษัททั้งหมดกล่าวว่าพวกเขาจะรักษาระดับการลงทุนให้สอดคล้องกับที่วางแผนไว้ก่อนหน้านี้ จึงไม่มีการลดจำนวนพนักงานหรือขนาดการผลิต
Vinesh Motwani หัวหน้างานวิจัยเส้นทางสายไหมกล่าวว่า ข้อมูลแสดงให้เห็นว่าภาคธุรกิจส่วนใหญ่ในประเทศจีนจะกลับมาอยู่ที่ 100% ภายในเดือนพฤษภาคม ขณะที่ด้านอุปสงค์ของผู้บริโภคอยู่ที่ 60-100% ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรม
เศรษฐกิจของจีนพึ่งพาการส่งออกมากถึง 20% ความต้องการทั่วโลกจึงเป็นกุญแจสำคัญในการฟื้นตัว ขณะที่สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดกำลังเผชิญกับวิกฤตการแพร่ระบาด ภาคธุรกิจยังไม่สามารถกลับดำเนินการได้
อุปสงค์ตกต่ำทั่วโลก
ในช่วงแรกห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกต้องหยุดชะงักตั้งแต่อุปกรณ์ วัตถุดิบต่างๆ ไม่สามารถผลิตต่อได้ เนื่องจากการล็อคดาวน์ของจีน ซึ่งเริ่มต้นที่เมืองอู่ฮั่นและขยายไปยังเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ ส่งผลให้โรงงานต้องหยุดการผลิตชั่วคราว
แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันโรงงานในประเทศจีนเริ่มกลับมาดำเนินการ และอุปทานเพิ่มขึ้นสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่อุปสงค์ตกต่ำลงทั่วโลกทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรป เป็นสัญญาณเตือนถึงช่วงเวลาที่เลวร้ายของภาคการส่งออกของจีน
รวมถึงภาคบริการในจีนที่ยากจะฟื้นตัวจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ทำให้ผู้คนไม่ใช้บริการร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ และแหล่งท่องเที่ยว
ความเสี่ยงในการฟื้นฟู
นอกเหนือจากความท้าทายในการป้องกันการแพร่ระบาดซ้ำของไวรัสโควิด-19 แล้ว เริ่มเห็นได้ชัดว่าการปิดตัวของภาคธุรกิจ การฟื้นตัวไม่ได้ของภาคส่งออกและภาคบริการ อาจนำไปสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจที่รุนแรงในอนาคต
อัตราการว่างงานของจีนเพิ่มขึ้นเป็น 6.2% ในเดือนกุมภาพันธ์สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ แม้ว่าธนาคารกลางจีนได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพิ่มเงินกู้ยืมระยะสั้นแก่บริษัทเอกชน การรักษาให้ภาคธุรกิจอยู่รอดถือเป็นกุญแจสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในช่วงที่ผ่านมาจีนใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจเกือบ 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 19.2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นความเสี่ยงในการเพิ่มหนี้สินให้กับประเทศ
แม้ว่าประเทศจีนได้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดสำหรับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปแล้ว แต่เมื่อยังไม่มีการคิดค้นวัคซีนป้องกันไวรัสได้สำเร็จ และประเทศอื่นยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ ซึ่งเป็นห่วงโซ่อุปสงค์อุปทานกันทั่วโลก ประเทศจีนก็ยังคงเผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจต่อไป