ประโยคนี้ของจักพรรดินโปเลียน โบนาปาร์ตยังใช้ได้เสมอ “Let China sleep, for when she awakes, she will shake the world” เมื่อยามที่จีนลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างมันจะสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ว ?ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมที่หลายคนสนใจและมักติดตามอยู่เสมอ จีนผงาดอย่างไรทั้งในแง่ธุรกิจและเทคโนโลยีเรามาดูกันนะคะ
WorldVendorAwards ได้มีการเปิดเผยข้อมูลรายได้ของบริษัทเวนเดอร์ผู้ผลิตโครงข่ายอุปกรณ์โทรคมนาคมในช่วงปี 2009 และ 2010 ที่ผ่านมา โดยจะเห็นได้ชัดว่า 2 บริษัทยักษ์ใหญ่จากแดนมังกรนั้นมีอัตราการเติบโตของรายได้ที่สูงขึ้นมาก Huawei (เติบโตขึ้นกว่า 24.23%) และ ZTE (เติบโตขึ้นกว่า 16.58%) ในขณะที่ฟากของบริษัทฝรั่งทั้งหลายกำลังประสบปัญหาคือไม่ค่อยโตก็ลดไปเลย
ย้อนกลับไปเมื่อสมัยที่ผู้เรียนศึกษาปริญญาตรีอยู่ (ขอไม่ระบุว่าปีไหน :P) ชื่อของทั้ง 2 บริษัทก็ได้มาตั้งสำนักงานในไทยแล้ว และก็กำลังเจาะตลาดภูมิภาคเอเชียซึ่งในเวลานั้นตลาดโครงข่ายต่างๆ ถูกครอบครองด้วยเวนเดอร์จากโซนตะวันตกเป็นจำนวนมากไม่ว่าจะเป็น Nokia (ก่อนหน้าที่จะจับมือกับ Siemens ในแง่ธุรกิจโครงข่าย) , Siemens,? Alcatel (ก่อนหน้าที่จะรวมกับ Lucent) , Ericsson, Motorola, Nortel เป็นต้น หรือถ้าเป็นอุปกรณ์ด้านบริการเสริมก็เช่น Comverse จากอิสราเอล แต่เมื่อกาลเวลาล่วงเลยผ่านไปการเปลี่ยนขั้วก็เกิดขึ้น Huawei หรือที่คนไทยเรียกกันคุ้นเคยว่า “หัวเหว่ย” ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1988 มีสำนักงานใหญ่ ณ เมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน ผลิตอุปกรณ์โครงข่ายโทรคมนาคมตั้งแต่ สถานีฐาน (Base Station), ระบบ Transmission, Core Network ทั้งเสียงและดาต้า,อุปกรณ์สำหรับบริการเสริม (Value-Added Service) ให้กับทั้งเครือข่ายสาย GSM และสาย CDMA และปัจจุบันกำลังไปได้สวยในยุค 3G และ 4G แม้ Huawei จะถูกตั้งคำถามเสมอว่าการเติบโตที่รวดเร็วนั้นเป็นเพราะได้รับการสนับสนุนจากกองทัพและรัฐบาลจีนเป็นกรณีพิเศษหรือไม่?
ในขณะที่คู่แข่งรายสำคัญของ Huawei อย่าง ZTE นั้นก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1985 จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพท์ทั้งที่ ฮ่องกง และ เมืองเซินเจิ้น โดยผู้ถือหุ้นใหญ่คือรัฐบาลจีน สายผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์แทบไม่มีอะไรต่างกับ Huawei เพราะทำได้เหมือนกัน
ลักษณะกลยุทธ์ของเวนเดอร์ทั้ง 2 รายนั้นจะคล้ายกันกับสายธุรกิจอื่นๆ ของจีนที่มักนิยมทำ คือการเล่นเรื่องของราคา, ควบคุมต้นทุน และลดส่วนต่างระหว่างราคาขายกับต้นทุนทำให้สามารถเจาะเข้าไปยังหลายประเทศทั่วโลกได้ แม้จะมักถูกพูดถึงในเรื่องของคุณภาพและความน่าเชื่อถือ รวมถึงถูกเพ่งเล็งเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ก็ตามที อย่างเช่น ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา Ericsson ฟ้องร้อง ZTE เรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์หลังจากที่ชนะงานการติดตั้งระบบ LTE ให้กับ Hi3G ในประเทศเดนมาร์ครวมถึงเหยียบถิ่นของ Ericsson เองอย่างสวีเดน
แต่ก็ใช่ว่าบริษัทจีนจะยอมให้ฝรั่งมาเล่นฝ่ายเดียว ยกตัวอย่าง Huawei เองก็ฟ้องร้องกรณีที่ Motorola Solution จะขายธุรกิจด้านนี้ให้กับ NSN (Nokia Siemens Networks) อันประกอบไปด้วยเทคโนโลยีทั้ง GSM, CDMA, WCDMA, WiMAX และ LTE แต่สุดท้ายแล้วดิวนี้ NSN ก็ได้ไปด้วยการจ่ายเงิน 975 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และพนักงานกว่า 6,900 คนของ Motorola Solution ก็จะกลายเป็นทีมงานของ NSN ทำให้น่าจับตามองว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้า การขยายส่วนแบ่งการตลาดเดิมที่มีอยู่,ได้ดูแลกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ พร้อมหาโอกาสใหม่ๆ เข้ามา ตารางสรุปข้างต้นของ NSN ที่เดิมมีฐานที่เข็มแข็งในอเมริกาเหนือและญี่ปุ่นจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไรหลังจากการตัดสินใจเข้าซื้อกิจการดังกล่าวอันนี้ต้องรอดูกันต่อ
ประเด็นการฟ้องร้องในเกมธุรกิจแบบนี้ระหว่างผู้ผลิตจากฟากตะวันตกและตะวันออกจะยังมีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ แต่สิ่งที่ 2 บริษัทนี้จะทำได้นอกเหนือจากเรื่องกลยุทธ์การแข่งขันระหว่างการประมูลงานแล้ว บริษัทจีนทั้ง 2 รายพยายามลงทุนในส่วนของ R&D เพื่อยกระดับมาตรฐานสู่สากลโลกอาทิเช่น ล่าสุด ZTE เจาะตลาดในทวีปอเมริกาใต้อย่างบราซิลตั้งเป้าที่จะสร้างรายได้กว่า 1พันล้านสหรัฐฯ ภายในปีนี้และวางแผนที่จะลงทุนศูนย์ R&D ในกรุงเซาเปาโลกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ในแง่ของเทคโนโลยี
จากเดิมที่บริษัทต่างๆ ในโลกตะวันตกจะเป็นผู้วางมาตรฐานตั้งแต่ยุคการสื่อสาร 1G , 2G, 3G แต่สำหรับ 4G ดูท่าทางจีนจะไม่ยอมเอาง่ายๆ พยายามผลักดันเทคโนโลยี TD-LTE ให้ขึ้นมาเป็นมาตรฐานโลก งานนี้ต้องเรียกว่ามาได้ถูกที่ถูกเวลาเพราะเข้าสู่ตลาด ณ วันที่ 4G ยังอยู่ช่วงเริ่มต้น ไม่ได้มาทีหลังเหมือนคราวยุค 3G ที่ประเทศอื่นเค้าใช้มาตรฐานอื่นกันไปก่อนหน้าแล้ว
โดยผู้ให้บริการอย่าง China-Mobile กำลังทำการทดสอบเทคโนโลยีดังกล่าว แม้เหล่าบรรดาเวนเดอร์ฝรั่งทั้งหลายก็ต้องปรับตัวพัฒนาอุปกรณ์ให้รองรับและพร้อมเข้าร่วมทดสอบกันเป็นแถวๆ ไม่ว่าจะเป็น NSN, Alcatel-Lucent และ Ericsson แม้ว่าจะมีการคาดการณ์จาก Alcatel-Lucent ว่า TD-LTE น่าจะถูกเปิดตัวเชิงพาณิชย์ที่ประเทศญี่ปุ่นและอินเดียก่อนจีนก็ตาม แต่มันเป็นเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในถิ่นมังกร งานนี้จะไม่เรียกว่าจีนผงาดในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมได้อย่างไร
ภาพ : Forbes, fareastgizmos,androidcommunity