Site icon Thumbsup

จับให้ได้ถ้านายแน่จริง! เรื่องปวดหัวของรัฐบาลจีนกับการไล่จับรีวิวปลอมในเว็บขายสินค้า

ในโลกของอีคอมเมิร์ซแบบ C2C การรีวิวสินค้าโดยผู้ใช้งานถือว่ามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้ออย่างมาก เพราะมันคือสิ่งที่ลูกค้าจะตรวจสอบดูก่อนที่จะซื้อสินค้าแต่ละชิ้น การรีวิวทั้งในแง่ดีและลบล้วนมีผลต่อยอดขายของสินค้า นี่คือสาเหตุที่ทำให้ Taobao เว็บอีคอมเมิร์ซแบบ C2C ของจีนถูกรัฐบาลจับตามองในเรื่องนี้ หลังจากที่มีการปั้นรีวิวอวยสินค้าโดยผู้ใช้งานปลอมๆ กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น 

ข้อมูลจาก Tech in Asia ระบุว่าตั้งแต่วันที่ 15 เดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไป การสร้างคอมเมนต์หรือรีวิวสินค้าปลอมๆ ขึ้นมาในเว็บไซต์ของตัวเองจะถือเป็นเรื่องผิดกฏหมายในจีน (ฟังดูย้อนแย้งดีพิลึก เพราะจีนขึ้นชื่อสุดๆ เรื่องของก๊อปแบรนด์เนมหรือของปลอมนั่นล่ะ) และเจ้าหน้าที่รัฐมีสิทธิที่จะลงโทษเจ้าของเว็บไซต์ผู้ละเมิดกฏดังกล่าว

คำถามคือ เจ้าหน้าที่จะใช้ญาณหยั่งรู้อะไรไปไล่จับกลุ่มคนที่ใช้วิธีแบบนั้น เพราะถ้าจะพูดกันจริงๆ แล้ว มันเป็นเรื่องที่แทบจะจับมือใครดมไม่ได้เลย และทาง Alibaba ก็ไม่ได้ใส่ใจกับเรื่องนี้มากนัก

Wall Street Journal เคยเขียนถึงการสร้างรีวิวปลอมๆ เมื่อไม่นานมานี้ โดยเรียกมันว่า “Brushing” หรือก็คือการปัดกวาดเช็ดถูให้ดูดี และได้สรุปมาว่ารูปแบบการทำงานของคนกลุ่มเหล่านี้เป็นไปตามรูปภาพด้านล่าง

จากที่เห็นในภาพ ก็จะพอสรุปได้ว่าการทำงานของระบบนี้ไม่ได้ซับซ้อนอะไรมากนัก เพียงแค่เวนเดอร์จัดการโอนเงินค่าสินค้าไปให้กลุ่มคนที่มีหน้าที่เป็น Brusher เพื่อให้คนเหล่านี้สั่งซื้อสินค้าเข้ามาในเว็บ เมื่อได้รับคำสั่งซื้อ ทางเวนเดอร์หรือผู้ขายก็จะส่งสินค้าที่เป็นกล่องเปล่าๆ ไปให้กับ Brusher หลังจากนั้นก็จะทำการเขียนรีวิวสินค้าลงบนเว็บไซต์ของผู้ขาย ง่ายๆ แบบนี้

กระบวนการแบบนี้ถือว่าตรวจจับได้ค่อนข้างยาก แม้กระทั่งกับ Alibaba เองก็ตาม เพราะทุกๆ อย่างมันดูเหมือนการสั่งซื้อสินค้าตามขั้นตอนปกติ ถ้าเข้าไปดูหลังบ้านก็จะเห็นว่ามีคำสั่งซื้อ มีการจัดส่ง และได้รับการรีวิวจากผู้ใช้งาน แน่นอนว่ารัฐบาลจีนจะต้องปวดหัวกับเรื่องนี้ไม่มากก็น้อยหากเริ่มใช้งานจริงในสัปดาห์หน้า เพราะการรวบรวมหลักฐานเพื่อเอาผิดนั้นอาจจะยากระดับน้องๆ ของการสร้างกำแพงเมืองจีนเลยล่ะ