ต้องยอมรับว่าไลฟ์สไตล์การท่องเที่ยวต่างประเทศของนักท่องเที่ยวจีนกำลังกลายเป็น Trendsetter ในปัจจุบันที่ผู้ประกอบการต้องตามให้ทัน ปีที่ผ่านมา Bain & Company และ China Merchants Bank คาดการณ์ว่าจะมีชาวจีนถือเงินมากกว่า 50 ล้านบาท เป็นจำนวนมากกว่า 1.87 ล้านคน สอดคล้องกับข้อมูลจาก Nielson ที่เผยว่านักท่องเที่ยวชาวจีนมีอำนาจการซื้อของในต่างประเทศสูงถึง 24,500 บาท/คน
สำหรับประเทศไทยยอดใช้จ่าย (On-location spending) ของนักท่องเที่ยวจีนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 65,000 บาท/คน (ซึ่งจะรวมที่พัก ตั๋วเครื่องบินและอาหารการกิน แต่ไม่รวมการช้อปปิ้งในแต่ละทริป) ซึ่งเม็ดเงินจำนวนมหาศาลนี้กำลังหลั่งไหลสู่ประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับความนิยมระดับ “Top 3” (ญี่ปุ่น ไทย เกาหลีใต้) และสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้ธุรกิจไทยด้วยการใช้จ่ายผ่านโมบายเพย์เมนท์
iResearch Consulting Group เผยว่าในปี 2016 มูลค่าการชำระเงินผ่านโมบายเพย์เมนท์ของคนจีนในประเทศสูงถึง 5.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (หรือ 187 ล้านล้านบาท) และเมื่อคนจีนเริ่มท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น ก็มีข้อจำกัดที่นักท่องเที่ยวจีนไม่สามารถนำเงินออกนอกประเทศได้มากนัก ทำให้ภาพการชำระเงินผ่านโมบายเพย์เมนท์ของคนจีนในต่างประเทศชัดมากขึ้น ตัวเลขล่าสุดจาก Nielson เผยว่าคนจีนมีการใช้จ่ายผ่านมือถือถึง 90 % ขณะเดินทางในต่างประเทศ ซึ่งสูงกว่านักท่องเที่ยวชาติอื่นๆถึง 6 เท่า
สำหรับประเทศไทย การสนับสนุนให้ร้านค้าเพิ่มช่องทางการชำระเงินด้วย QR Code หรือระบบอื่นๆ ที่รองรับ Mobile Payment นั้น ทำให้เกิดเทรนด์ Cashless หรือ Wallet-free ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หากการใช้จ่ายออนไลน์เป็นไปอย่างแพร่หลาย มูลค่าทางเศรษฐกิจของกรุงเทพ จะได้รับเพิ่มขึ้นจะสูงถึง 1.26 แสนล้านบาท และเกิดความเปลี่ยนแปลงอีกมาก
และแน่นอนว่าชาวจีนที่มาเที่ยวไทยก็ต้องใช้จ่ายผ่านแอพ Alipay ผูกกับการใช้จ่ายในการเดินทางมาใช้ชีวิตทั้งในและต่างประเทศมากที่สุด ซึ่งอาหารไทยนับว่าเป็น Food Destination อย่างแรกที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากนักท่องเที่ยวจีน โดยตลาดธุรกิจร้านอาหารกำลังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าปี 2561 จะขยายตัวกว่า 4 แสนล้านบาท
นัฐธารี พันธุ์เพ็ญโสภณ Chief Operating Officer (COO) จาก COCA Holding International co.,ltd เจ้าของแบรนด์ร้านอาหาร COCA, Mango Tree และ China White เล่าให้ฟังว่า โคคา เพิ่งนำ Alipay มาให้บริการนักท่องเที่ยวจีนเมื่อ สิงหาคม 2016 ช่วงแรกจะเป็นการใช้ที่ Coca และ Mango Tree สาขาสุรวงศ์ จากนั้นค่อยมาเพิ่มที่ Central world เพราะมีชาวจีนมาเที่ยวเยอะ เรียกได้ว่าเพิ่มการใช้จ่ายได้คล่องกว่าเดิม
“คนจีนไม่ค่อยพกเงินสด 70-80% คือต้องการจ่ายด้วย Alipay เลย ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นทุกเดือน เพราะแต่ละครั้งที่คนจีนมาทานอาหารที่ร้านจะจัดเต็มมาก สั่งเมนูแพงสุด อย่างน้อยต้องมีอาหารซีฟู้ด เพราะบ้านเค้าจะแพงกว่าเรามาก”
ตอนแรกที่ไม่มี Alipay เราก็มีคนจีนมากินบ้าง เพราะแบรนด์เราขยายไปในต่างประเทศ คนก็จำแบรนด์ได้ แต่พอเพิ่มช่องทางการจ่ายเงินแบบนี้เข้ามา ก็ทำให้ลูกค้าลดความกังวลเรื่องแลกเงินมาไม่พอได้ดีขึ้น ซึ่งเมื่อเทียบปี 2015-2016 มีการใช้จ่ายต่อบิลเพิ่ม 30-40% เลย
ด้วยความที่ร้านค้าในเครือโคคา จะมีทั้ง โคคา สุกี้ แมงโก้ทรีและไชน่า ไวท์ ทำให้ลูกค้าที่มาใช้บริการจะแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ ลูกค้าไทยและญี่ปุ่นที่อาศัยในไทย นักท่องเที่ยวชาวจีนและญี่ปุ่น และชาวยุโรป โดยค่าเฉลี่ยต่อบิลที่มาทานจะมีทั้งแบบ บุคคลทั่วไปคือ 1,200บาท/คน หรือหลักแสนที่ยกกันมาทั้งบริษัทก็มี ซึ่งเมนูแพงสุด คือล็อบสเตอร์ ราคา 1,499 บาท ซึ่งคนจีนมาสั่งกันทุกคนและอาหารซีฟู้ดอย่าง ปลา กุ้ง อาหารทะเลปรุงรส โดนใจนักชิมมาก
การเลือกช่องทางการจ่ายเงินที่หลากหลายนั้น สร้างโอกาสทางการขายที่ดีอย่างมาก ที่จริงไม่ได้จำกัดว่าเป็นชนชาติใด แต่ก็ต้องยอมรับว่าเทรนด์จ่ายเงินผ่านมือถือมาแรง ซึ่งผู้ให้บริการร้านอาหารไม่ควรมองข้าม
ทางด้านของผู้บริหาร Alipay พิภาวิน สดประเสริฐ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย บริษัท แอนท์ ไฟแนนเชียล มองว่า การแข่งขันในธุรกิจเพย์เม้นท์ของไทยเริ่มดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ เพราะต้องการให้คนไทยปรับตัวเข้าสู่ยุค Cashless Society แต่ทาง Alipay เองไม่ได้แข่งขันในกลุ่มลูกค้าไทย จึงไม่ได้กระทบมาก สิ่งที่บริษัทจะทำงานให้ดีคือรองรับลูกค้าชาวจีนที่ใช้งานทั่วโลกแบบ Active มากถึง 650 ล้านคน เกิดการใช้จ่ายมากถึง 1,000 ล้านTransaction/วัน และเพิ่มร้านค้ารับ QR Code ในไทยให้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้มีอยู่เกิน 5 หมื่นจุดแล้ว
สิ่งที่ Alipay จะทำให้มากขึ้น คือผลักดันให้ SME ตระหนักและมีบริการของ Alipay ไปติดที่ร้านเพื่อรองรับการใช้จ่ายของชาวจีนที่ดีขึ้น โดยเน้นไปที่ 4 อุตสาหกรรมคือ Transformation, Tourist, Hotel และ Tax Refund ซึ่งเรื่องของการคืนภาษีผ่าน Alipay นั้น ที่เกาหลีใต้และสิงคโปร์สามารถทำได้แล้ว แต่ในไทยก็จะผลักดันต่อไป เพราะคนจีนกว่า 80% ใช้งาน Alipay กันเกือบทั้งประเทศ ซึ่งบริษัทก็คาดหวังให้ลูกค้าใช้งานซ้ำอย่างน้อย 10 ครั้ง/ทริป แต่ไม่ได้จำกัดมูลค่า เพื่อขยายความคุ้นเคยในการใช้งานให้ดีขึ้น