เกมการเมืองของสองมหาอำนาจโลก จีน และสหรัฐฯ อันสั่นสะเทือนภาวะเศรษฐกิจโลกกำลังก้าวไปอีกขั้น
ก่อนหน้านี้ทั้งผู้นำแดนอินทรีย์และมังกรผลัดกันตอบโต้ไปมา โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม The Chinese State Council สภาแห่งรัฐจีน “สวนหมัด” ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯ กว่า 5,078 รายการ เพื่อตอบโต้การที่สหรัฐฯ ขึ้นกำแพงภาษีรอบใหม่โดยครั้งนี้จีนเน้นจัดการสินค้าหมวดเทคโนโลยีซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของสหรัฐฯ คือ อิเล็กทรอนิกส์ ชิปโทรศัพท์มือถือ (แน่นอนว่าหุ้นแอปเปิลต้องดิ่งไป 4.6% ทันที) เครื่องจักร อากาศยาน เครื่องมือแพทย์ รถยนต์ และยังพ่วงสินค้าเกษตรเข้ามาด้วยเพื่อทำให้เกษตรกรซึ่งเป็นกลุ่มฐานเสียงของประธานาธิบดีทรัมป์เดือดร้อน
แน่นอนว่าสหรัฐฯ ไม่นิ่งเฉย เพราะไม่กี่ชั่วโมงถัดมาประธานาธิบดีทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ออกโรงขู่ว่าอาจทบทวนการขึ้นภาษีสินค้าจีนจาก 10% เป็น 15% ทันทีจากที่เคยชะลอไปขึ้นภาษีเป็นวันที่ 15 ธันวาคมเพราะกลัวกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลก และยังขู่ต่อว่าอาจทบทวนแผนขึ้นภาษีสินค้าจีนจากเดิมที่จะขึ้นไปให้ถึง 25% เปลี่ยนเป็น 30% แทน พร้อมเรียกร้องให้บริษัทอเมริกันในจีนทุกแห่งย้ายฐานกลับมายังสหรัฐฯ และทวีตต่อว่าจีนว่า “ปล้นทรัพย์สินทางปัญญา” ของสหรัฐฯ คิดเป็นเงินหลายแสนล้านดอลลาร์
ผลกระทบกับไทย
ปฎิเสธไม่ได้ว่าศึกการค้าของสองมหาอำนาจจะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย เนื่องจากเมื่อจีนไม่สามารถขายสินค้าบางชนิดให้กับสหรัฐฯ ได้ก็ต้องนำสินค้าจำนวนมหาศาลเหล่านี้ส่งไปขายประเทศอื่นและกลายเป็นคู่แข่งคนสำคัญ ของไทยอาจโดนผลกระทบหนักเรื่องสินค้าวัตถุดิบต่างๆ ซึ่งธรรมดาจีนสามารถผลิตได้ถูกมากอยู่แล้ว หากมาแข่งขันกันไทยก็จะเสียเปรียบขึ้นไปอีก และหากสงครามการค้านี้ยืดเยื้อจนธุรกิจไทยตายหมดต่อไปทุนจีนก็จะเข้ายึดครองตลาด
แต่ก็มีข้อดีในเรื่องความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อจีนอาจลดลงและมองหาแหล่งการลงทุนใหม่ ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียนและพร้อมเปิดประตูต้อนรับทุนต่างชาติ
จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป
วันที่ 1 ตุลาคมจะเป็นหมุดหมายชี้ชะตาเพราะทั้งสองมหาอำนาจเลือกวันชาติสาธารณรัฐจีนเพื่องัดกันว่าใครจะทำตามคำขู่ขึ้นภาษีอย่างที่กล่าวไว้ แต่ที่น่ากลัวกว่านั้นคือการตอบโต้กันในเฟสต่อไปอาจไม่ใช่การขึ้นภาษีเท่านั้นแต่อาจขยายไปยังการตอบโต้แนวนโยบายซึ่งแนวทางที่จีนอาจกดดันสหรัฐฯ มีหลากหลายมาก
การกดดันผ่านบริษัทต่างชาติถือเป็นทางเลือกหนึ่งเพราะอาวุธสำคัญของจีนคือโรงงานทุกแห่งบนโลกต้องพึ่งพาจีนเพราะที่นี่คือแหล่งผลิตสินค้าและบริการต้นทุนต่ำแต่มีคุณภาพสูง เพียงแค่จีนออกนโยบายสร้างความยุ่งยากให้แก่ธุรกิจ เช่น กระบวนการศุลกากร กฎเกณฑ์ใหม่ๆ หรือการกดดันเชิงนโยบาย ที่สำคัญทางการจีนสามารถทำเรื่องนี้ได้ง่ายทันทีเพราะปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม แต่ทางเลือกนี้อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนักเพราะนักลงทุนจากประเทศอื่นอาจไม่มั่นใจในการทำธุรกิจในจีนและย้ายเงินลงทุนออกไปด้วย
นอกจากนี้ จีนอาจร่วมมือกับประเทศพันธมิตรต่างๆ เช่น ประเทศในยุโรป เอเชีย และละตินอเมริกา เพื่อโดดเดี่ยวสหรัฐฯ เพราะในภูมิภาคนี้ใครๆ ก็ไม่กล้าหือกับจีน รวมถึงสหรัฐฯ เองก็เคยสร้างวีรกรรมไม่ดีกับหลายประเทศ รวมถึงครั้งนี้ที่สหรัฐฯ เป็นฝ่ายเปิดเกมขึ้นกำแพงภาษีนี้ก็ทำให้เกิดผลกระทบกับหลายประเทศ แต่ตัวเลือกเรื่องการลดค่าเงินหยวนเพื่อทำให้ราคาสินค้าจีนถูกลงอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนักเพราะจะทำให้เศรษฐกิจจีนไร้เสถียรภาพ