ต้องบอกว่าความร้อนแรงของจีนยังคงไม่แผ่วลงเลย แถมยังดูมีอนาคตที่สดใสไม่น้อย โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ที่เราเห็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอยู่อย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดบริษัท Smartling ได้ทำการสำรวจและพบว่าอีกไม่นานนี้ คอนเทนต์ภาษาจีนกำลังจะแซงหน้าคอนเทนต์ภาษาอังกฤษแล้ว นี่กำลังจะกลายเป็นอีกจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่คนบนโลกออนไลน์ต้องหันมาให้ความสนใจอย่างจริงจังมากขึ้น
Infographic จาก Smartling ชี้ให้เห็นภาพชัดเจนว่าช่วงสิ้นปี 2011 ที่ผ่านมา คอนเทนต์ที่เป็นภาษาอังกฤษมีสัดส่วนบนโลกออนไลน์ทั้งสิ้นราว 27% ในขณะที่คอนเทนต์ภาษาจีนอยู่ที่ราว 24% ซึ่งหากมองในภาพรวมแล้ว จำนวนผู้เข้าถึงโลกอินเทอร์เน็ตทั้งสิ้นราว 45% เป็นชาวเอเชีย ทั้งๆ ที่มีประชากรเพียง 26% จากจำนวนประชากรชาวเอเชียทั้งสิ้น 3,500 ล้านคนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งตัวเลขนี้ถือว่าน่าสนใจมากๆ
เมื่อมองภาพการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าสัดส่วนคอนเทนต์ภาษาอังกฤษกำลังลดลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับภาษาอื่นๆ ซึ่งจากเดิมที่สัดส่วนของคอนเทนต์ภาษาอังกฤษอยู่ที่ 39% ในปี 2000 ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 27% เท่านั้น ในขณะที่คอนเทนต์ภาษาจีน (ZH) เติบโตจาก 9% มาเป็น 24% ในช่วงเวลาเดียวกัน และหากมองจากอัตราความเร็วแล้ว เราอาจจะได้เห็นจำนวนคอนเทนต์ภาษาจีนแซงหน้าคอนเทนต์ภาษาอังกฤษภายในกลางปี 2014 นี้
ทีนี้เราลองมาดูกันให้ลึกลงมาอีกนิดว่ากลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่อยู่เบื้องหลังการเติบโตของคอนเทนต์ภาษาจีนนี้มีพฤติกรรมเป็นอย่างไรกันบ้าง มาดู Infographic อีกชิ้นกันครับ
จากภาพ จะเห็นว่าด้วยจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตชาวจีนกว่า 500 ล้านคน ทำให้ตลาดการบริโภคข้อมูลภาษาจีนเกิดการเติบโตอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และคาดว่าภายในปี 2016 ประชากรกว่า 52.1% ของประเทศจะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและคอนเทนต์ได้ (ซึ่งเกือบทั้งหมดก็เป็นภาษาจีนเป็นหลัก) ซึ่งก่อนสิ้นปี 2011 ที่ผ่านมา กว่า 145 ล้านคนมีการใช้งาน e-commerce ด้วย และมีความถี่ในการซื้อสินค้าออนไลน์สูงกว่าตลาดตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรด้วยซ้ำ
เราได้อะไรจากข่าวนี้: จากนี้ไป ธุรกิจต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชียคงจะต้องหันมาให้ความสนใจกับการรองรับภาษาจีนและตลาดออนไลน์จีนกันมากขึ้นกว่าเดิม เดิมทีที่เว็บมีแค่ภาษาท้องถิ่นและภาษาอังกฤษ เว็บชั้นนำต่างๆ น่าจะต้องหันมาพิจารณาการเพิ่มภาษาจีนให้กับเว็บของตนด้วย สิ่งหนึ่งที่ธุรกิจไม่ควรลืมก็คือ ตลาดจีนในวันนี้แตกต่างจากตลาดจีนที่เราเคยเข้าใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงหลังจากที่จีนเป็นเจ้าภาพโอลิมปิคในปี 2008 ที่ผ่านมาซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนให้จีนคุ้นเคยกับตลาดต่างประเทศมากขึ้น และคนจีนเองก็มีรายได้เฉลี่ยที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหากธุรกิจใดในบ้านเราที่ต้องการจับตลาดนานาชาติก็ไม่ควรที่จะละเลยการรองรับภาษาจีนและพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีน ตัวอย่างเช่น:
- ทำคอนเทนต์บนเว็บให้รองรับภาษาจีน นอกเหนือจากภาษาไทยและอังกฤษ
- ใส่กลิ่นของวัฒนธรรมจีนเข้าไปในคอนเทนต์ เช่น การทักทายช่วงเทศกาลต่างๆ การใช้สัญลักษณ์ โทนสีที่เหมาะสมในเวอร์ชั่นของจีน นั่นจะทำให้คนจีนประทับในเว็บและคอนเทนต์มากเป็นพิเศษ
- รองรับการบริการ การจัดส่งสินค้า ให้ข้อมูล คำแนะนำ รวมถึงบริการหลังการขายสำหรับกลุ่มลูกค้าชาวจีน
- หาพาร์ทเนอร์ท้องถิ่นในประเทศจีนที่สามารถเป็นตัวแทนในการกระจายสินค้า บริการลูกค้า รวมถึงเป็นผู้ให้ข้อมูลตลาดที่ up to date
ที่มา:?Tech in Asia 1?,?Tech in Asia 2