อาจกล่าวว่าบทความนี้เป็นเรื่องราวควันหลงของเทศกาลตรุษจีนในจีนแผ่นดินใหญ่ก็ว่าได้ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ในช่วงเทศกาล จะมีคนจีนออกเดินทางกลับบ้าน เดินทางไปเที่ยว ฯลฯ กันมากมายหลายร้อยล้านคน ซึ่งทำให้หลายฝ่ายมีการเรียกช่วงเทศกาลดังกล่าวว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการอพยพย้ายถิ่นที่ใหญ่ที่สุดของโลก
แต่ไม่ใช่เฉพาะระบบคมนาคมขนส่งที่ได้รับการจับตามอง ในเวลาสำคัญเช่น ช่วงเทศกาลตรุษจีนนี้ ก็ยังมีอีกหนึ่งตลาดที่ได้รับการจับตามองเป็นพิเศษ นั่นก็คือ “ตลาดแอปพลิเคชัน” ซึ่งจีนก็ครองสถิติเป็นตลาดแอปพลิเคชันที่ใหญ่ที่สุดด้วย นอกจากเรื่องของการมีประชากรอินเทอร์เน็ตสูงที่สุดในโลก และการใช้งานสมาร์ทโฟนมากที่สุดในโลก (อ้างอิงจากบทวิเคราะห์ของ App Annie)
โดยเม็ดเงินที่หมุนเวียนบน App Store, โฆษณาออนไลน์ และ Mobile Commerce นั้น ทุก ๆ 4 เหรียญสหรัฐจะเป็นเงินที่มาจากจีน 1 เหรียญสหรัฐเสมอ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 25% เลยทีเดียว
เฉพาะในไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมา ผู้ใช้งานแอปพลิเคชันของจีนใช้เวลามากกว่า 200,000 ล้านชั่วโมงในแอปพลิเคชัน ซึ่งมากกว่าในตลาดอินเดียถึง 4.5 เท่า ส่วนบริษัทผู้พัฒนาแอปพลิเคชันรายใหญ่ก็ไม่ใช่ใคร หากแต่เป็น Alibaba Group, Tencent Holding และ Baidu นั่นเอง
โดยเราพบว่า เทคนิคที่บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติจีนนำมาใช้ดึงดูดผู้บริโภคในช่วงเทศกาลนั้นมีหลายด้านที่น่าสนใจและมีความเกี่ยวข้องกับคนจีนอย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็น
แจกแต๊ะเอียดิจิทัล
ซองแต๊ะเอียทั่วไปไม่อาจสร้างความว้าวได้แล้วกับผู้บริโภคชาวจีนยุคนี้ จึงจำเป็นที่บริษัทที่อยากได้การมีส่วนร่วมต้องลงมาสร้างแคมเปญแต๊ะเอียดิจิทัล และทั้ง Alibaba และTencent ก็อยู่ในปรากฎการณ์นี้ที่เปิดแจกแต๊ะเอียดิจิทัลเป็นเงินรวมมากกว่า 5.2 พันล้านหยวน ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้งานเกาะติดอยู่กับแพลตฟอร์มได้ยาวนานมากขึ้น
ฟิลเตอร์ AR สำหรับการถ่ายเซลฟี่
ผู้พัฒนาฟิลเตอร์นี้คือ Tencent ที่ส่งแอปพลิเคชันตกแต่งภาพชื่อ Tian Tian Pi Tu ออกมา กลุ่มเป้าหมายของแอปพลิเคชันคือเด็กสาววัยรุ่น หรือผู้หญิงวัยเริ่มต้นทำงานกับการมีของเล่นมาให้แต่งหน้ากันในแบบเวอร์ชวล แต่เมื่อตรุษจีนปีนี้มาถึง ทางแอปพลิเคชันได้เพิ่มที่ติดผม หรือสัญลักษณ์แห่งความโชคดีต่าง ๆ ลงไปในระบบ เพื่อให้ผู้ใช้งานได้นำมาตกแต่งประดับศีรษะให้สวยกันไปอีกแบบ
ใช้ AI ช่วยในการเขียนป้ายอวยพร
เวลาดูหนังจีน เรามักจะเห็นป้ายคำที่มีความหมายดี ๆ เช่น คำเกี่ยวกับความสุข ฯลฯ ติดอยู่หน้าบ้านของคนจีนกัน ซึ่ง Tencent และ Baidu ก็เลือกที่จะใช้ AI เข้ามาช่วยในการเลือกคำที่มีความหมายดี ๆ ให้กับผู้ใช้งาน โดยระบบจะให้ผู้ใช้งานป้อนคำที่ต้องการลงไป จากนั้น ระบบจะหาคำที่มีบริบทใกล้เคียงกันและสร้างออกมาเป็นป้ายอวยพรแบบเฉพาะบุคคลให้ด้วย
จะเห็นได้ว่า ในแต่ละประเทศต่างก็มีวัฒนธรรมการแสดงออกของตนเองที่เป็นเอกลักษณ์ แต่สำหรับจีนแผ่นดินใหญ่นั้น นอกจากเอกลักษณ์ด้านความเป็นจีนแล้ว คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในระยะหลัง เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้าไปผูกพันกับวัฒนธรรมชาวจีนแล้วอย่างลึกซึ้ง จนกลายเป็นแคมเปญที่น่าสนใจดังที่ปรากฏอยู่นี้ และคงต้องติดตามกันต่อว่า ตรุษจีนปีหน้าของจีนนั้นจะมีของเล่นอะไรมาอวดชาวโลกกันอีก
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ SCMP