ไหนจะ Facebook, Twitter, Pinterest, Google+, LinkedIn และอีกหลายแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่พร้อมให้แบรนด์ทั่วโลกเลือกใช้ แต่ว่าแพลตฟอร์มใดหนอที่จะสร้างความคุ้มค่ากับเงินทุนที่ลงทุนไปได้มากที่สุด? แผนภาพ Infographic นี้จะบอกเล่าสิ่งที่ทุกคนควรรู้ในการเลือกแพลตฟอร์มที่เหมาะสมที่สุด
ปัจจุบัน โซเชียลมีเดียกลายเป็นช่องทางสำคัญในการทำธุรกิจที่ได้รับความนิยมมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ด้วยรูปแบบที่มีความหลากหลายจึงส่งผลให้นักธุรกิจส่วนใหญ่เกิดความสับสนว่าโซเชียลมีเดียประเภทไหนคือรูปแบบที่มีความเหมาะสมในการใช้งานมากที่สุด เว็บไซต์ Infographics.sg จึงได้รวบรวมคำแนะนำเพื่อเป็นแนวทางในการเลือกของโซเชียลมีเดียให้เหมาะกับการทำธุรกิจแต่ละประเภท โดยใช้หลักเกณฑ์ในตัดสินรวมกัน 3 ข้อ คือ รูปแบบของสื่อที่ต้องการนำเสนอ จุดประสงค์ในการใช้งาน และกลุ่มเป้าหมาย
เริ่มต้นด้วย “รูปแบบของสื่อที่ต้องการนำเสนอ” ปัจจุบันการใช้งานโซเชียลมีเดียมีรูปแบบการใช้งานที่หลากหลายและมีจุดเด่นในการนำเสนอที่แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย วีดีโอ บทความ และข้อความ โดยโซเชียลมีเดียที่สามารถตอบสนองต้องการในการใช้งานอย่างครบถ้วนทั้ง 4 รูปแบบคือ Facebook และ Google+ แต่หากในการทำธุรกิจมีรูปแบบในการสื่อสารที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจง เช่น การใช้ภาพถ่ายเพียงอย่างเดียวก็ควรเน้นการนำเสนอผ่าน Pinterest และ Instagram เป็นช่องทางหลัก
ต่อมาคือ “จุดประสงค์ในการใช้งาน” โดยจุดประสงค์ของการใช้งานที่ถูกใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการเลือกโซเชียลมีเดียมีรวมกัน 4 ข้อ คือ 1.ต้องการเชื่อมโยงกับ SEO 2.เพิ่ม Traffic บนเว็บไซต์ 3.เพิ่มชื่อเสียงของแบรนด์ 4.เพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค
ผลการสำรวจพบว่า Facebook, Twitter, Google+ และ Youtube เป็นโซเชียลมีเดียที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการในการใช้งานทั้ง 4 ข้อได้อย่างตรงจุด แต่ดูเหมือนว่าโซเชียลมีเดียทั้ง 4 ก็ยังคงไม่สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากการใช้งาน Facebook และ Twitter ยังมีข้อจำกัดในเรื่องการเชื่อมโยงกับ SEO ที่อยู่ในระดับปานกลางเท่านั้น รวมไปถึง Google+ และ Youtube ก็มีข้อจำกัดในเรื่องการเพิ่ม Traffic บนเว็บไซต์ที่อยู่ในระดับปานกลางเช่นเดียวกัน
ปิดท้ายด้วย “กลุ่มเป้าหมาย” การใช้กลุ่มเป้าหมายในการเลือกโซเชียลมีเดียนี้ สามารถแบ่งได้โดยใช้เกณฑ์พื้นฐานในการตัดสินอย่างอายุ เพศ การศึกษาและรายได้ แต่ที่มักพบเห็นกันส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญในเรื่องของอายุและเพศของผู้บริโภคเป็นหลัก โดยโซเชียลมีเดียแต่ละรูปแบบก็เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายซึ่งมีวัยที่แตกต่างกันอย่าง Google+ เหมาะสมสำหรับการใช้งานที่มีกลุ่มเป้าหมายที่ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น (อายุต่ำกว่า 24ปี) ในขณะที่ Facebook และ Linkedin เหมาะสมกับการใช้งานที่มีกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ที่เป็นผู้สูงอายุ (อายุ 45ปีขึ้นไป)
และหลังจากเลือกโซเชียลมีเดียที่เหมาะสมในการทำธุรกิจได้แล้ว สิ่งสำคัญต่อมาก็คือ การปรับทักษะของผู้ใช้งานให้เหมาะสมกับการใช้งานโซเชียลมีเดียแต่ละรูปแบบ โดยทักษะสำคัญที่ช่วยเสริมให้การทำงานโซเชียลมีเดียมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นประกอบด้วย ทักษะด้านการเขียน ออกแบบ ถ่ายวีดีโอ และถ่ายภาพ ซึ่งโซเชียลมีเดียในแต่ละรูปแบบก็ต้องอาศัยทักษะในการใช้งานที่แตกต่างกัน เช่น ในการใช้งาน Facebook ให้มีประสิทธิภาพต้องอาศัยทักษะในด้านการเขียนและการถ่ายภาพเป็นหลัก
ที่มา: Visual.ly