สำนักงาน กสทช. กำหนดเชิญผู้ประกอบการทีวิดีจิตอล สมาคมทีวีดิจิทัล ผู้จัดทำเรตติ้งในประเทศไทย เจ้าของผลิตภัณฑ์ผู้ซื้อสื่อรายใหญ่ มีเดียเอเจนซี่รายใหญ่ ผู้ผลิตคอนเทนต์ ประชุมรับฟังแนวทางและวิธีการจัดทำเรตติ้ง เพื่อหารือแนวทางการสำรวจเรตติ้ง พร้อมเสนอความเห็น ข้อดี ข้อเสีย เพื่อเป็นแนวทางในกำกับดูแลเรื่องเรตติ้งในประเทศไทย
ก่อนหน้านี้ (24 ก.ค. 62) ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่าวันที่ 25 ก.ค. 62 นี้ สำนักงาน กสทช. กำหนดเชิญ
- ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทุกช่อง
- สมาคมทีวีดิจิทัลแห่งประเทศไทย
- กลุ่มเจ้าของผลิตภัณฑ์ผู้ซื้อสื่อรายใหญ่ เช่น บริษัท ยูนิลีเวอร์ไทยโฮลดิ้ง จำกัด, บริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด, บริษัท ลอริอัล (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท โคคา โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด, บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด เป็นต้น
- กลุ่มผู้ผลิตเนื้อหารายการรายใหญ่
- สื่อมวลชน
มาร่วมประชุมรับฟังแนวทางและวิธีการสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์ (เรตติ้ง) พร้อมทั้ง หารือ ซักถาม ถกถึงข้อดี-ข้อเสีย และข้อเสนอแนะ ในการจัดทำเรตติ้ง ทั้งนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการกำกับดูแลเรื่องเรตติ้งในประเทศไทย และแนวทางในการสนับสนุนการจัดตั้งองค์กรกลางเกี่ยวกับการสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมโทรทัศน์ดิจิตอล ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2562 ข้อ 14 ของ สำนักงาน กสทช.
โดย กสทช. ได้เชิญผู้จัดทำเรตติ้งในประเทศไทย อันได้แก่ สมาคมวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ (ประเทศไทย) หรือ MRDA, บริษัท เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Nielsen ประเทศไทย และบริษัท พีเอสไอ บรอดคาสติ้ง จำกัด หรือ PSI มาเสนอระบบเรตติ้ง เพื่อประกอบการพิจารณาของสมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ที่ต้องเลือกบริษัทที่ทำด้านระบบเรตติ้งต่อไป
PSI ชูระบบเรตติ้งที่ติดตามจากกล่อง S3 Hybrid ที่ขายไป
ส่วนบริษัท PSI ผู้ประกอบการระบบทีวีดาวเทียมรายใหญ่ เล่าว่าในอดีต PSI ใช้การวัดเรตติ้งผ่านกล่อง Rating box ซึ่งใส่ซิมของ AIS ไว้เพื่อให้ส่งข้อมูลผู้ชมกลุ่มตัวอย่างมายังบริษัทได้ แต่ก็พบปัญหาหลังมีจำนวนช่องทีวีดิจิทัลมากขึ้น
ต่อมาในปี 2017 ได้พัฒนาระบบวัดเรตติ้งทีวีใหม่ทั้งหมดใช้ชื่อว่า ‘PSI Rating’ ชูจุดขายระบบคือ มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ การวัดเรตติ้งนั้นวัดจากผู้ชมทีวีผ่านกล่อง S3 Hybrid และทำใช้ผู้ชมสามารถกดเปลี่ยนช่องได้จากแอปพลิเคชัน S3 Hybrid Controller บนมือถือ
ซึ่งแอปดังกล่าวจะเป็นช่องทางในการเก็บข้อมูลผู้ชมได้แบบโดยตรง เพราะมาจากผู้ใช้กล่องทีวีของ PSI จริงๆ และหากผู้ใช้ไม่ยินยอมให้เก็บข้อมูล ก็สามารถยกเลิกการส่งข้อมูลให้กับ PSI ได้ และอาจจะนำมาประยุกต์ใช้ในการแจ้งภัยพิบัติผ่านหน้าจอในอนาคต
ส่วนในฝั่งของระบบหลังบ้านที่ดูเรตติ้งทีวี PSI โชว์ให้เห็นว่าระบบมีความ Real-time มาก อัพเดทข้อมูลทุก 15 นาที ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในช่วงต่างเวลาของหนึ่งช่อง รวมถึงเปรียบเทียบเรตติ้งของหลายๆ ช่องให้เห็นได้ทันที ผ่านแอปที่ดาวน์โหลดจากทั้ง iOS และ Android
หลังการนำเสนอ ตัวแทนเอเจนซี่ได้สอบถามว่ามีระบบวัดสำหรับโฆษณา (Commercial rating) ด้วยหรือไม่ ทาง PSI ระบุว่าบริษัทจะพัฒนาระบบสมาชิกบนแอปรีโมทให้ใส่ข้อมูลรายได้ในอนาคต และยืนยันว่าบริษัทมีความตั้งใจพัฒนาระบบเรตติ้งทีวีเพื่อพัฒนาให้อุตสาหกรรมในภาพรวมดีขึ้น
Nielsen คาดเรตติ้งทีวีและดิจิทัลต้องหลอมรวมกัน
ส่วนตัวแทนของ Nielsen (นีลเซ็น) ประเทศไทย ระบุว่าสิ่งที่ต้องคำนึงในการเลือกผู้วัดเรตติ้ง ประกอบด้วย ตรวจวัดครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ ทุกแพลตฟอร์มทั้งทีวีและออนไลน์, มีความเชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์และให้คำปรึกษาด้านยการทำเรตติ้ง, เป็นองค์กรที่ได้รับยอมรับในสากล
Nielsen ยืนยันว่าระบบการวัดเรตติ้งทีวีทั่วโลกพัฒนาตามมาตรฐาน Global Guideline for TV Audience Measurement (GGTAM) ที่พัฒนาโดย Audience Research Methods (ARM) Group
โดย ระบบเรตติ้งที่ Nielsen มีกำลังใช้อยู่ในไทย ได้แก่
- TAM (Television Ratings) – การวัดเรตติ้งรายการและโฆษณาบนทีวี
- DAR (Digtal Ad Ratings) – การวัดเรตติ้งแคมเปญโฆษณาออนไลน์ที่แสดงบนคอมพิวเตอร์ มือถือ แท็บเล็ต ทั้งบนเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน
- TAR (Total Ad Ratings) – การวัดเรตติ้งโฆษณาออนไลน์-ออฟไลน์ แบบมัลติสกรีน (ทั้งทีวี คอมพิวเตอร์ มือถือ แท็บเล็ต ทั้งบนเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน)
- DCR (Digital Content Ratings) – การวัดเรตติ้งรายการออนไลน์ รวมถึงการรับชมสดและย้อนหลังผ่านคอมพิวเตอร์ มือถือ แท็บเล็ต ทั้งบนเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน
ส่วนระบบเรตติ้งที่ Nielsen นำมาเสนอในที่ประชุม คือ TCR หรือ Total Content Ratings ซึ่งเป็นการวัดเรตติ้งรายการทั้งบนออนไลน์-ออฟไลน์แบบมัลติสกรีน ซึ่งจะรวมการรับชมสดและดูย้อนหลังบนทีวี คอมพิวเตอร์ มือถือ แท็บเล็ต ทั้งบนเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน
ซึ่งวิธีการวัดเรตติ้งรูปแบบใหม่จะเป็น Census Measurement ซึ่งเป็นนำระบบเดิมอย่าง TAM ที่วัดเรตติ้งทีวีจาก 10,000 ตัวอย่าง ผสานเข้ากับระบบที่ Nielsen พัฒนาใหม่เพื่อให้วัดเรตติ้งจากทุกคนที่อยู่ในระบบออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นดูสด ดูย้อนหลัง หรือดูผ่าน OTT
และพยายามตรวจสอบว่าคนดูทีวีและผ่านแพลตฟอร์มอื่นหรือไม่ ถ้าหนึ่งคนดูหลายแพลตฟอร์มก็จะนับเป็นหนึ่งคนเท่านั้น ไม่นับคนซ้ำ
Nielsen ระบุว่าจะพัฒนา SDK หรือเครื่องมือที่เปิดให้ผู้พัฒนาแอปของ OTT เอาตัววัดเรตติ้งออนไลน์ไปใส่ไว้ในแอปหรือเว็บได้ โดยระบบดังกล่าวเริ่มมีการใช้ในประเทศโปแลนด์และฮ่องกงไปบ้างแล้ว
นอกจากนี้ Nielsen ยังระบุว่าทางองค์กรขายความเป็นมืออาชีพ ซึ่งถ้าไม่มี กสทช. ทาง Nielsen ระบุว่าพร้อมจะลงทุนระบบ TCR หรือ Total Content Ratings เองไปก่อนแล้ว
แต่เมื่อมี กสทช. ก็ต้องฟังเสียงอุตสาหกรรมทีวีภาพรวม และเชื่อว่าถ้าได้เงินสนับสนุน Nielsen ก็จะช่วยให้อุตสาหกรรมภาพรวม โดยเฉพาะในฝั่งเอเจนซี่และทีวีดิจิทัลที่จะไม่ต้องแบกรับภาระการจ่ายค่าระบบทีวีเรตติ้งอีกด้วย
MRDA ระบุระบบเรตติ้งต้องมาจากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร
ส่วนสมาคมวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ (ประเทศไทย) หรือ MRDA ชูจุดเด่นว่าองค์กรของตนเป็นองค์กรไม่แสวงกำไร จึงมีความโปร่งใส่ และทำงานกับหลายภาคส่วนเพื่อให้เกิดองค์กรนี้ขึ้น ส่วนระบบเรตติ้งทีวีออกมาใช้ชื่อว่า Multi-Screen Audience Measurement จะเป็นการวัดจากหลายๆ หน้าจอทั้งทีวีและดิจิทัลโดยเก็บข้อมูลจาก 3,000 ตัวอย่าง
โดยเน้นย้ำเรื่องของความโปร่งใสที่จะมีการตรวจสอบทุกขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มกระบวนการทำโครงการไปจนถึงปลายทางของโครงการ และได้รับการรับรองจากสมาคมมีเดียเอเจนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) มาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
พร้อมกับมี Partnership กับหลายบริษัทในการทำระบบนี้ ทั้ง Kantar, Intage Group, Mediametrie, Markdata และ CESP
ข้อมูลที่ได้จะมีทั้ง TV Rating, Other Screens Ratings (ซึ่งไม่ใช่การนับตามอุปกรณ์), Multiscreen Ratings, In-home & Out-of-home Ratings
ส่วนสิทธิประโยชน์ที่ MRDA เสนอให้กับแต่ละฝ่าย คือ กสทช. จะได้ใช้ข้อมูลแบบฟรีๆ ในช่วง 5 ปีแรก (หลังจากนั้นจะคิดเงินแบบอัตราก้าวหน้าที่ไม่สูงมาก) ส่วนทีวีสาธารณะ (ช่อง 5, NBT, ThaiPBS และโทรทัศน์รัฐสภา) จะลดราคาให้ 50 เปอร์เซ็นต์จากราคาปกติ และจะเปิดให้หน่วยงานภาครัฐอื่นๆ เข้ามาใช้ข้อมูลได้ ราคาที่เปิดใช้เอกชนใช้บริการก็จะเป็นราคาที่สมเหตุสมผล
ซึ่งกระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาในการ setup ระบบเรตติ้งทีวี ประมาณ 12-15 เดือน โดยจะเริ่มได้ข้อมูลที่ใช้ได้จริงในวันที่ 1 ม.ค. 64
นอกจากนี้ยังระบุว่า จะทำระบบ Face Recognition Measurement เพื่อวัดเรตติ้งจากผู้ใช้ที่อยู่หน้า Smart TV ที่มีกล้องจริงๆ เพื่อเป็นการยืนยันตัวตนว่าผู้ชมอยู่หน้าจอทีวีจริงๆ และมีใครอยู่หน้าจอบ้าง เพราะปกติระบบเรตติ้งทีวีจะนับว่าเปิดทีวีหนึ่งเครื่องเท่ากับดูอยู่หนึ่งคน
เอเจนซี่รอระบบวัดเรตติ้งที่ถูกต้อง เหตุใช้มากสุด
ด้าน ไตรลุจน์ นวะมะรัตน นายกสมาคมมีเดียเอเจนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) ระบุว่าหลังจากการประชุมพบว่าแต่ละภาคส่วนมีความเข้าใจมากขึ้น และมองว่าเอเจนซี่มีความต้องการใช้ตัวเลขที่มีความถูกต้อง ตามความเป็นจริง ถึงทำให้เกิดการ Pitching ระบบเรตติ้งในครั้งนี้ขึ้นมา โดยดำเนินการมาเป็นเวลานานถึง 4-5 ปีแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่จบสักที
“ถึงแม้ว่าจริงๆ แล้ว มันก็ไม่มีใครเหลือแล้ว ก็มีแต่ MRDA นี่แหละที่มาทำเรื่องนี้ แต่ Nielsen เขาก็ขึ้นเป็นผู้ให้บริการปัจจุบัน เขาก็ยังอยากทำต่อ เพราะฉะนั้นก็เลยเกิดการแข่งขันเกิดขึ้น แต่ผมคิดว่าในที่สุดแล้ว มันควรจะยึดพื้นฐานจากคนที่ใช้เป็นหลัก คนที่ใช้มากที่สุดก็คือเอเจนซี่” ไตรลุจน์ กล่าว